ถอดรหัสประกาศ 7 ฉบับ ธปท. มุ่งยกระดับกันชน เสริมธรรมาภิบาล

21 ก.ค. 2561 | 14:11 น.
จากวิกฤติการเงินโลก กระบวนการสร้างกลไกแก้ไขหรือป้องกันปัญหาได้ทันท่วงทีมีความจำเป็นมากขึ้น เพื่อเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ ประกอบกับภายใต้แนวทางการยกระดับมาตรฐานการกำกับและประเมินภาคการเงิน ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ และธนาคารโลก(FSAP) ซึ่งจะประเมินเสถียรภาพและการกำกับดูแลภาคการเงินในไตรมาส 4 ของปีนี้

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) จึงออกประกาศ 7 ฉบับและลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 22 มิถุนายนคือ 1. ประกาศ ธปท.ที่ สนส. 10/2561 เรื่องธรรมาภิบาลของสถาบันการเงิน 2.ประกาศธปท.ที่ สนส. 11/2561 เรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งกรรมการ ผู้จัดการ ผู้มีอำนาจในการจัดการ หรือที่ปรึกษาของสถาบันการเงิน 3.ประกาศธปท.ที่ สนส.12/2561 เรื่อง หลักเกณฑ์การกำกับดูแลความเสี่ยงของกลุ่มธุรกิจทางการเงิน 4.ประกาศธปท. ที่สนส.13/2561 เรื่องการอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ประกอบกิจการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา (Escrow Agent) 5.ประกาศธปท.ที่ สนส. 14/2561 เรื่องการอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ประกอบธุรกิจเป็นทรัสตี 6.ประกาศธปท.ที่สนส. 15/2561 เรื่องการอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ และ 7.ประกาศธปท.ที่ สนส.16/2561 เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์เตรียมแผนล่วงหน้ารองรับการเสริมสร้างความมั่นคงและแก้ไขปัญหา(แผน RCP)

[caption id="attachment_295937" align="aligncenter" width="372"] วัลยา (1) วัลลยา แก้วรุ่งเรือง[/caption]

“วัลลยา แก้วรุ่งเรือง” รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายกำกับและบริหารงานกฎหมาย บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ให้ความเห็นกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ธปท.พยายามเพิ่มความรัดกุมและยกระดับธรรมาภิบาลในการกำกับดูแล ซึ่งเพิ่มความเข้มข้นทั้งในแง่บทบาทกรรมการ โดยลงรายละเอียดทั้งปฏิบัติและการบริหารความเสี่ยงเห็นได้จาก สนส.10 และสนส.11 เพื่อยกระดับบทบาทและคุณสมบัติของกรรมการและผู้บริหาร ซึ่งกำหนดกรอบเรื่องความเสี่ยง เพิ่มเงื่อนไขกรรมการอิสระ

“สนส.10 และ สนส.11 นั้น มีผลตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2561 แล้ว ซึ่งการเพิ่มความเข้มจะเป็นผลดีต่อองค์รวม แต่เป็นความยากเพราะกระทบการบริหารจัดการ โดยเฉพาะผู้ทรงคุณวุฒิที่จะมานั่งเป็นกรรมการจะหายากขึ้น อย่าง ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม จะครบวาระ 9 ปีในปลายปีนี้ ทั้งๆ ท่านมีภูมิความรู้ที่จะทำคุณประโยชน์ได้อีก แต่ก็ต้องหาท่านอื่นมาเป็นกรรมการแทน”

สำหรับสนส.12 เพิ่มความเข้มข้นให้บริษัทในเครือทำงบการเงินแบบรวมศูนย์ด้วย ซึ่งปัจจุบันทุกธนาคารพาณิชย์ จะทำงบการเงินรวมกลุ่มอยู่แล้วหรือ Consolidated Supervision แต่จากนี้ไปให้บริษัทในเครือทยอยรวมศูนย์ โดยมีผลบังคับใช้ในปี2565 และให้ธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเป็นบริษัทแม่คอยดูแลบางธุรกิจของบริษัทในเครือควรมีบอร์ดเฉพาะเองด้วย เช่น บอร์ดตรวจสอบ (Audit Board) บอร์ดบริหารความเสี่ยง รวมทั้งบอร์ดสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน

ส่วนสนส.13, สนส.14 และสนส.15 เป็นการประกอบธุรกิจใหม่ เฉพาะสนส.13 และสนส.14
ปัจจุบันยังไม่มีธนาคารพาณิชย์ใดทำ เพราะหลายธนาคารกังวลในข้อพิพาทที่อาจจะเกิดขึ้น จึงกลัวความรับผิด ถ้าเกิดคู่สัญญา Escrow Agent ไม่ปฏิบัติตามสัญญา ค่าธรรมเนียมที่ได้รับจะคุ้มค่าปรับหรือไม่ เช่นเดียวกับ สนส.14 ที่ยังไม่มีธนาคารพาณิชย์ใดเริ่มให้บริการ“ทรัสตี” เต็มตัว

ขณะที่สนส.15 ธนาคารให้บริการธุรกิจหลักทรัพย์อยู่แล้ว 11 ประเภท ทั้งการขายหรือเป็นตัวแทนนายหน้าต้องมีนโยบายผ่านบอร์ด ส่วนสนส.16 เป็นการเตรียมแผนรองรับข้างหน้า ถ้าเกิดวิกฤติโดยบริษัทในเครือเกิดวิกฤติธนาคารพาณิชย์ต้องทำแผนรองรับให้เหมาะสมกับโครงสร้าง ขนาดของธุรกิจซึ่งเป็นประโยชน์ต่อระบบและความมั่นใจให้กับประชาชนแต่ยอมรับว่ายากขึ้นในทางปฏิบัติ

น้า 23-24 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,381 วันที่ 8 - 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2561