‘ธุรกิจร้านอาหาร’ แข่งเดือด ดีลิเวอรี-ไดรฟ์ธรู-แฟรนไชส์ ปลุกยอดขายคึกคัก

21 ส.ค. 2561 | 05:32 น.
ชี้เทรนด์ดีลิเวอรีสุดแรงดันธุรกิจร้านอาหารแข่งเดือด “เบอร์เกอร์คิง” เร่งเปิดเกมรับ เสริมทัพบริการ พร้อมสยายปีก 15 แห่งรวด หวังโกยยอดสิ้นปีโต 30% ขณะที่ “เซ็น กรุ๊ป” ไม่น้อยหน้า ชูไม้เด็ดส่ง 13 แบรนด์ในเครือสยายปีกแฟรนไชส์ทั้งไทย-เทศ ดันรายได้ทะลุ 1 หมื่นล้านบาทในปี 2565

นายประพัฒน์ เสียงจันทร์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เบอร์เกอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ภาพรวมของบริษัทในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมามีการเติบโตที่ 30% ตามเป้าหมาย โดยปัจจัยหลักที่ผลักดันบริษัทมีการเติบโตตามเป้าหมายที่วางไว้ในปีนี้คือในส่วนของการขยายสาขาต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา และการเติบโตของในส่วนดีลิเวอรีที่มีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากในการผลักดันยอดขาย โดยในช่วงมิถุนายนที่ผ่านมา ส่วนของการบริการดีลิเวอรีมีการเติบโตเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึง 2 เท่า และแน่นอนว่าเทรนด์ของธุรกิจอาหารนับจากนี้มีเรื่องของการบริการแบบดีลิเวอรีมาเป็นปัจจัยหลักในการไดรฟ์ตลาดให้เติบโตได้ดี ซึ่งแน่นอนว่าแผนงานของบริษัทนับจากนี้จะโฟกัสในส่วนของดีลิเวอรีเพิ่มเติมด้วย หลังจากช่วงที่ผ่านมาได้มีการรวมการบริการดีลิเวอรีมาไว้ที่เบอร์ 1112 เช่นเดียวกับแบรนด์ร้านอาหารในเครือฯอื่นๆ ควบคู่กับการผนึกพาร์ตเนอร์อย่าง Food panda ในการให้บริการอีกด้วย

[caption id="attachment_296600" align="aligncenter" width="335"] ประพัฒน์ เสียงจันทร์ ประพัฒน์ เสียงจันทร์[/caption]

“ตลอด 3 ปีที่ผ่านมาเราโฟกัสการขยายสาขาในรูปแบบไดรฟ์ธรูมาโดยตลอด เนื่องจากมองเห็นศักยภาพทางการเติบโต โอกาสทางการขายที่มีมากกว่า ขณะเดียวกันยังมีการโพสิชันภาพลักษณ์แบรนด์สู่ความเป็นมีเลิฟเวอร์ที่ชัดเจนขึ้น โดยมีปล่อยภาพยนตร์โฆษณาออกมาเป็นครั้งแรกเมื่อกันยายนปีก่อน หลังจากทำตลาดในประเทศไทยมากว่า 18 ปี เพื่อสื่อสารภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้ชัดเจนมากขึ้นหลังจากช่วงที่ผ่านมาบริษัทพยายามหาโพสิชันของแบรนด์ในการทำตลาดให้ชัดเจน”

ขณะที่แผนงานในช่วงครึ่งปีหลังนับจากนี้บริษัทจะขยายสาขาเพิ่มอีก 15 แห่งเท่าปีที่ผ่านมาโดยจะให้ความสำคัญกับการขยายสาขาในรูปแบบไดรฟ์ธรูเป็นหลักแบ่งเป็นสาขาในปั๊มนํ้ามัน(ไดรฟ์ธรู) 10 แห่ง และสาขาในย่านท่องเที่ยว, ห้างสรรพสินค้า 5 แห่งในรูปแบบไดรฟ์ธรู โดยใช้งบลงทุน 25 ล้านบาทต่อสาขา บนพื้นที่ 1 ไร่ หรือ 625 ตร.ม. จากปัจจุบันที่มีจำนวนสาขาทั้งสิ้น 86 แห่งทั่วประเทศ โดยแบ่งเป็นสาขาในกรุงเทพ 45 แห่ง ต่างจังหวัด 27 แห่งและสาขาในสนามบินกว่า 14 แห่ง

“นอกจากรูปแบบสาขาที่มีอยู่ บริษัทยังมองหาทำเลใหม่ๆในการขยายเข้าไป ไม่ว่าจะเป็นย่านอาคารสำนักงาน โรงพยาบาล แต่เบื้องต้นคงต้องมีการศึกษาโมเดลและรูปแบบของการทำตลาดอีกครั้ง ขณะที่สาขาในสนามบินวางเป้าหมายขยายให้ครบ 20 สาขาในปี 2562”

พร้อมกันนี้ยังมีการเพิ่มโปรโมชันส่งเสริมการขายตลอดทั้งปี กับเมนูอาหารแต่ละหมวดทั้งไอศกรีม เบอร์เกอร์ และเมนูอื่นๆ พร้อมกับเปิดตัวเมนูเพิเศษเฉพาะช่วงเวลา 6 รายการต่อปี ออกมารองรับความต้องการของตลาด ล่าสุดได้เปิดตัวเมนูพิเศษเฉพาะช่วงเวลา อย่าง แองกัสเอ็กซ์ที สเต็กเฮาส์” ในราคาชิ้นละ 229 บาท หรือชุดละ 289 บาท และเมนู “แองกัสเอ็กซ์ที แบล็คทรัฟเฟิล ในราคาชิ้นละ 279 บาท หรือชุดละ 329 บาท ออกมารุกตลาดพรีเมียม อีกทั้งยังเป็นการสร้างสีสันรองรับความต้องการของตลาด โดยวางเป้าหมายการเติบโตตลอดทั้งปีไว้ที่ 30% ผู้บริหารร้าน “เบอร์เกอร์คิง” กล่าว

[caption id="attachment_307692" align="aligncenter" width="503"] ธันยเชษฐ์ เอกเวชวิท ธันยเชษฐ์ เอกเวชวิท[/caption]

ด้านนายธันยเชษฐ์ เอกเวชวิท รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจแบรนด์และแฟรนไชส์ บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า บริษัทมีความพร้อมในการเดินหน้ารุกธุรกิจอาหารทั้งในไทยและต่างประเทศเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ โดยมีกลยุทธ์หลักในการทำตลาด 4 ปัจจัยหลักได้แก่ 1.การเสริมสร้างประสบการณ์บริโภคที่ดีที่สุดจากบริการที่ได้มาตรฐานและนวัตกรรมลํ้าสมัย 2.การขยายเครือข่ายธุรกิจผ่านการสร้างสรรค์แบรนด์ใหม่ๆ และบริการที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น บริการการจัดส่งอาหารหรือบริการจัดเลี้ยงนอกสถานที่  3. การยกระดับประสิทธิภาพการผลิตด้วยเทคโนโลยีลํ้าสมัย 4.การพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้เกิดความเชี่ยวชาญ

ขณะที่กลยุทธ์หลักที่จะนำมาต่อยอดการเติบโตของธุรกิจให้เป็นไปตามเป้าหมายอย่างต่อเนื่องนั้น จะมุ่งเน้นขยายเครือข่ายแฟรนไชส์ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ในปี  2562 ควบคู่กับการทำตลาดภายใต้ความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยแนวคิดปรัชญาในการดำเนินธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) อย่างไรก็ตามจากการเดินหน้ารุกตลาดอย่างต่อเนื่อง ผ่านการขยายสาขาในรูปแบบต่างๆบริษัทวางเป้าหมายว่าจะสามารถสร้างยอดขายได้ 1 หมื่นล้านบาทในปี 2565 จากแบรนด์อาหารญี่ปุ่นและอาหารไทยในเครือทั้งหมด 13 แบรนด์ แบ่งเป็น แบรนด์อาหารญี่ปุ่น 6 แบรนด์ อาทิ Zen Restaurant (ร้านอาหารญี่ปุ่นเซ็น) MUSHA (มุฉะ) AKA (อากะ) On the Table, Tokyo Cafe, (ออน เดอะ เทเบิ้ล โตเกียว คาเฟ่) Tetsu (เท็ตสึ) Sushi Cyu & Carnival Yakiniku (ซูชิชู แอนด์ คาร์นิวัล ยากินิกุ) และแบรนด์อาหารไทย 7 แบรนด์ ได้แก่ ตำมั่ว ลาวญวน แจ่วฮ้อน เฝอ ข้าวมันไก่คุณย่า ครัวไทย และเดอตำมั่ว

……………….……………….……………….

หน้า 34 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,382 วันที่ 12-14 ก.ค. 2561 e-book-1-503x62-7