ผลฟังความเห็นร่างพ.ร.บ.คณะสงฆ์ ให้มหาเถรสมาคมแต่งตั้งจาก “พระมหากษัตริย์”

28 มิ.ย. 2561 | 09:00 น.
“กฤษฎีกา”เผยผลรับฟังความเห็นร่างพ.ร.บ.คณะสงฆ์ ให้มหาเถรสมาคมได้รับการแต่งตั้งจาก “พระมหากษัตริย์”

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เผยว่า ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ...เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักงานฯ (www.krisdika.go.th) เป็นระยะเวลา 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 21 - 27 มิถุนายน 2561 และได้รับหนังสือแสดงความคิดเห็นจากประชาชนทั่วไป สำนักงานพระสงฆ์และองค์กรเครือข่าย และได้รับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมจากผู้แทนสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก ผู้แทนมหาเถรสมาคม นายสุวพันธุ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ในการตรวจพิจารณาการแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ)

kideka

สรุปความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติฯได้ว่า การแก้ไขกฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์โดยการกำหนดให้กรรมการมหาเถรสมาคมที่ได้รับการแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ จะทำให้ได้มาซึ่งพระภิกษุผู้มีความรู้มีจริยวัตรที่ดีและมีพรรษาที่เหมาะสมได้เข้ามาปกครองดูแลคณะสงฆ์ ลดการเกิดระบบอุปถัมภ์ในหมู่คณะสงฆ์ อีกทั้งจะทำให้การปกครองคณะสงฆ์ เป็นไปอย่างคล่องตัว และแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที

"อย่างไรก็ตาม ควรพิจารณาอย่างรอบคอบด้วยว่าการบัญญัติให้พระมหากษัตริย์ เป็นผู้ทรงแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคมจะเป็นการเพิ่มพระราชภาระแก่พระมหากษัตริย์โดยไม่สมควรหรือไม่ และต้องระมัดระวังไม่ให้นักการเมืองเข้ามามีอำนาจในการเสนอชื่อเพื่อแต่งตั้งหรือถอดถอนกรรมการมหาเถรสมาคม เนื่องจากนักการเมืองอาจใช้เป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์ทางการเมือง รวมทั้งควรคำนึงถึงหลักพระธรรมวินัยในการแต่งตั้งพระภิกษุผู้มีพรรษาน้อยหรือลำดับชั้นของสมณศักดิ์ ที่จะได้รับการแต่งตั้งให้มาทำหน้าที่ในการปกครองดูแลคณะสงฆ์ "

รายงานข่าวระบุด้วยว่า สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้นำความเห็นที่ทั้งหมดมาประกอบการพิจารณาด้วยแล้ว สรุปในส่วนที่เป็นสาระสำคัญคือ กรณีที่มีผู้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฯ จะเป็นการเพิ่มพระราชภาระของพระมหากษัตริย์โดยไม่สมควรนั้น คณะกรรมการกฤษฎีกา(คณะพิเศษ) ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าบทบัญญัติที่กำหนดให้พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจในการแต่งตั้ง สถาปนา และถอดถอนสมณศักดิ์ของพระภิกษุในคณะสงฆ์ รวมถึงการแต่งตั้งหรือถอดถอนกรรมการมหาเถรสมาคม นั้นเป็นพระราชอำนาจมาแต่โบราณกาลตามโบราณราชประเพณี ซึ่งรัฐธรรมนูญตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ก็ได้บัญญัติรับรองไว้ว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก กรณีนี้จึงเป็นพระราชอำนาจที่มีอยู่ตามรัฐธรรมนูญ มิใช่พระราชภาระที่กำหนดขึ้นเพิ่มเติมแต่ประการใด ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องตามโบราณราชประเพณี คณะกรรมการกฤษฎีกา(คณะพิเศษ) จึงได้แก้ไขถ้อยคำให้เหมาะสมยิ่งขึ้นเพื่อให้เป็นไปตามความมุ่งหมายดังกล่าว

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6

สำหรับความคิดเห็นของพระภิกษุและประชาชนทั่วไปที่ให้ความเห็นว่า ไม่ควรให้นักการเมืองมีอำนาจในการแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคม เนื่องจากนักการเมืองอาจใช้เป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์ทางการเมืองนั้น พิจารณาแล้วเห็นว่าการที่กำหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ นั้น เป็นบทบัญญัติที่จะต้องกำหนดขึ้นในกรณีที่พระมหากษัตริย์ มีพระบรมราชโองการ ซึ่งจำเป็นต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ เช่นเดียวกับกฎหมายทั่วไปที่ได้กำหนดให้มีบทบัญญัติในลักษณะเดียวกันนี้เช่นกัน

e-book-1-503x62