ยูเอซีรุกลงทุน CLMV แก้เกมรัฐชะลอซื้อไฟ

21 ก.ค. 2561 | 05:45 น.
“ยูเอซี” เร่งสรุปดีลลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนในเมียนมา-สปป.ลาว-เวียดนามภายในปลายปีนี้ หลังธุรกิจพลังงานในประเทศชะงักจากนโยบายรัฐ จี้กระทรวงพลังงานงัดมาตรการกระตุ้นลงทุนโรงงาน BHD ลดการนำเข้า

นายชัชพล ประสพโชค กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) หรือ UAC เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า บริษัทอยู่ระหว่างเจรจาร่วมทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนในกลุ่มประเทศ CLMV คาดว่าจะสรุปโครงการลงทุนโรงไฟฟ้าไฮบริด คือพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์ฟาร์ม) และโรงไฟฟ้าชีวมวล (ไบโอแมส) กำลังการผลิตรวม 10-20 เมกะวัตต์ ในเมียนมาได้เร็วๆนี้

ส่วนในเวียดนาม และสปป.ลาว ได้ศึกษาไว้หลายโครงการ ทั้ง พลังงานลม โซลาร์ฟาร์ม และก๊าซชีวภาพ (ไบโอแก๊ส) คาดว่าภายในปลายปีนี้ จะได้เห็นความชัดเจนในการเข้าลงทุนในต่างประเทศอย่างน้อย 1 โครงการ เนื่องจากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา บริษัทยังไม่ได้มีการลงทุนโครงการใหม่ในประเทศ เนื่องจากนโยบายของภาครัฐไม่เปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนมากนัก UAC

ส่วนกรณีการส่งเสริมใช้ไบโอดีเซล ที่นำมาใช้ในรถบรรทุกนั้น เป็นเพียงเฉพาะกลุ่ม ช่วยปาล์มนํ้ามัน (ซีพีโอ) ที่ล้นตลาดได้บางส่วนเท่านั้น หากกระทรวงพลังงานจะส่งเสริมให้ครอบคลุมรถยนต์ดีเซลทั้งหมด น่าจะมีการส่งเสริมการลงทุนโรงงานผลิตนํ้ามันดีเซลชีวภาพสังเคราะห์(Bio-Hydrogenated Diesel หรือ BHD) เนื่องจากเป็นที่ยอมรับของค่ายรถยนต์ รวมทั้งปัจจุบันไทยยังต้องนำเข้า BHD เพื่อมาผสมในเนื้อนํ้ามันดีเซล (ดีเซลพรีเมียม) ซึ่งบริษัทได้มีการหารือกับทางบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในฐานะพันธมิตรบริษัท บางจากไบโอฟูเอล จำกัด ที่ปัจจุบันมีกำลังการผลิตไบโอดีเซลบี100 อยู่ที่ 8.1 แสนลิตรต่อวัน รวมทั้งทางบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ก็สนใจลงทุนเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การลงทุนโรงงาน BHD จำเป็นต้องได้รับการส่งเสริมจากทางภาครัฐ เพราะแม้ว่าจะใช้วัตถุดิบการผลิตนํ้ามันบี100 เหมือนกัน แต่เทคโนโลยีต่างกัน จึงต้องใช้เงินลงทุนสูงกว่า 3 เท่า ดังนั้น หากภาครัฐต้องการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนดังกล่าว ควรมีมาตรการส่งเสริมออกมา รวมถึงต้องกำหนดอยู่ในแผน
พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (เออีดีพี) ที่กำลังปรับปรุงใหม่ด้วย

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับ 3,383 วันที่ 15-18 กรกฎาคม 2561