จบปัญหาคลื่นแทรกรถไฟฟ้า กสทช.ยกคลื่น 2495MHz ให้ BTS ใช้ฟรี

17 ก.ค. 2561 | 04:12 น.
ในที่สุดก็จบปัญหาเรื่องรถไฟฟ้า (ไม่) มาหานะเธอสักที เมื่อสำนัก งานคณะกรรมการกิจ การกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ได้เชิญผู้เกี่ยวข้องทั้ง 3 ฝ่าย คือ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน), บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาน) และ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอส แก้ปัญหาระบบอาณัติสัญญาณที่รบกวนเส้นรถไฟฟ้าสายสีเขียว จนเกิดเหตุขัดข้องทำให้ขบวนรถล่าช้าตั้งแต่วันจันทร์ที่ 25-27 มิถุนายน 2561

โดย กสทช.แนะนำให้ BTS ปรับระบบอาณัติสัญญาณไปใช้ความถี่ 2480-2495 MHz จากเดิมที่เคยใช้คลื่นความถี่ 2400 MHz เพื่อให้บริการ W-iFi
mp20-3379-a-w อ้างพิษ Wi-Fi

เหตุผลหลักๆ ที่ขบวนรถไฟฟ้าเกิดความล่าช้า เนื่องมาจากว่า BTS ได้เปลี่ยนตัวควบคุมการเดินรถใหม่มาใช้ระบบไร้สายโดยใช้คลื่นความถี่ 2400 MHz ซึ่งเป็นคลื่นสาธารณะที่ให้บริการ Wi-Fi แม้แต่ โดรน (Drone : อากาศยานไร้คนขับ) ก็ยังใช้คลื่นนี้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะ BTS ที่คนส่วนใหญ่ใช้บริการในเมือง  เมื่อเกิดการใช้งาน Wi-Fi ในคนที่หนาแน่นสัญญาณจึงเกิดการรบกวน

ประการสำคัญที่เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นมา เป็นเพราะ BTS ไม่ยอมลงทุนสร้างระบบป้องกันการโดนสัญญาณรบกวน จึงทำให้ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้น เนื่องจากคลื่นความถี่ 2400 MHz เป็นคลื่นที่อยู่ใกล้กับย่านความถี่ 2370- 2400 MHz ซึ่งเป็นคลื่นที่ ทีโอที ได้รับสิทธิ์จาก กสทช.ถึงปี 2568 และได้อนุมัติให้ ดีแทค ทำหน้าที่เป็นคู่ค้าทางธุรกิจเพื่อมาบริหารจัดการต่อในเชิงพาณิชย์ จนเกิดปัญหาคลื่นรบกวนระหว่างกัน

เหตุคลื่นภายนอกรบกวน

ขณะที่นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส ชี้แจงว่า บริษัทอยู่ในระหว่างปรับเปลี่ยนระบบวิทยุที่ใช้กับระบบอาณัติสัญญาณในการควบคุมขบวนรถไฟฟ้า เพื่อให้มีความเสถียรมากขึ้น และเพื่อรองรับการให้บริการเส้นทางส่วนต่อขยายสายสีเขียวใต้ ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ที่จะเปิดให้บริการในช่วงปลายปี 2561 นี้ ซึ่งจะติดตั้งในทุกสถานีรวมทั้งในขบวนรถไฟฟ้าทั้ง 52 ขบวน โดยคาดว่าจะติดตั้งแล้วเสร็จในวันศุกร์ที่ 29 มิถุนายนนี้

อย่างไรก็ตามการเดินรถในช่วงระหว่างที่กำลังปรับเปลี่ยนระบบวิทยุนี้อาจจะทำให้การเดินรถไม่เสถียรเป็นเหตุให้เกิดรถขัดข้อง และเกิดความล่าช้าได้ แต่บริษัทจะพยายามป้องกันให้เกิดขึ้นให้น้อยที่สุด และจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จตามกำหนด นอกจากนี้ ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่า มีสัญญาณคลื่นวิทยุสื่อสารจากภายนอก ที่มีความเข้มสัญญาณสูงเข้ามารบกวนสัญญาณการเดินรถ โดยเฉพาะบริเวณสถานีพร้อมพงษ์ สถานีอโศก และสถานีสยาม ซึ่งเป็นสถานีเชื่อมต่อระหว่างสายสีลมและสายสุขุมวิท ทำให้บริเวณดังกล่าวไม่สามารถเดินรถได้ด้วยความเร็วตามปกติ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด จึงทำให้การเดินรถมีความล่าช้ากว่าปกติ และทำให้มีผู้โดยสารสะสมมากในสถานีต่างๆ โดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วน

คลื่น 2300MHz ไม่ได้ป่วน

ขณะที่ นายประเทศ ตันกุรานันท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเทคโนโลยี ของ ดีแทค ออกมาชี้แจงว่า การใช้งาน บนคลื่นความถี่ 2300 MHz ของ ดีแทคและทีโอทีไม่ได้ส่งคลื่นใดๆ ออกมานอกเหนือจากแบนด์ ที่ทีโอทีได้รับการจัดสรรมา ซึ่งไม่น่าเป็นสาเหตุของการขัดข้องในการให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสตามที่เป็นข่าว

ถก 3 ฝ่ายหาทางออก

ในที่สุด กสทช.โดยนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการสำนักงาน กสทช.ได้เชิญผู้บริหารของทั้ง 3 ฝ่าย คือ ทีโอที, ดีแทค และ บีทีเอส มาหาทางออกในเรื่องดังกล่าว เพราะผู้โดยสารได้รับผลกระทบจากขบวนรถไฟฟ้าที่เกิดเหตุขัดข้อง
จบที่คลื่น 2495 MHz

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.เปิดเผยภายหลังการประชุม 3 ฝ่าย คือ ทีโอที,ดีแทค และ บีทีเอส เพื่อหาทางออกสัญญาณคลื่นวิทยุรบกวนส่งผลให้ขบวนรถไฟฟ้าเส้นสีเขียวติดขัดทำให้การเดินทางล่าช้า ว่า คลื่นที่ใช้งานกับรถไฟฟ้าคือ คลื่น 2400 MHz ขึ้นไป ส่วน ทีโอที และ ดีแทค ใช้งานในย่าน 2370- 2400 MHz จะเห็นว่ามีระยะห่าง อยู่ 30 MHz ซึ่งในทางเทคนิคเมื่อดูจากระยะห่างจึงไม่น่าจะมีการรบกวนกัน

อย่างไรก็ตาม กสทช. ได้แนะแนวทางการแก้ไขปัญหาระยะยาวกับ BTS ให้ย้ายช่องความถี่สื่อสารของระบบอาณัติสัญญาณไปใช้คลื่นความถี่ช่อง 2480-2495 MHz โดยระหว่างการย้ายระบบอาณัติ สัญญาณ ได้ขอความร่วมมือ ทีโอที ให้ปิดสถานีในช่วง 2350-2370 MHz ออกไปก่อน

ด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (บีทีเอส) กล่าวว่า ขณะนี้ทาง BTS อยู่ในระหว่างการย้ายจากคลื่นความถี่เดิมที่อยู่ในช่วงต้นของคลื่น 2400 MHz ไปที่คลื่นในช่วง 2480-2495 MHz เพื่อให้ห่างจากคลื่น 2300 MHz มากขึ้น และเปลี่ยนอุปกรณ์จากเดิมที่ใช้ของ Motorola ที่มีการเปิดช่องสัญญาณรับที่กว้างเกินไปมาใช้ของ ม็อกซ่า (Moxa) ที่รับสัญญาณได้แคบกว่าและช่วยในการลดการรบกวนกับคลื่นในช่วงความถี่อื่นได้และมีประสิทธิภาพมากกว่า นอกจากนี้ยังได้มีการเพิ่มอุปกรณ์เพื่อป้องกันการรบกวนสัญญาณ (filter) โดยคาดว่า จะแล้วเสร็จภายในคืนวันศุกร์ และสามารถใช้งานได้ตามปกติในวันเสาร์

ต้องรอดูกันต่อไปว่าหลังจาก กสทช.ทำหน้าที่เป็นคนกลางจบปัญหาเรื่องระบบสัญญาณอาณัติ โดยให้ BTS ย้ายไปใช้คลื่นความถี่ 2495 MHz แบบฟรีไม่ต้องเสียค่าใบอนุญาตหวังว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์ซํ้าซากขึ้นมาอีก!!!

และถ้าเป็นไปได้ BTS สมควรเป็นอย่างยิ่งที่จะชดเชยผู้โดยสารที่เสียเวลา และโอกาส หากทำได้ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของ BTS เช่นเดียวกัน

e-book-1-503x62

.................................................................................................

รายงาน | หน้า 20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,379 ระหว่างวันที่ 1-4 กรกฎาคม 2561