กรุงศรีคาดบาทมีแนวโน้มแข็งค่าในครึ่งหลังปีนี้ แม้เฟดขึ้นดอกเบี้ยตามคาด

14 มิ.ย. 2561 | 03:45 น.
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีความเห็นต่อผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่ลงมติด้วยเสียงเอกฉันท์ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ช่วง 1.75-2.00% จาก 1.50-1.75% ตามความคาดหมายของตลาด หลังสิ้นสุดการประชุมวันที่ 12-13 มิถุนายน โดยเฟดมีมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ภาวะตลาดแรงงาน การใช้จ่ายภาคครัวเรือน และการลงทุน ทั้งนี้ การขึ้นดอกเบี้ย 0.25% นับเป็นการปรับขึ้นครั้งที่ 7 ของวัฎจักรคุมเข้มนโยบายการเงินซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่เดือนธันวาคม 2558 ขณะที่สัญญาอัตราดอกเบี้ยล่วงหน้าบ่งชี้ว่ามีโอกาสสูงกว่า 80% ที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งในเดือนกันยายน 2561

ในช่วงเปิดการซื้อขายในประเทศเช้านี้ เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าที่ระดับ 32.13 ต่อดอลลาร์ หลังถ้อยแถลงของนายพาวเวลล์ ประธานเฟดขาดความชัดเจนว่า ตลาดแรงงานที่ตึงตัวจะส่งผลให้เงินเฟ้อเร่งตัวหรือไม่ ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะ 10 ปีของสหรัฐฯ ไม่สามารถยืนเหนือระดับ 3.00% ได้ ขณะที่สกุลเงินสำคัญต่างๆ ฟื้นตัวขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์ท่ามกลางการซื้อขายที่ผันผวน ส่วนราคาทองคำขยับขึ้นเพียงเล็กน้อย ทั้งนี้ เงินบาทแข็งขึ้นราว 1.3% ในปีนี้ หลังจากกระแสเงินทุนไหลออกจากตลาดหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง ขณะที่แรงซื้อของนักลงทุนต่างชาติในตลาดพันธบัตรแผ่วลง ส่วนทิศทางสกุลเงินภูมิภาคในปีนี้เคลื่อนไหวค่อนข้างกระจัดกระจายขาดความสอดคล้องกัน

เป็นที่น่าสนใจว่าแม้คาดการณ์เศรษฐกิจของเฟดบ่งชี้ว่า เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปีนี้ และคาดว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 3 ครั้งในปี 2562 แต่ค่าเงินดอลลาร์กลับไม่ได้รับแรงหนุนอย่างมีนัยสำคัญ สะท้อนความกังวลของตลาดเกี่ยวกับส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนระยะ 10 ปีและ 2 ปี ซึ่งปรับตัวสู่ระดับแคบสุดนับตั้งแต่ปี 2550 โดยเส้นอัตราผลตอบแทนที่แบนราบ (Flattening Curve) มักเป็นสัญญาณเตือนว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจเผชิญความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยในระยะข้างหน้า หากต้นทุนการกู้ยืมปรับตัวขึ้นเร็วเกินไป ยิ่งไปกว่านั้น เฟดคาดว่าเงินเฟ้อของสหรัฐฯ จะปรับตัวเหนือเป้าหมายที่ 2% โดยแตะระดับ 2.1% ในปีนี้ ซึ่งเป็นการตอกย้ำว่าเฟดกำลังเผชิญความท้าทายในการดำเนินนโยบาย และยอมรับได้หากเงินเฟ้อทะลุเป้าหมายไประยะหนึ่ง อนึ่ง เรายังคงมุมมองเช่นเดิมว่าเงินบาทมีแนวโน้มกลับมาแข็งค่าอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ โดยเฉพาะหากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ส่งสัญญาณชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับการเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจากระดับ 1.50% ในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี ตลาดในภาพรวมและกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายมีความเสี่ยงที่จะผันผวนสูงขึ้น ส่วนปัจจัยชี้นำสำคัญสำหรับตลาดการเงินโลกในช่วงสั้น ได้แก่ การประชุมธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ในค่ำวันนี้ และการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ในวันที่ 15 มิถุนายน e-book-1-503x62-7