เกาะติดเมกะโปรเจ็กต์ : ท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 สนับสนุนโลจิสติกส์ พื้นที่เศรษฐกิจอีอีซี

07 ก.ค. 2561 | 09:43 น.
26596552 โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ถือเป็นหนึ่งในโครงการเร่งด่วนที่บรรจุไว้ในแผนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความเห็นนักลงทุนรอบที่  3 ก่อนที่จะเร่งประกาศทีโออาร์เชิญชวนผู้สนใจมาลงทุนในรูปแบบร่วมลงทุนกับเอกชน (พีพีพี) ในช่วง 1-2 เดือนนี้ตามที่คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(กนศ.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานได้เห็นชอบกรอบการดำเนินงานไว้ โดยมีมูลค่าการลงทุนเบื้องต้นในงานโครงสร้างพื้นฐานเท่ากับ 10,154 ล้านบาท มีระยะเวลาในการดำเนินการก่อสร้างและให้บริการรูปแบบให้เอกชนร่วมทุนฯประมาณ 30 ปี

การพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 แบ่งการดำเนินงานเป็น 2 ส่วน โดยส่วนแรกจะดำเนินงานโครงสร้างพื้นฐานประกอบด้วย งานถมทะเลพื้นที่ 1,000 ไร่ เพื่อรองรับการก่อสร้างท่าเทียบเรือสินค้าเหลว ก๊าซธรรมชาติ และพื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรมด้านพลังงาน งานขุดลอกร่องนํ้า และแอ่งกลับเรือความลึก 16 เมตร งานระบบสาธารณูปโภค งานอุปกรณ์ควบคุมการเดินเรือบริเวณท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3
59665 สำหรับส่วนที่ 2 จะเป็นการก่อสร้างท่าเทียบเรือบนพื้นที่ถมทะเล เพื่อรองรับการขนถ่ายสินค้า โดยแบ่งเป็น ท่าเทียบเรือสินค้าเหลว 2 ท่ามีพื้นที่ 200 ไร่ ความยาวหน้าท่า 814 เมตร ท่าเทียบเรือก๊าซ 3 ท่ามีพื้นที่ 200 ไร่ ความยาวหน้าท่า 1,415 เมตร ท่าเทียบเรือบริการ รวมถึงคลังสินค้าและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับก๊าชธรรมชาติ 150 ไร่
1530954577914 โดยการเปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนครั้งนี้เป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติ และวัตถุดิบเหลวสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ตั้งโครงการอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ตำบลมาบตาพุด อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง มีเนื้อที่ประมาณ 1,000 ไร่แบ่งเป็นพื้นที่หน้าท่า 550 ไร่ และพื้นที่หลังท่า 450 ไร่ ความยาวหน้าท่ารวมกัน 2,229 เมตร
59655965 วัตถุประสงค์ของโครงการเพื่อเพิ่มความจุในการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติ และวัตถุดิบเหลวสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งหลังจากดำเนินการพัฒนาแล้วเสร็จจะสามารถรองรับสินค้าผ่านท่า (สินค้าด้านปิโตรเคมี และก๊าซธรรมชาติ) ได้เพิ่มอีก 19 ล้านตันต่อปีในอีก 20 ปีข้างหน้า

เมกะโปรเจ็กต์โครงการนี้คาดว่าจะมีนักลงทุนและบริษัทเอกชนได้ให้ความสนใจ และแสดงความจำนงมายังการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) อาทิ บริษัทในกลุ่มปตท. บริษัท ไทย แทงค์ เทอร์มินอล จำกัด บริษัทในกลุ่มกัลฟ์ บริษัทนทลิน จำกัด เป็นต้น  เพื่อดำเนินการจัดสร้างพื้นที่จัดเก็บถังสารเคมี(Liquid Chemical Tank farm) และถังเก็บก๊าซปิโตรเลียมเหลว(LPG Storage Tank) รวมทั้งพร้อมที่จะดำเนิน กิจการบริหารจัดการท่าเรือ การก่อสร้างท่าเทียบเรือบนพื้นที่ถมทะเลเพื่อลงทุนโครงการท่าเทียบเรือและสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG Terminal) บนพื้นที่จำนวนประมาณ 200 ไร่ ทั้งนี้ตามแผนคาดว่าจะสามารถลงนามสัญญาร่วมทุนได้ในเดือนตุลาคมปีนี้ หากการดำเนินงานเป็นไปตามแผนการก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการในปี 2567
566652656 ทั้งนี้ ปัจจุบันท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 1 และระยะที่ 2 มี 12 ท่าเรือย่อย ประกอบด้วยท่าเรือเฉพาะ 9 ท่าและท่าเรือสาธารณะ 3 ท่าสามารถขนถ่ายสินค้าโดยรวมประมาณ 43 ล้านตันต่อปี โดย 57% เป็นการขนถ่ายนํ้ามันและก๊าซธรรมชาติ (Liquid Natural Gas:LNG) ในอนาคตจะมีความต้องการนำเข้าก๊าซธรรมชาติ (LNG) เพิ่มขึ้นประมาณ 16-32 ล้านตันต่อปี (เกินความสามารถปัจจุบันที่รองรับได้เพียง 10 ล้านตันต่อปี)

อีกทั้งยังเชื่อว่าจะมีความต้องการนำเข้าวัตถุดิบเหลวสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและอุตสาหกรรมเศรษฐกิจชีวภาพ(Bio-Economy)  เพิ่มมากขึ้น แต่มีท่าเรือสาธารณะขนถ่ายวัตถุดิบเหลวเพียง 1 ท่าที่ปัจจุบันใช้งานเต็มความจุแล้ว ดังนั้นจึงจำเป็นต้องพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 เพื่อรองรับการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและวัตถุดิบเหลวสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในอนาคตของประเทศไทย

| คอลัมน์ : เกาะติดเมกะโปรเจ็กต์
| เชกชั่น : เศรษฐกิจมหภาค
| หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 12 ฉบับ 3380 ระหว่างวันที่ 5-7 ก.ค.2561