บีโอเจ-อีซีบีมาทิศทางเดียวกัน คาดนโยบายดอกเบี้ยติดลบ-คิวอีช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโลก

03 ก.พ. 2559 | 23:00 น.
แม้ว่าการตัดสินใจใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบของธนาคารกลางแห่งประเทศญี่ปุ่น (บีโอเจ) จะส่งผลเชิงบวกต่อตลาดหุ้นทั่วโลกเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา แต่มันจะส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นอย่างที่บีโอเจตั้งเป้าหมายไว้หรือไม่ นักวิเคราะห์จากธนาคารเอชเอสบีซีมองว่า ผลลัพธ์อาจไม่เป็นอย่างที่คิด แต่อีกส่วนหนึ่งก็มองว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกน่าจะเป็นเชิงบวก

[caption id="attachment_29700" align="aligncenter" width="335"] ฮารุฮิโกะ คุโรดะ ฮารุฮิโกะ คุโรดะ[/caption]

การนำนโยบายดอกเบี้ยติดลบมาใช้จนทำให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่า 0% ในครั้งนี้ บีโอเจมีเป้าหมายต้องการให้ธนาคารพาณิชย์นำเงินมาปล่อยกู้มาขึ้นและให้ธุรกิจเอกชนเพิ่มการลงทุน นอกจากนั้น บีโอเจเองยังจะเดินหน้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลอย่างต่อเนื่องอีกด้วย สำนักวิจัยของธนาคารเพื่อการลงทุน รีโอเรียนท์ ไฟแนนเชียล มาร์เก็ต ระบุว่า มาตรการล่าสุดของบีโอเจแสดงให้เห็นว่า นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการบีโอเจ ยังมีอาวุธในมือเหลืออยู่อีกมากที่จะนำมาใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจของญี่ปุ่น และเขาก็พร้อมที่จะนำทุกอย่างมาใช้อย่างไม่รีรอถ้าหากเห็นว่าถึงคราวจำเป็นต้องใช้ เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา แถลงการณ์ของบีโอเจระบุว่า บีโอเจจะเรียกเก็บดอกเบี้ยในอัตรา 0.1 % จากบรรดาธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินที่มีบัญชีฝากไว้กับบีโอเจ (จากเดิมที่เคยให้ดอกเบี้ยแก่บัญชีเงินฝากเหล่านี้) และหากว่าจำเป็นก็อาจจะเรียกเก็บเพิ่มขึ้นอีก

รีโอเรียนท์ฯ พยากรณ์ว่า การตัดสินใจของบีโอเจในครั้งนี้จะส่งผลกระทบในวงกว้าง โดยจะช่วยลดทอนผลกระทบจากนโยบายดอกเบี้ยของเฟดที่ตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ทั้งยังน่าจะส่งผลให้นายมาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ตัดสินใจนำมาตรการการเงินเชิงผ่อนคลายมาใช้มากขึ้นด้วย และท่ามกลางสถานการณ์ที่ทั้งอีซีบีและบีโอเจต่างก็นำมาตรการการเงินเชิงผ่อนคลายมาใช้ ขณะที่ธนาคารกลางแห่งประเทศจีนก็อัดฉีดสภาพคล่องเงินสดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจซึ่งไม่ต่างจากการใช้นโยบายการเงินเชิงผ่อนคลาย นักวิเคราะห์เชื่อว่า ตัวแปรเหล่านี้อย่างน้อยก็จะช่วยให้ทั้งตลาดหุ้น ตลาดการเงิน และเศรษฐกิจโลก ไม่ย่ำแย่ลงไปกว่าที่เป็นอยู่

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์จากเอชเอสซีบีมองว่า เศรษฐกิจของญี่ปุ่นเองอาจได้รับการกระตุ้นเพียงในวงจำกัดจากมาตรการล่าสุดของบีโอเจ เพราะหากเทียบจากประสบการณ์ของธนาคารกลางในประเทศแถบสแกนดิเนเวียที่นำมาตรการดอกเบี้ยติดลบมาใช้ก่อนหน้านี้ พบว่า อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมากในระดับติดลบ ก็ยังไม่อาจทำให้อัตราการปล่อยกู้ของธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นมากอย่างที่ธนาคารกลางคาดหมายไว้ เพราะดอกเบี้ยติดลบทำให้รายได้ของธนาคารถูกบีบให้ลดลงด้วย แม้ว่าดอกเบี้ยจำนองบ้านจะลดลงมา และราคาบ้านจะกระเตื้องขึ้นเล็กน้อย แต่เงินกู้ซื้อบ้านก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากอย่างที่หวัง

ส่วนในญี่ปุ่นนั้น นักวิเคราะห์ชี้ว่า การที่ภาคธุรกิจเอกชนขาดความกระตือรือร้นที่จะลงทุนใหม่ๆไม่ได้มีสาเหตุมาจากดอกเบี้ยเงินกู้อัตราสูง แต่เป็นเพราะภาคธุรกิจไม่มีความมั่นใจในแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะยาวมากกว่า

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งยังมองว่า แม้บีโอเจจะหันมาใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบเช่นเดียวกับอีซีบีที่นำนโยบายนี้มาใช้ก่อนหน้าแล้ว แต่ขอบเขตของนโยบายก็ยังไม่ครอบคลุมมากเท่าของอีซีบี สำหรับบีโอเจนั้น การคิดดอกเบี้ยจากบัญชีที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้กับบีโอเจซึ่งปัจจุบันมีเงินรวมราว 250 ล้านล้านเยนนั้น แบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกเรียกว่า Basic Balance มีสัดส่วนมากที่สุดคือประมาณ 210 ล้านล้านเยน ยังคงได้รับดอกเบี้ยจากบีโอเจในอัตราเฉลี่ยปีละ 0.1 % กลุ่มที่สองเรียกว่า Macro Add-on Balance เป็นบัญชีที่ไม่ได้รับดอกเบี้ย มีสัดส่วนประมาณ 9 ล้านล้านเยน และสุดท้ายกลุ่มที่ 3 คือบัญชี Policy-Rate Balance ซึ่งจะถูกเรียกเก็บดอกเบี้ยในอัตรา 0.1 % โดยบีโอเจ และคาดว่าจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 10-30 ล้านล้านเยน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,128 วันที่ 4 - 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559