ชงรถไฟแม่สอด-นครพนม เชื่อม "ตะวันออก-ตะวันตก" บูมเขตเศรษฐกิจพิเศษ

30 ก.ค. 2561 | 12:21 น.
lo01 องค์กรภาคเอกชนจังหวัดตาก เดินหน้าผลักดันทางรถไฟสายใหม่ เชื่อมตะวันตก-ตะวันออก จากแม่สอดถึงนครพนม พร้อมเสนอขอให้นำพ.ร.บ.อีอีซี มาใช้ในการบริหารจัดการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก และผลักดันให้เทศบาลนครแม่สอดเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ

นายชัยวัฒน์ วิทิตธรรมวงศ์ ประธานอาวุโสสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก ปฏิบัติหน้าที่ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก เปิดเผยว่า 3 องค์กรภาคเอกชนหลักจังหวัดตาก ในนามของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.ตาก) ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก หอการค้าจังหวัดตากและ ชมรมธนาคาร จังหวัดตาก ได้จัดประชุม กกร.ตาก ที่ห้องประชุมสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ซึ่ง 3 องค์กรภาคเอกชนหลักจังหวัดตาก ระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์และปัญหาทางเศรษฐกิจจังหวัดตาก และกลุ่มจังหวัด

เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ เพื่อเสนอให้กับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ในการแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ และร่วมมือกับภาครัฐ และภาคเอกชน ในการพัฒนาเศรษฐกิจส่งเสริมสนับสนุนสถาบันทางเศรษฐกิจภาคต่างๆ ให้มีบทบาทในการส่งเสริมการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว การบริการ และการจ้างแรงงานภายในจังหวัดตาก โดยการประชุมครั้งนี้ มีผู้นำภาคเอกชน กกร. และเครือข่ายสมาชิกเข้าร่วมประชุมครบทุกองค์กร ประกอบด้วย นายปรีดา แก้วเกตุ ประธานชมรมธนาคารจังหวัดตาก นายชวพันธ์ ชวเจริญพันธ์ ประธานหอการค้าจังหวัดตาก และนายชัยวัฒน์ วิทิตธรรมวงศ์ ปฏิบัติหน้าที่ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก พร้อมด้วยคณะกรรมการร่วมทั้ง 3 สถาบัน เข้าร่วมประชุมโดยพร้อมเพรียงกัน

[caption id="attachment_301942" align="aligncenter" width="500"] ชัยวัฒน์ วิทิตธรรมวงศ์ ประธานอาวุโสสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก ชัยวัฒน์ วิทิตธรรมวงศ์ ประธานอาวุโสสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก[/caption]

ที่ประชุมได้สรุปประเด็นปัญหาอุปสรรค และข้อเสนอต่างๆ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจจังหวัดตาก(กรอ.จังหวัดตาก) เพื่อพิจารณา ดังนี้ 1.ปัญหากระแสไฟฟ้าตกและดับบ่อยในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อภาคการผลิต ภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ และการท่องเที่ยว รวมทั้งภาคครัวเรือน และความเชื่อมั่นของนักลงทุน 2.ปัญหานํ้าประปาไม่เพียงพอต่อความต้องการ นํ้าประปาหยุดไหลบ่อยครั้ง ทำให้เกิดความเดือดร้อนกับประชาชนในพื้นที่ 3.การผลักดันการก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายใหม่ เชื่อมตะวันตก-ตะวันออก จากแม่สอด-นครพนม โดยผลักดันให้เริ่มต้นการดำเนินการแผนการพัฒนาจากอำเภอแม่สอด เพื่อเชื่อมต่อไปยังประเทศเมียนมาได้ด้วย

4. การเสนอขอให้นำพระราชบัญญัติเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มาปรับใช้ในการบริหารจัดการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก เพื่อให้มีความก้าวหน้าและเกิดความชัดเจนสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนมากขึ้น และ 5.การผลักดันให้เทศบาลนครแม่สอด เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ เช่นเดียวกับเมืองพัทยา เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และการบริการในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยที่ประชุมมีมติร่วมกันในการนำข้อเสนอปัญหาอุปสรรคต่างๆ ผลักดันผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อความเจริญก้าวหน้าของจังหวัดตาก ทำให้มีศักยภาพเพิ่มสูงขึ้นตามลำดับต่อไป

MP21-3379-A

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบัน 3 องค์กรภาคเอกชนหลักจังหวัดตาก 3 สถาบัน (กกร.ตาก) สภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก หอการค้าจังหวัดตากและชมรมธนาคารจังหวัดตาก เป็นองค์กรภาคเอกชนที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดตาก ซึ่งที่ผ่านมาได้มี

การผลักดันและนำเสนอผ่านภาครัฐ และคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนจังหวัดตาก (กรอ.) ซึ่งได้ผลดีอย่างยิ่งใน การพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกับภาคราชการ

ทั้งนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 4/2561 เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2561 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ได้เห็นชอบข้อเสนอของภาคเอกชนที่เสนอระหว่างการประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 ในการทำเส้นทางรถไฟทางคู่สายใหม่ ระยะทางรวม 902 กิโลเมตร (กม.) เพื่อเชื่อมรถไฟฝั่งตะวันตกและตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ โดยมีนครสวรรค์เป็นจุดเชื่อมต่อที่สำคัญ ซึ่งเส้นทางจะเริ่มจาก อ.แม่สอด จ.ตาก ผ่านมา จ.กำแพงเพชร จ.นครสวรรค์ ระยะทาง 250 กม.จากนั้นจะตัดข้ามจาก จ.นครสวรรค์ไป อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ระยะทาง 291 กม. และต่อไปยัง จ.นครพนม อีก 355 กม. โดยให้จัดสรรงบประมาณในปี 2562
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว หน้า 21 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,379 วันที่ 1-4 กรกฎาคม 2561