กดค่าไฟต่ำอุ้มประชาชน! เปิดเสรีผลิตโซลาร์ปีหน้า - ปั้นสตาร์ตอัพ

08 ก.ค. 2561 | 11:13 น.
080761-1813

'ศิริ' ชูอนาคตทางพลังงาน 3 ด้าน เน้นมั่นคง ยั่งยืน และราคาย่อมเยา ยัน! ไม่ปิดกั้นพลังงานทดแทน ผลิตได้ในราคาต่ำกว่า 2.40 บาทต่อหน่วย รับซื้อหมดลดภาระผู้บริโภค เปิดเสรีให้ประชาชนผลิตไฟฟ้าซื้อขายกันเองปีหน้า สร้างสตาร์ตอัพ ผู้ผลิตรายย่อย

ในงานสัมมนา "อนาคตพลังงานไทย" จัดโดย "ฐานเศรษฐกิจ" ณ โรงแรมดุสิตธานี เมื่อวันที่ 4 ก.ค. ที่ผ่านมา นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ฉายภาพถึงนโยบายด้านพลังงานในอนาคตของประเทศ ภายใต้สถานการณ์การเปลี่ยนเทคโนโลยีที่รวดเร็ว

 

[caption id="attachment_296270" align="aligncenter" width="295"] ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ศิริ จิระพงษ์พันธ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน[/caption]

ดันประมูลปิโตรฯ
นายศิริ ระบุว่า ทิศทาง หรือ นโยบายด้านพลังงานของประเทศ จะต้องอยู่บนองค์ประกอบ 3 ด้าน ได้แก่ มั่นคง ยั่งยืน และราคาที่ย่อมเยา โดยความมั่นคงพลังงานนั้น จะต้องเร่งผลักดันให้การประมูลแหล่งสัมปทานปิโตรเลียมแหล่งเอราวัณและแหล่งบงกช ที่จะหมดอายุในช่วงปี 2565-2566 ต้องเป็นไปตามที่กำหนด หรือ ลงนามกับผู้ชนะการประมูลได้ภายในเดือน ก.พ. 2562 ไม่ให้เกิดการสะดุด เพื่อให้การผลิตก๊าซธรรมชาติมีความต่อเนื่อง เพราะทั้ง 2 แหล่ง ผลิตก๊าซฯ ป้อนความต้องการให้กับประเทศราว 2.1 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือกว่า 60% จากความต้องการใช้ประมาณ 5 พันลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และก๊าซส่วนใหญ่ 60-70% ถูกนำไปใช้ในการผลิตไฟฟ้า

หากการได้ผู้ชนะการประมูลเกิดความล่าช้า หรือ มีสถานการณ์ใดทำให้การประมูลสะดุดลง ก็จะมีความสุ่มเสี่ยงที่จะส่งผลให้ขาดแคลนก๊าซ กระทบไปยังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไม่เพียงพอ หรือ เกิดไฟฟ้าดับตามไปด้วย สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงผู้ประกอบการที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย


appbkim

บริหารสายส่งไม่แกร่ง
ในขณะที่ ความมั่นคงด้านไฟฟ้านั้น ในระยะ 5 ปีนี้ กำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศยังเพียงพอ จึงไม่มีความจำเป็นต้องการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ ยกเว้น โรงไฟฟ้าที่มีสัญญากับรัฐอยู่แล้ว หรือ อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ยังสามารถเดินหน้าต่อไปได้ เพราะได้มีการนำไปรวมอยู่ในแผนอยู่แล้ว เนื่องจากกำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศที่มีอยู่เกือบ 5 หมื่นเมกะวัตต์ ยังสามารถรองรับการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นได้ 5-6 ปี แต่ที่เกิดปัญหาบางพื้นที่เกิดไฟฟ้าไม่เพียงพอนั้น ไม่ใช่เกิดจากปัญหาการบริหารจัดการสายส่งไฟฟ้าที่ยังไม่แข็งแกร่งพอ

ดังนั้น การสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ทุกประเภทจึงไม่ต้องรีบร้อนในเวลานี้ ควรใช้เวลานี้มาช่วยกันพิจารณาวางโครงสร้าง วางรูปแบบของระบบไฟฟ้าที่มั่นคง ยั่งยืน และราคาค่าไฟฟ้าย่อมเยา สร้างระบบใหม่สำหรับอนาคตพลังงานและเป็นที่ยอมรับของทุกภาคส่วนจะดีกว่า


appSPP

สร้างสายส่งให้แข็งแกร่ง
โดยเฉพาะการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า หรือ พีดีพี ฉบับใหม่ ที่คาดว่าจะเห็นความชัดเจนภายในไตรมาส 3 ของปีนี้ ซึ่งเป็นแผนที่มีความต้องการไฟฟ้าเป็นรายภาค เน้นการสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบสายส่ง เชื่อมโยงแต่ละรายภาคเข้าด้วยกัน เพื่อส่งไฟฟ้าทดแทนกันได้

อย่างกรณีของภาคใต้ที่ยังมีปัญหาไฟฟ้าไม่เพียงพอ แม้ว่ากำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าที่มีอยู่จะเกินความต้องการก็ตาม แต่ไม่สามารถผลิตได้เต็มกำลังการผลิต เนื่องจากระบบสายส่งในภาคใต้ยังไม่แข็งแกร่งพอ ต้องส่งไฟฟ้าจากภาคกลางไปช่วยนั้น จำเป็นต้องวางแผนการก่อสร้างสายส่งให้สามารถรองรับกำลังผลิตที่มีอยู่ให้แข็งแกร่ง รวมถึงการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ใช้เศษไม้ยางพารา 300 เมกะวัตต์ กระจายไปทั่วใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะช่วยเพิ่มความมั่นคงไฟฟ้าภาคใต้ได้


appEGO

ขณะเดียวกัน ยังเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรได้ด้วย โดยการตั้งกิจการวิสาหกิจชุมชน หรือ บริษัท Regional Power System หรือ RPS เพื่อมาบริหารจัดการโรงไฟฟ้าชีวมวล ในการสร้างความมั่นคงไฟฟ้าและสร้างความยั่งยืนให้กับเกษตรกร 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงการสร้างกิจการวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่อื่น ๆ ที่มีศักยภาพในการผลิตก๊าซชีวภาพ เพื่อป้อนเข้าสู่ระบบท่อก๊าซธรรมชาติได้อีกทางหนึ่งด้วย


ปีหน้าเปิดผลิตไฟฟ้าเสรี
นายศิริ กล่าวอีกว่า ขณะที่ความยั่งยืนด้านพลังงานนั้น จะต้องให้ทุกภาคส่วนได้ใช้พลังงานในระบบที่ทันสมัย มั่นคง ยั่งยืน และในราคาที่ไม่แพง ก้าวไปสู่การเป็นสมาร์ทซิสเต็ม , สมาร์ทกริช , สมาร์ทเอ็นเนอยี่ , สมาร์ทซิตี รวมไปถึงการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือก ไม่ว่า ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ โซลาร์เซลล์ พลังงานลม ที่ไม่ได้ปิดกั้นการส่งเสริม แต่ต้องมีเงื่อนไขความยั่งยืน สังคมยอมรับได้ ราคาค่าไฟฟ้าต้องไม่แพง

 

[caption id="attachment_296274" align="aligncenter" width="503"] ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ศิริ จิระพงษ์พันธ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน[/caption]

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานจะผลักดันโครงการไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ภาคประชาชนให้เกิดขึ้นมา โดยจะประกาศโครงสร้างระบบที่จะให้ประชาชนเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เอง และที่เหลือสามารถส่งขายตามที่อยู่อาศัย ตามชุมชน หรือ หมู่บ้าน รวมถึงส่งขายเข้าระบบได้ด้วย ซึ่งจะมีมาตรการสนับสนุนจูงใจ ทั้งด้านราคาจำหน่าย เพื่อให้ประชาชนมาผลิตไฟฟ้าใช้เอง และเหลือขายเข้าระบบ คาดว่าจะมีความชัดเจนปลายปีนี้ ในการวางกรอบระบบขึ้นมา เพื่อให้ทุกฝ่ายแสดงความคิดเห็น นำไปสู่การปฏิบัติต่อไป ในปี 2562 ซึ่งโครงการนี้จะสามารถช่วยสร้างสตาร์ตอัพให้เกิดการสร้างเทคโนโลยีใหม่ ๆ พัฒนาไปสู่การเป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายย่อยได้

นอกจากนี้ ภาครัฐจะต้องมีความร่วมมือกับเอกชนในการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งปัจจุบัน ได้มอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไปดำเนินการกับเอสซีจี ในการทำโซลาร์ลอยน้ำในเขื่อน กฟผ. 11 แห่ง เพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าในลักษณะรูปแบบไฮบริดได้ราว 1 พันเมกะวัตต์ ซึ่งช่วยให้ค่าไฟฟ้ามีราคาต่ำลงได้ หรือผลิตไม่เกิน 2.40 บาทต่อหน่วย จึงเป็นที่มาว่า ทำไมการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนต่อไป ถึงต้องมีราคาต่ำกว่า 2.40 บาทต่อหน่วย เพราะมีเกณฑ์ออกมาให้เห็นแล้วว่า สามารถดำเนินการได้ในต้นทุนที่ถูกลง ไม่เป็นภาระกับผู้บริโภค


appKBB

"การส่งเสริมพลังงานทดแทนจะต้องมีความมั่นคง ยั่งยืน และราคาไม่แพง ซึ่งมีการพิสูจน์แล้วว่า ราคาค่าไฟที่รับซื้อ 2.40 บาทต่อหน่วย สามารถทำได้ ดังนั้น ผู้ประกอบการควรจะนำเป้าหมายนี้เดินไปข้างหน้า เพื่อสร้างระบบไฟฟ้าร่วมกัน"


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,381 วันที่ 8-11 ก.ค. 2561 หน้า 01-02

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
'เอสพีพี' โวยพลังงาน! เมินขอปรับค่าไฟใหม่
อยากได้ ‘บ้านสวย’ แถมช่วยประหยัดค่าไฟ ... ‘12 แบบบ้านประหยัดพลังงาน’ ช่วยคุณได้


e-book-1-503x62