‘การทำความดีเริ่มต้นที่เรา’ เปิดมุมคิด มองผู้ลี้ภัยผ่านสายตา "ปู – ไปรยา"

21 ก.ค. 2561 | 14:02 น.
“… ถ้าวันหนึ่งประเทศเรามีความขัดแย้ง แล้วเราถูกสั่งให้ต้องออกจากประเทศของเรา เราไม่สามารถกลับมา ยังประเทศของเราได้ ไม่สามารถกลับมาอยู่ในสถานที่ที่มีวัฒนธรรม มีภาษา มีศาสนาที่คุ้นเคย ปูคิดว่าสิ่งแรกที่เราต้องการมากกว่าการเดินทางไปประเทศอื่นก็คือ “การได้กลับบ้าน” เมื่อไหร่ที่เราได้ทำ ความเข้าใจในจุดนี้ เราจะเข้าใจจิตใจของ ผู้ลี้ภัยมากขึ้น และมองเขาด้วยความเมตตา ด้วยทัศนคติที่ทุกคนคือเพื่อนมนุษย์ที่อยู่ร่วมกันบนโลกใบเดียวกันนี้”

ช่วงตอนหนึ่งจากคุณปู-ไปรยา ลุนด์เบิร์ก ทูตสันถวไมตรี UNHCR ในงานเสวนาพิเศษ “การทำความดีเริ่มต้นที่เรา” เนื่องในวันผู้ลี้ภัยโลก วันที่ 20 มิถุนายน ของทุกปี เปิดโอกาสให้ผู้ฟังทราบถึงความต้องการอย่างแท้จริงของผู้ลี้ภัย (Refugee) ที่ไม่มีอะไรจะดียิ่งไปกว่าการได้กลับบ้านซึ่งเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของพวกเขาอย่างแท้จริง

(11)

ภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองและความขัดแย้งทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศขับให้ประชาชนจำเป็นต้องออกจากถิ่นที่อยู่อาศัยกลายเป็น “ผู้ถูกบังคับให้พลัดถิ่น” หรือ “ผู้ลี้ภัย” มากถึง 68 ล้านคน จำนวนประชากรที่มากเกือบเทียบเท่าประชากรไทยทั้งประเทศ ทั้งนี้จากรายงานแนวโน้มโลก (Global Trends) ที่เผยแพร่โดย UNHCR พบว่า ในปี 2560 จากจำนวนผู้พลัดถิ่นทั้งหมด 68.5 ล้านคน มีประชาชนมากกว่า 16.2 ล้านคนที่ต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นใหม่ สถิติสูงสุดหลังจากที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอด 5 ปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงปริมาณที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เทียบให้เห็นภาพอย่างชัดเจนได้ว่า มีผู้คนที่ต้องพลัดถิ่นถึง 44,500 คนต่อวัน หรือในทุกๆ 2 วินาทีพวกเราทุกคนกำลังหายใจเข้า หายใจออก จะมีคน 1 คน บนโลกใบนี้กลายเป็นผู้พลัดถิ่น

งานเสวนา “การทำความดีเริ่มต้นที่เรา” จึงมิใช่เพียงการพูดคุยถึงเรื่องสถิติและสถานการณ์โลกที่มอง “ผู้พลัดถิ่น” ตามมุมคิด ตามสถานการณ์การรายงานข่าวเท่านั้น แต่คือการตั้งคำถามถึงการอยู่ร่วมกันในฐานะเพื่อนมนุษย์ผ่านประสบการณ์การลงพื้นที่จริงของคุณปู-ไปรยา คุณกิตติ สิงหาปัด คนสื่อซึ่งเข้าไปให้ความสำคัญเรื่อง
ผู้ลี้ภัยอย่างจริงจัง จนทำให้รายการข่าว 3 มิติ เป็นรายการเดียวในประเทศไทยที่นำเสนอประเด็นผู้ลี้ภัยเชิงลึก และเข้าถึงแก่นของการจำต้องพลัดถิ่นอย่างที่สุด ตลอดจนประสบการณ์และมุมมองในฐานะนักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จาก รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้มีโอกาสนำความรู้เชิงทฤษฎีผสานงานเชิงปฏิบัติระดับประเทศและในระดับนานาชาติในฐานะที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และผู้อำนวยการ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า เป็นต้น

โดย รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร นอกจากให้ความสำคัญกับการสร้างทัศนคติให้กับคนรุ่นใหม่ด้วยการเชิญคุณปู-ไปรยา เป็นวิทยากรพิเศษ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและปลุกพลังให้กับนิสิตคณะรัฐศาสตร์ในชั้นเรียนแล้ว ในงานเสวนานี้ยังเพิ่มมุมมองของการเข้าไปสัมผัสผู้ลี้ภัยในฐานะ “เพื่อน” มากขึ้น การเรียนรู้อย่างตรงไปตรงมาจะเปลี่ยนความคิดเรื่องการเป็นเพียงผู้ลี้ภัย ให้เป็น “คน” ที่มีศักยภาพ มีความสามารถ และนำพาให้ประเทศที่อยู่อาศัยก้าวไปสู่การพัฒนาไม่แพ้พลเมือง ซึ่งมีสัญชาติถูกต้องตามกฎหมาย

(3)

สำหรับคุณกิตติ สิงหาปัด การทำหน้าที่ “สื่อ” ที่มีคุณภาพตลอดหลายปีที่ผ่านมา ไม่เพียงนำเสนอเรื่องราว
ชีวิตจริงของผู้ลี้ภัยแต่ยังลงงานภาคสนามกับ UNHCR ในพื้นที่ค่ายผู้ลี้ภัยประเทศเลบานอนและประเทศตุรกี เป็นส่วนหนึ่งในการระดมทุนเพื่อช่วยเหลือโครงการ “เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างนอก” เพื่อมอบที่พักพิงแก่ผู้ลี้ภัยจำนวน 2 ล้านคน ใน 12 ประเทศ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการจัดทีมงานลงพื้นที่ประเทศยูกันดาเพื่อเป็นประจักษ์พยานถ่ายทอด การทำงานของ UNHCR ซึ่งก่อตั้งมาเพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยทุกมุมโลก สมกับการได้รับรางวัล “Stand With Refugees” คนไทยคนที่ 2 ที่ได้รับรางวัลนี้จาก UNHCR

นอกจากการเสวนาอันทรงคุณค่าแล้ว UNHCR ได้จัดนิทรรศการภาพถ่ายเนื่องในวันผู้ลี้ภัยโลก ผลงานการถ่ายภาพ โดยคุณเกรท-ธนเศรษฐ์ ตันติวโรดม ช่างภาพมืออาชีพที่อุทิศตนทุ่มเทสนับสนุนงานด้านถ่ายภาพให้กับ UNHCR ถ่ายทอดชีวิตของผู้ลี้ภัยในประเทศไทยถึง 5 ค่าย และค่ายผู้ลี้ภัยในประเทศตุรกี ซึ่งเป็นค่ายผู้ลี้ภัยที่ใหญ่ที่สุด
ของ UNHCR แม้แต่ละภาพจะต่างคน ต่างสถานที่ แต่ทุกอย่างที่ทุกคนในค่ายมีเหมือนกันคือ “แววตา” ที่หม่นเศร้า แววตาที่เต็มไปด้วยเรื่องราว ความคิด ความเจ็บปวด และความทุกข์มากมายซ่อนอยู่

เพราะภาพอาจจะทำให้คนเข้าใจง่ายกว่าการพูด คุณเกรทจึงอยากให้ภาพของเขาเข้าไปกระตุ้นความคิดให้คนรู้สึกอยากทำอะไรให้สังคมบ้าง ความคิดที่จะเปลี่ยนทัศนคติมองผู้ลี้ภัยในฐานะผู้เดือดร้อนที่ขอเคาะประตูบ้านของเราเพื่อเป็นแหล่งพักพิง สัมผัสความงามของภาพถ่ายในค่ายผู้ลี้ภัยที่อาจทำให้คุณ “เห็น” ในสิ่งที่มากกว่าได้ถึงวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ ณ ลานบริเวณหน้าโรงภาพยนตร์กรุงศรี ไอแมกซ์ ชั้น 5 สยามพารากอน

หน้า 26-27 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,379 ระหว่างวันที่ 1-4 กรกฎาคม 2561

e-book-1-503x62