เปิดอินเตอร์ฯบิดดิ้ง 'อู่ตะเภา' สัญญาเดียว!

26 มิ.ย. 2561 | 09:54 น.
260661-1646

การเปิดสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (Market Sounding) เป็นครั้งแรก ของกองทัพเรือ (15 มิ.ย. 61) เพื่อเปิดให้เอกชนเสนอตัวเข้าร่วมพัฒนา พื้นที่กว่า 6,500 ไร่ สนามบินอู่ตะเภา ให้เป็นเมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท ในรูปแบบการร่วมลงทุนกับภาครัฐ (พีพีพี) ลักษณะอินเตอร์เนชั่นแนล บิดดิ้ง ที่จะเปิดประมูลสัญญาเดียวรวม 4 กิจกรรม ได้แก่ อาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 , อาคารคลังสินค้า , อาคารขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์ , เขตประกอบการค้าเสรี (ฟรีเทรดโซน) ศูนย์ธุรกิจการค้า ส่วนอีกสัญญาจะเป็นเฉพาะเรื่องของศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO)

การทำมาร์เก็ต ซาวดิ้ง ในครั้งนี้ มีการเชิญนักลงทุนชั้นนำจากทั่วโลกเข้าร่วม อาทิ ผู้ลงทุนและบริหารสนามบิน สถาบันการเงิน สถานทูต กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เข้าร่วมรับฟังกว่า 200 คน อาทิ AviAlliance Gmbh Of Germany , GMR Group-Airport , GVK Airport India , VINCI Airport Singapore , China State Construction Engineering , EGIS Group (ฝรั่งเศส) , TAV Airport Holdings , AGP Corporation (ญี่ปุ่น)


TP11-3280-AB

พล.ร.อ.นริศ ประทุมสุวรรณ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ทร.) กล่าวว่า มีแนวคิดเปิดโอกาสให้นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้ามาร่วมลงทุน (พีพีพี) โดยจะศึกษารูปแบบแนวทางร่วมทุน ควบคู่กับการจัดรับฟังความคิดเห็นถึงรูปแบบและแนวทางการร่วมลงทุนที่เหมาะสมที่สุด ปัจจุบัน กองทัพเรือบริหารสนามบินในรูปแบบของชาร์เตอร์ไฟลต์มานาน คาดว่าปีนี้จะมีผู้โดยสารถึง 2 ล้านคน และจะรองรับได้ 4 ล้านคน ตามศักยภาพที่มีอยู่เดิม แต่เรามองถึงการขยายสนามบินไปอีก เป็น 15 ล้านคน ในเฟสแรก และศักยภาพรองรับได้ถึง 60 ล้านคน จึงเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนพีพีพี

ส่วนรูปแบบก็กำลังพิจารณาว่า จะรวมการประกวดราคาเป็นสัญญาเดียว (ข้อเสนอของบริษัทที่ปรึกษา) ซึ่งเอกชนจะไปทำคอนซอเตียมเข้านำเสนอ เพื่อร่วมออกแบบก่อสร้างและบริหารสนามบิน หรือจะแยกประมูลเป็นรายสัญญาตามกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะมีการพัฒนาขึ้นในสนามบิน ซึ่งต้องรอรับฟังความคิดเห็นที่เกิดขึ้นก่อน

 

[caption id="attachment_293204" align="aligncenter" width="354"] คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก คณิศ แสงสุพรรณ
เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก[/caption]

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวว่า รัฐบาลมองการพัฒนาศักยภาพของสนามบินอู่ตะเภา แบ่งเป็น 3 ระยะ 15 ล้านคน ในช่วง 5 ปี , 30 ล้านคน ในช่วง 10 ปี และ 60 ล้านคน ในช่วง 15 ปี การลงทุน PPP อาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 ของสนามบินอู่ตะเภา ตามแผนจะประกาศเชิญชวนให้เอกชนเข้ามาเสนอตัวได้ในช่วงเดือน ต.ค. 2561 คาดว่าจะได้รายชื่อเอกชนที่จะเข้ามาร่วมทุนได้ราวต้นปี 2562 พัฒนาแล้วเสร็จในปี 2566 ที่จะเสร็จพร้อมกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และขณะนี้ เตรียมจะมีการลงนามระหว่างการบินไทยและแอร์บัสในการพัฒนา MRO ในพื้นที่นี้ด้วย

ไม่เพียงการลงทุนในสนามบินอู่ตะเภา มูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท ที่จะเกิดขึ้น แต่ยังมีการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานมูลค่าราว 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (6-7 แสนล้านบาท) ที่จะเกิดขึ้น อาทิ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน , รถไฟรางคู่ , ท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 , ท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3


appMP26-3059-A

การลงทุนที่จะเกิดขึ้นไม่เพียงรองรับการเชื่อมโยงเข้าสู่สนามบินอู่ตะเภา นำไปสู่การพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออกเท่านั้น แต่ยังทำให้เกิดการขยายตัวของเมือง ทั้งในระยะทาง 10 กิโลเมตร รอบสนามบิน ครอบคลุมสัตหีบ-บ้านฉาง และระยะทาง 30 กิโลเมตร จากสนามบิน (พัทยา-ระยอง) ซึ่งจะทำให้บริเวณเหล่านี้เป็นเขตตัวเมืองใหม่ภายใน 15 ปี เนื่องจากการเดินทางโดยรถไฟความเร็วสูงจากพัทยา-ระยอง-แหลมฉบัง จะใช้เวลาไม่ถึง 20 นาที ทำให้ในขณะนี้ ทางสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ต้องวางแผนการคมนาคมขนส่งในระยะ 10-30-60 กม. รอบสนามบินและกรมโยธาธิการและผังเมือง ก็ต้องทำผังการใช้พื้นที่ตามแผนที่วางไว้


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,375 วันที่ 17-20 มิ.ย. 2561 หน้า 15

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
คลอด TOR ศูนย์ซ่อมอู่ตะเภา! สร้างมั่นใจ 'แอร์บัส' หนุนเมืองการบินตะวันออก 2 แสนล้าน
‘นายกฯ’ จับมือ “AIRBUS” MOU ศูนย์ซ่อมบำรุงอู่ตะเภา


e-book-1-503x62