ส่องความสำเร็จ บริษัทท่าเรือ PTP มาเลเซีย

09 ก.ค. 2561 | 12:46 น.
 

562265656 “ฐานเศรษฐกิจ” มีโอกาสร่วมเดินทางไปศึกษาดูงานกับ สมาคมคลองไทยเพื่อการศึกษาและพัฒนา สมาคมชาวปักษ์ใต้ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย นำโดย พล.อ. พงษ์เทพ เทศประทีป นายกสมาคมคลองไทย พล.ต.อ. สุนทร ซ้ายขวัญ นายกสมาคมชาวปักษ์ใต้ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมคณะหลายสิบชีวิต ณ รัฐยะโฮร์บาห์รู ซึ่งอยู่ตอนใต้สุดของประเทศมาเลเซีย มีเขตติดต่อกับประเทศสิงคโปร์

ทริปนี้คณะได้เข้าเยี่ยมชม บริษัทท่าเรือ Pelabuhan Tanjung Pelapas (PTP) ซึ่งให้บริการขนส่งสินค้าทางทะเลระ หว่างประเทศแถวหน้าของมาเลเซีย โดย Mr.Prakash Thurairasasingam หัวหน้าฝ่ายธุรกิจการค้า (Head of Commercial Division) ให้ข้อมูลเบื้องต้นว่า พื้นที่เดิมของที่นี่เป็นที่ตั้งหมู่บ้านชาวประมงเล็กๆ ที่ชื่อ “ดาร์ปาซิดี้” ก่อนจะแปลงสภาพมาเป็นที่ตั้งบริษัท PTP ในปัจจุบัน ซึ่งเกิดจากการร่วมทุนระหว่าง MMC Corporation Berhad (MMC) 70% ถือหุ้นโดยบริษัทเอกชนในมาเลเซีย 69% และรัฐบาล 1% ส่วน 30% นั้น ถือหุ้นโดย A.P.Moller-Maersk Group (APM Terminals) บริษัทข้ามชาติจากประเทศเดนมาร์กที่มีกิจการขนส่งทางทะเลอยู่ทั่วโลก สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์
551896471_b693549af6_b บริษัทท่าเรือ PTP ได้สัมปทานเป็นเวลา 60 ปี (ระหว่างปี 2538-2598) บนพื้นที่ 3,500 เอเคอร์ แบ่งออกเป็น 2 ส่วนสำคัญ คือ ท่าเทียบเรือ (Port Terminals) และท่าเรือปลอดอากร (Free Zone Area) เริ่มก่อสร้างในช่วงเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ได้มีการตั้งคณะกรรมการบริหารท่าเรือปลอดอากร ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐเข้ามากำกับดูแลในปี 2541 ได้ทดลองเปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อปี 2542 ก่อนจะให้บริการเต็มรูปแบบในปี 2543

จากการสืบค้นข้อมูล พบว่า เมื่อปี 2549 ประเทศมาเลเซียได้มีการประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษอิสกันดาร์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่รอบเมืองยะโฮร์บาห์รู ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 9 และฉบับที่ 10 ของประเทศมาเลเซีย เพื่อพัฒนาเป็นระเบียงเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ตามวิสัยทัศน์การยกระดับประเทศเข้าสู่การเป็นประเทศรายได้สูง

และจากการประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าว และทำเลที่ตั้งของรัฐที่มีเขตติดต่อกับสิงคโปร์ ทำให้มีนักธุรกิจชาวมาเลย์ ลงทุนถมทะเลพื้นที่ชายฝั่งของหมู่บ้านชาวประมง ทำให้ได้พื้นที่สำหรับพัฒนาที่ดินจำนวนมากในราคาถูก ดึงดูดนักธุรกิจท้องถิ่นและชาวสิงคโปร์ทยอยเข้ามาลงทุนพัฒนาที่ดินหลายโครงการ ทำให้ช่วงหลายปีที่ผ่านมาพื้นที่โดยรอบมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เกิดกิจกรรมต่างๆ บนพื้นที่แห่งนี้

4232630277_110aaee5f3_b

ปัจจุบันบริษัทท่าเรือ PTP ติดอันดับที่ 19 ของโลก ขณะที่ท่าเรือแหลมฉบังของไทยอยู่ในลำดับที่ 20 โดยปี 2560 บริษัทท่าเรือ PTP สามารถให้บริการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ จำนวน 840 ล้านTEUs (ตู้คอนเทนเนอร์ความยาว 20 ฟุตเท่ากับ 1 TEU) คาดว่าเมื่อสิ้นสุดปี 2561 จะให้บริการได้ถึง 900 ล้านTEUs

ด้วยอัตราการเติบโตของธุรกิจในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปีนี้บริษัททุ่มงบ 1,200 ล้านริงกิต หรือประมาณ 10,800 ล้านบาท (1 ริงกิต = 9 บาท) ขยายร่องนํ้าให้มีความลึก 10-18.5 เมตร และกว้าง 420-600 เมตร พร้อมปรับปรุงอุปกรณ์ให้มีศักยภาพและมีความทันสมัย เน้นการบริหารจัดการการเข้า-ออกของเรือด้วยเทคโนโลยีเพื่อให้เกิดความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น ทั้งยังมีแผนที่จะขยายท่าเทียบเรือจากเดิมที่มีความยาว 5.04 กิโลเมตร เป็น 19.94 กิโล เมตร ซึ่งจะทำให้สามารถขนสินค้าขึ้นลงได้จาก 2 ล้าน TEUs เป็น 52 ล้าน TEUs

ปฏิเสธไม่ได้ว่า บริษัทแห่งนี้มีส่วนสำคัญที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการจ้างงาน และสร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่โดยรอบ การให้ความรู้ความเข้าใจกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จที่เกิดขึ้น ขณะที่รูปแบบความสำเร็จของบริษัทแห่งนี้ อาจถูกนำมาต่อยอด และปรับใช้กับประเทศไทยได้ในอนาคต หากมีคลองไทยเกิดขึ้น

| รายงาน : ส่องความสำเร็จ บริษัทท่าเรือ PTP มาเลเซีย
| โดย : กมลพร ชิระสุวรรณ
| เชกชั่น : การเมือง หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
| หน้า 14 ฉบับ 3380 ระหว่างวันที่ 5-7 ก.ค.2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว