ทางออกนอกตำรา : ฮือฮา ‘ยักษ์ชนยักษ์’ ชิงเค้กไฮสปีด 2.24 แสนล้าน

10 ก.ค. 2561 | 12:20 น.
56526959 แทบไม่น่าเชื่อว่าการประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน “ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา” วงเงิน 2.24 แสนล้านบาท จะมีเอกชนที่ล้วนแล้วแต่เป็นยักษ์ใหญ่ในประเทศและต่างประเทศ จะแห่ซื้อซองเอกสารการคัดเลือกเอกชนมาดำเนินโครงการสูงลิ่วถึง 31 ราย

ผมสอบถามผู้รับเหมาไทยหลายราย ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า “นี่ถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการรับเหมาสัมปทานงานรัฐของไทย”

ผมไปสอบทานออกมาก็พบว่า การประมูลสัมปทานโครงการของรัฐไทย ที่เคยมีผู้ประมูลมากรายที่สุดที่ผ่านมาก็คือ การประมูลช่องทีวีดิจิตอล 24 ช่อง ในครั้งนั้นมีผู้เข้าร่วมประมูล 29 บริษัท ช่องรายการประเภทวาไรตีความคมชัดมาตรฐาน ได้รับความสนใจจะเข้าประมูลมากที่สุดถึง 16 บริษัท
1-27 มี 5 บริษัท ยื่นเอกสารเพื่อต้องการประมูลสูงสุดบริษัทละ 3 ช่อง คือ ช่อง 3, ทีวีพูล, ช่อง 9, กลุ่มเนชั่น และ กลุ่มทรู คอร์ปอเรชั่น มีอีก 9 บริษัท ที่ร่วมประมูล 2 ช่อง ได้แก่ วอยซ์ ทีวี, กลุ่มเวิร์คพอยท์, กลุ่มน.พ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ, ช่อง 7, กลุ่มอมรินทร์, แกรมมี่, กลุ่มมหากิจศิริ, กลุ่มโมโนฯ และ ไทยรัฐ

ส่วนอีก 8 บริษัท ยื่นเอกสารร่วมประมูล 1 ช่อง ได้แก่ โรสมีเดีย, กลุ่มอินทัช, อาร์เอส, เดลินิวส์, 3เอมาร์เก็ตติ้ง, สยามกีฬา, โพสต์ทีวี และสปริงนิวส์

ครั้งนี้ถือว่ามีการประมูลมากรายที่สุด คึกคักที่สุดของไทย โดยเมื่อไปตรวจสอบรายชื่อเอกชนที่ซื้อซองเอกสารการประมูลในวันสุดท้ายคือวันที่ 9 กรกฎาคม 2561 พบว่า เป็นเอกชนจากประเทศไทย 14 ราย ประกอบด้วย

1.บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) 2.บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด 3.บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) 4.บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)
S__6463491 5.บริษัท เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ จำกัด 6.บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) 7.บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

8.บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) 9.บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) 10.บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) 11.บริษัท เทอดดำริ จำกัด

12.บริษัท เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) 13.บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) 14.บริษัท แอล เอ็มที สโตน จำกัด

เป็นเอกชนจากสาธารณรัฐประชาชนจีนถึง 7 ราย ประกอบด้วย

1.Sinohydra Corporation Limited 2.China Railway Construction Corporation Limited
3.China Railway Group Limited 4.China Communications Construction Company Limited 5.China Resources (Holdings) Company Limited
6. CITIC Group Corporation 7.China State Construction Engineering Corporation Limited

เป็นกลุ่มบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่จากประเทศญี่ปุ่น 4 ราย ประกอบด้วย

1. ITOCHU Corporation
2. บริษัท ฟูจิตะ คอร์ปอเรชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด
3. บริษัท ฮิตาชิ เอเซีย (ประเทศไทย) จำกัด
4. Japan Overseas Infrastructure Investment Corporation for Transport & Urban Development

เป็นเอกชนจากประเทศมาเลเซียเพื่อนบ้านเรือนเคียงที่มาสนใจชิงเค้กก้อนนี้ 2 ราย ประกอบด้วย

1. Wannasser International Green Hub Berhad

2. MRCB Builders SDN BHD

เป็นบริษัทเอกชนจากประเทศฝรั่งเศส 2 ราย ประกอบด้วย 1.Transdev Group 2.SNCF International
เป็นบริษัทจากประเทศอิตาลี 1 ราย คือ บริษัท Salini Impregio S.p.A.

สุดท้ายเป็นบริษัทเอกชนจากประเทศเกาหลีใต้ 1 ราย คือ Korea-Thai High-speed Railroad Consortium Inc.
HighSpeedRail_Info ท่านสงสัยเหมือนกับผมหรือไม่ครับว่า ทำไมจึงมีผู้สนใจโครงการนี้ที่มีมูลค่าการลงทุนรวม 2.24 แสนล้านบาทในรูปแบบร่วมลงทุน PPP Net Cost อายุสัมปทาน 50 ปี ครบสัญญาทรัพย์สินจะตกเป็นของรัฐบาลจำนวนมากมหาศาลขนาดนี้ หรือว่าเข้ามาซื้อซองแล้วเหลือผู้ประมูลจริงไม่กี่ราย

ผมขอสาธยายรายละเอียดให้ฟังก่อนจะพาไปพินิจพิจารณาว่าทำไมใคร ๆ จึงสนใจเค้กก้อนนี้ การประมูลรถไฟเชื่อม 3 สนามบินแบบไร้รอยต่อทอเต็มผืนจะเปิดให้เอกชนยื่น 4 ซอง 1. ด้านคุณสมบัติ 2.ด้านเทคนิค 3.ด้านการเงิน ซึ่งจะกำหนดเกณฑ์คะแนน ซองที่ 4 เป็นข้อเสนอพิเศษ จะเป็นการแนะนำที่จะก่อประโยชน์ให้โครงการรัฐและประชาชน แต่ไม่มีการให้คะแนน

ว่ากันว่า โครงการนี้มีตัวแปรหลักในการคัดเลือกคือ ข้อเสนอของเอกชนที่จะเสนอให้รัฐเป็นผู้ร่วมลงทุน ซึ่งกำหนดวงเงินในกรอบไว้ไม่เกิน 1.2 แสนล้านบาท หากรายใดเสนอตํ่าสุดจะเป็นผู้ได้รับคัดเลือก

โครงการนี้มีการลงทุนที่หลายลักษณะ ประกอบด้วย 1.ค่าลงทุนรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน 168,718 ล้านบาท 2.ค่าลงทุนแอร์พอร์ตเรลลิงค์ ในส่วนค่าระบบอาณัติสัญญาณและล้อเลื่อน 10,671.09 ล้านบาท โดยรัฐบาลไทยจะรับภาระโครงสร้างพื้นฐานแอร์พอร์ตเรลลิงค์ 22,558 ล้านบาท

3.ค่าพัฒนาที่ดิน (TOD) การพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟ บริเวณสถานีมักกะสัน 150 ไร่ และสถานีศรีราชา 25 ไร่อีกประมาณ 45,155.27 ล้านบาท

TP12-3341-1B มีการเล็งผลเลิศกันว่า โครงการนี้จะสร้างมูลค่าผลตอบแทนทางเศรษฐกิจได้สูงถึง 7 แสนล้านบาท

เขาว่ากันว่า สิ่งหนึ่งที่ทำให้มีผู้สนใจมากรายคือโครงการนี้จะมีเงื่อนไขพิเศษ คือ เปิดประมูลแบบอินเตอร์เนชั่นแนล (นานาชาติ) และเป็นโครงการที่อยู่ในเขตส่งเสริมพิเศษของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดโอกาสให้ต่างชาติมีสัดส่วนในการถือหุ้นเข้ามาบริหารจัดการได้เกินกว่า 51% จึงเป็นที่สนใจของทุนยักษ์ต่างชาติจำนวนมาก

นอกจากนี้ เงื่อนไขที่เปิดกว้างให้เอกชนที่ชนะการประมูลมีสิทธิ์ในการพัฒนาพื้นที่ตลอดรายทางสถานีรถไฟฟ้า 3 สนามบิน รวมถึงพื้นที่มักกะสัน เดโปที่ฉะเชิงเทรา พื้นที่ศรีราชา พื้นที่พัทยา กลายเป็นเค้กล่อตานักลงทุนให้สนใจกับการพัฒนาตลอดสัมปทาน

เขาว่านี้คือเค้กก้อนโตที่สร้างราคาให้ผู้รับเหมาที่ชนะการประมูลได้

แต่ใครจะๆ ได้เค้กก้อนนี้ไป ใช่ยักษ์ใหญ่จากจีน-ซีพี ดังคำรํ่าลือหรือไม่น่าสนใจมาก เพราะสนามสัมปทานรอบนี้กลายเป็นยักษ์ชนยักษ์ไปแล้ว...

ญี่ปุ่นคงไม่ปล่อยให้จีนคว้าเค้กก้อนนี้ไปง่ายๆ ฝรั่งเศสคงไม่ปล่อยมือแน่ๆ ขณะที่ยักษ์ใหญ่เมืองไทยนั้นคงสู้กันยิบตาแน่นอน น่าลุ้น น่าศึกษาอย่างยิ่งครับ

| คอลัมน์ : ทางออกนอกตำรา
| โดย : บากบั่น บุญเลิศ
| หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3382 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 12-14 ก.ค.2561
e-book-1-503x62-7


[caption id="attachment_296890" align="aligncenter" width="503"] “อีอีซี” ปลื้มไฮสปีดเทรน 31 เอกชนรุมซื้อซอง ส่งผลดีต่อประมูล เมกะโปรเจ็กต์รอบต่อไป “อีอีซี” ปลื้มไฮสปีดเทรน 31 เอกชนรุมซื้อซอง ส่งผลดีต่อประมูล เมกะโปรเจ็กต์รอบต่อไป[/caption]

[caption id="attachment_296889" align="aligncenter" width="503"] ประวัติศาสตร์รับเหมาไทย! "31 ขาใหญ่" โดดชิงเค้กรถไฟฟ้า 3 สนามบิน ประวัติศาสตร์รับเหมาไทย! "31 ขาใหญ่" โดดชิงเค้กรถไฟฟ้า 3 สนามบิน[/caption]