มารยาตลาดหุ้น : เมื่อ “บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด” จะเข้าตลาดหุ้น กับ“ผู้เหยียบหิมะไร้ร่องรอย”

06 ก.ค. 2561 | 11:03 น.
2656565 ฮือฮาไม่เบาสำหรับการประกาศแผนเดินหน้าเพื่อเข้าจดทะเบียนในตลท.ของ “สโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด” ของ “เนวิน ชิดชอบ” ถือเป็น “ปรากฏการณ์ใหม่” ของแวดวงตลาดทุนจริง ๆ ที่บริษัทในธุรกิจ “สปอร์ต เอ็นเตอร์เทนเมนต์” กำลังจะมาเป็นสมาชิกใหม่ของโรงละครแห่งความฝัน

แต่เมื่อได้เห็นชื่อแม่ทัพของบริษัท “เนวิน ชิดชอบ” แล้วก็คงไม่น่าแปลกใจเท่าใดนัก กับประสบการณ์มากมายทั้งในระดับการเมืองท้องถิ่นจนถึงการเมืองระดับประเทศ และยังความสำเร็จในการสร้างกระแสบอลไทยลีกให้ได้รับความนิยมสุด ๆ กว่า 4 ปีที่ผ่านมาร่วมกับสมาคมฟุตบอลไทย

เมื่อ “ประธานเนวิน” ระบุว่า “สินทรัพย์ที่สำคัญที่สุดของบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด” คือ “แบรนด์” (Brand) เราก็ไม่ควรต้องสงสัย เพราะฝีมือและความสามารถด้านการตลาด ด้านการสร้างภาพลักษณ์ สร้างอัตลักษณ์ ของ “เนวิน ชิดชอบ” ที่ไม่เป็นรองใครแน่นอนในยุทธจักร
เนวิน-ชิดชอบ-1 แต่แอบสงสัยไม่ได้จริงๆ ว่าในเมื่อสโมสรส่วนใหญ่ในประเทศไทยบริหารขาดทุนยับกันแทบทุกราย แต่ “บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด” ที่ทุ่มเงินมากมายในทุก ๆ เรื่อง รวมถึงการซื้อตัวนักเตะกลับมี “รายได้มากเกินเพื่อนๆ”

พี่น้องประชาชนหลายคนคงอดสงสัยไม่ได้ว่า ธุรกิจสโมสรฟุตบอลขาดทุนแล้วทำไปทำไม? แล้วทำไมเจ้าของสโมสรฟุตบอลส่วนใหญ่ในแต่ละจังหวัด คือเครือข่ายนักการเมืองท้องถิ่น?

ก็เพราะมันไม่ใช่ธุรกิจปกติไงเจ้าคะ มันคือธุรกิจแฝงเพื่อกระแสมวลชนในหลาย ๆ กรณี คือธุรกิจเพื่อ “รักษาฐานเสียง” และ เพื่อสร้าง “ความนิยมชมชอบ” (Popularity) ของตนเองระดับท้องถิ่น ดังนั้นเจ้าของหลายสโมสรจึงคิดว่า “ขาดทุนช่างมัน”

ผู้ที่เป็น “เซียนเหนือเมฆ”... “เหยียบหิมะไร้ร่องรอย” อย่าง “เนวิน ชิดชอบ” เท่านั้น จึงสามารถคิดสูตรกระบวนท่า “ยัดนอกเข้าใน” และ “ดันเข้าในตลาด” ได้ stadium_26

แต่ก็อดแปลกใจไม่ได้จริงๆ เมื่อลองค้นงบการเงินดูก็พบว่า “รายได้” ของ “สโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด” มีมากกว่า “สโมสรเอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด” อยู่กว่า 35% หรือ 558 ล้านบาท และ 750 ล้านบาท ในปี 2560

ทั้ง ๆ ที่จำนวนแฟนคลับซึ่งคือแหล่งรายได้หลักของสโมสรฟุตบอล (วัดจากยอดผู้ติดตามใน Facebook) ก็ห่างกันเกือบเท่าตัว คือ 2.2 ล้านคน และ 1.5 ล้านคน

แถมราคาเสื้อ “สโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด” ยังถูกกว่า “สโมสรเอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด” อีกกว่า 50% ที่ 990 บาท และ 540-640 บาท

ด้านข้อมูลอันดับสโมสรฟุตบอลของเอเชีย ปี 2560 ที่จัดทำโดย เว็บไซต์ footballdatabase.com ก็พบว่า “สโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด” อยู่เพียงลำดับที่ 25 ส่วน “สโมสรเอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด” รั้งลำดับที่ 9 ของเอเชีย ขณะที่ราคาบัตรเข้าชมการแข่งขัน ก็ไม่ได้ต่างกันมากที่ 50-200 บาทต่อที่นั่ง
เนวิน-ชิดชอบ-min-1 แค่ขี้สงสัย...ด้อยกว่าเกือบทุกอย่างเทียบกันปอนด์ต่อปอนด์ แต่ไฉนรายได้ “บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด” มากกว่า

รายได้จริง รายได้เทียม รายได้สม่ำเสมอ รายได้อุปถัมภ์ หรือ รายได้นอกระบบสู่ในระบบ? อนาคตและผู้บริหารเท่านั้นที่ตอบได้

การเข้าตลาดหลักทรัพย์ คือ การระดมทุนระดมเงินของพี่น้องประชาชนเพื่อมาเป็นหุ้นส่วนของบริษัท ดังนั้นการตรวจสอบข้อมูลอย่างพิถีพิถัน อย่างละเอียดถี่ถ้วน จึงเป็นหน้าที่ที่สำคัญของที่ปรึกษาการเงิน (Financial Advisor) และผู้สอบบัญชี (Auditor) ในกรณีนี้คือ “บล.ฟินันเซียไซรัสฯ” และ “บริษัท อีวาย จำกัด”

เมื่อภาพลักษณ์สามารถแปรเปลี่ยน เมื่อผ้าสกปรกสามารถฟอกขาว โอกาสจึงบังเกิดสำหรับผู้กล้า

ดังนั้นหาก “บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด” เข้าตลาดได้จริง จึงถือเป็น สูตรสำเร็จของเกมการเงินและการตลาดที่สมบูรณ์แบบลงตัวที่สุดที่เคยมีมา...กราบบบบบ

| คอลัมน์ : มารยาตลาดหุ้น
| โดย : คุณนายเผือก
| หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 17 ฉบับ 3381 ระหว่างวันที่ 8-11 ก.ค.2561
| ขอบคุณภาพ : BURIRAM UNITED
e-book-1-503x62