KBANKรุกตลาดเศรษฐีเล็งตลาดจีน-CLMV หนีไพรเวทแบงก์แข่งดุ

05 ก.ค. 2561 | 04:35 น.
กสิกรไทย รุกหนักธุรกิจไพรเวทแบงก์ เจาะเศรษฐีจีน-CLMVขยายฐานลูกค้าใหม่ ต่อยอดสินทรัพย์ AUM ประเดิมลูกค้าคนจีน 90 ราย สินทรัพย์ 4 พันล้านบาท หลังต่างชาติโดดเล่นในตลาด พร้อมขอธปท.ขยายโปรดักต์ Land Loan ใช้ที่ดินปล่อยกู้เพื่อลงทุน

นายจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Private Banking Business Group Head ธนาคารกสิกรไทย จำกัด  (มหาชน) (KBANK) เปิดเผยว่า ทิศทางธุรกิจบริหารความมั่นคั่ง (Wealth Management) แข่งขันรุนแรงมากขึ้น โดยจะเห็นว่า ต่างชาติเริ่มกลับเข้ามาทำธุรกิจในไทยเพิ่มขึ้น ดังนั้นธนาคารจึงต้องขยายขอบเขตการหาลูกค้าฐานใหม่ๆ เช่นลูกค้าคนจีนซึ่งเริ่มดำเนินการไปแล้ว ปัจจุบันมีลูกค้าคนจีนที่เป็นไพรเวทแบงก์ 90ราย มีสินทรัพย์เฉลี่ย50ล้านบาทต่อรายหรือมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการ (AUM)อยู่ที่4,000 ล้านบาท

MP23-3379-A

ทั้งนี้ลูกค้าจีนและที่สื่อสารด้วยภาษาจีนที่มีอยู่ 90 ราย อาจยังไม่ใช้บริการสมํ่าเสมอ (Active) มากนัก จะกระตุ้นให้แอกทีฟมากขึ้น โดยลูกค้าที่ยังไม่ได้ลงทุนจะสนับสนุนให้ลงทุนหรือที่ลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่ไม่ซับซ้อนให้หันมาลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่ซับซ้อนมากขึ้น รวมถึงลูกค้าคนจีนที่ถือบัตร Wisdom ที่มีอยู่ 1,400 ราย มีสินทรัพย์รวมราว 1 หมื่นล้านบาท เฉลี่ย 10 ล้านบาทต่อราย ยกระดับเป็นลูกค้าไพรเวทแบงก์ให้ได้ และขยายฐานลูกค้าคนจีนที่อยู่ในประเทศจีนผ่านสาขาของธนาคารในจีน หลังได้รับใบอนุญาตเป็นธนาคารท้องถิ่นเต็มรูปแบบ เริ่มแรกจะแนะนำให้เข้ามาลงทุนในไทยก่อน หากลงทุนและมีเงินส่วนเหลือจึงจะแนะนำให้ลงทุนผ่านไพรเวทแบงก์

นอกจากนั้น ธนาคารกำลังมองตลาดกลุ่มประเทศCLMVโดยเฉพาะสปป.ลาวเป็นตลาดน่าสนใจ และสามารถขยายฐานลูกค้าได้ เนื่องจากคนลาวชื่นชอบเงินบาท เพราะมีเสถียรภาพมากกว่าเงินกีบของลาว โดยจะเห็นคนลาวเข้ามาฝากเงินในไทยตามจังหวัดอุดรธานีและอุบลราชธานี รวมถึงคนลาวบางส่วนถือบัตร wisdom ของธนาคาร ด้วย ขณะที่กัมพูชาและเมียนมาส่วนใหญ่จะเป็นนักธุรกิจ ซึ่งก็เป็นโอกาสที่จะขยายเข้าไป โดยร่วมกับทีมงาน World Business Groupที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านภาษาและเอกสาร

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6

“ช่วงที่การแข่งขันมากขึ้น หากเราต้องการให้ธุรกิจเติบโต จำเป็นต้องหาตลาดใหม่และธุรกิจใหม่ เพิ่มฐานลูกค้ารายใหม่และสินทรัพย์เอยูเอ็ม ภายใต้การสร้างผลตอบแทนให้กับลูกค้า ซึ่งมีหลายมิติที่จะช่วยให้ธนาคารสามารถแข่งขันได้อย่างที่เราเริ่มทำกับลูกค้าคนจีนและมองหาไปยังตลาดใกล้เคียง”

นอกจากนั้น ธนาคารยังเพิ่มผลิตภัณฑ์จากเดิมที่เน้นสินทรัพย์ทางการเงิน (Financial)ไปสู่สินทรัพย์ที่ไม่ใช่ทางการเงิน (Non-Financial) เนื่องจากลูกค้าไพรเวทแบงก์จำนวนมากที่มีสิน ทรัพย์เป็นที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ รวมๆ จะมีมากกว่า 1.5 ล้านล้านบาท มากกว่า AUM กว่า 1 เท่า จากที่มี AUM ภายใต้การบริหารที่ 7.5 แสนล้านบาท โดยพบว่า มีลูกค้าที่มีโฉนดที่ดินมีมูลค่ากว่า2-5 หมื่นล้านบาทจากลูกค้า1หมื่นราย ซึ่งสามารถนำมาเป็นหลักประกัน เพื่อขอสินเชื่อและนำไปลงทุน หรือ Land Loan ได้ประมาณ 100 ราย มีที่ดิน 1,500 แปลง และสามารถนำมาพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้ 10% โดยอยู่ระหว่างขออนุมัติจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการรับที่ดินนำมาเป็นหลักประกัน คาดว่าจะได้รับอนุมัติไตรมาส 3

หน้า 23-24 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่38 ฉบับที่ 3,379 วันที่ 1 - 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

e-book-1-503x62-7