รื้อเกณฑ์ตั้งเขตปลอดอากร กรมศุลกากรเคาะแล้วใช้ก.พ.ปีนี้

02 ก.พ. 2559 | 01:00 น.
กรมศุลกากรทบทวนเกณฑ์ตั้งเขตปลอดอากร คาดประกาศใช้ก.พ.59 นี้หลังของเก่าใช้มานาน 12 ปี พร้อมปรับสิทธิพิเศษทางศุลกากรเพื่อสนับสนุนนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษของรัฐบาล พร้อมดัน3 ด่านต้นแบบ ใช้ระบบไร้กระดาษ "มุกดาหาร-แม่สอด-สะเดา" ลั่นปี59 เดินหน้าแผนอุดรูรั่วจัดเก็บรายได้ ทำพิกัดภาษี และอำนวยความสะดวกทางการค้า

นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร ให้สัมภาษณ์พิเศษ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า เพื่อให้สอดรับกับนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษของรัฐบาล กรมศุลกากรได้สั่งการให้มีการทบทวนปรับปรุงเกณฑ์การตั้งเขตปลอดอากร(Free Zone)แทนประกาศการจัดตั้งเขตปลอดอากรที่ปัจจุบันใช้มานาน 12 ปีแล้ว(ใช้ตั้งแต่มกราคม 2547) ซึ่งขณะนี้มีผู้ก่อตั้งเขตปลอดอากร 86 เขตกระจายตัวอยู่ในหลายพื้นที่(แยกเป็นผู้ประกอบการรายเดียว 46 เขต และผู้ประกอบการหลายราย 40 เขต) ไม่สอดคล้องกับนโยบายการรวมกลุ่ม (คลัสเตอร์)เพื่อดำเนินธุรกิจ คาดว่าจะประกาศใช้ได้เดือนกุมภาพันธ์ 2559 นี้

"การกระจายตัวของเขตปลอดอากรในหลายพื้นที่ ทำให้ยากแก่การควบคุม จึงได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ใหม่ เพื่อรองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษและคลัสเตอร์ เป็นการปรับปรุงหลักเกณฑ์เพื่อส่งเสริมให้เป็นเขตปลอดอากรขนาดใหญ่" อธิบดีกรมศุลกากรกล่าว

สำหรับการทบทวนปรับปรุงเกณฑ์การตั้งเขตปลอดอากรใหม่ ประกอบด้วย 1. ส่งเสริมการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรของเขตปลอดอากรในการผลิต การสร้างนวัตกรรมที่มีการวิจัยและพัฒนาเชิงสร้างสรรค์ การสร้างมูลค่าเพิ่มภาคอุตสาหกรรม/เกษตรกรรม/พาณิชยกรรม ,ส่งเสริมการรวมกลุ่มการค้าและการลงทุนในเขตพื้นที่ (Area Base) ที่มีการรวมกลุ่มตามคลัสเตอร์ที่รัฐบาลส่งเสริม,ส่งเสริมกิจการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม, การลงทุนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และชายแดนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ 2. ปรับปรุงคุณสมบัติผู้ขอจัดตั้งเขตปลอดอากร ซึ่งจะต้องเป็นนิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่น้อยกว่า 60 ล้านบาท (กรณีขอจัดตั้งในเขตเศรษฐกิจพิเศษหรือพื้นที่ชายแดนภาคใต้ให้เหลือ 10 ล้านบาท) นอกจากนี้ ผู้ขอจัดตั้งต้องทำข้อมูลการนำของเข้า-ออก/การเคลื่อนย้ายสินค้าภายในเขตและภายในประเทศของผู้ประกอบกิจการในเขตปลอดอากรทุกรายในรูปแบบระบบอิเล็กทรอนิกส์

อนึ่ง เขตปลอดอากร หรือ Free Zone เป็นเขตพื้นที่ที่กรมศุลกากรอาศัยอำนาจตามมาตรา 97 ตรี แห่งพ.ร.บ.กรมศุลกากร พ.ศ.2469 จัดตั้งขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกการประกอบอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือกิจการที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยของ/สินค้าที่นำเข้ามาในเขตปลอดอากรจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางอากร (อากรขาเข้า)โดยการผลิตต้องเป็นการผลิตเพื่อการส่งออก ซึ่งประกาศการให้จัดตั้งเขตปลอดอากรใช้มาตั้งแต่ต้นปี 2557

นอกจากนี้ กรมศุลกากรอยู่ระหว่างพัฒนาประสิทธิภาพของด่านที่ตั้งตามเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยระยะแรกที่จะดำเนินการใน 6 พื้นที่ 7 ด่านศุลกากร ประกอบด้วย 1 .พื้นที่อ.แม่สอด จ.ตาก(ด่านศุลกากรแม่สอด)2.พื้นที่จ.มุกดาหาร(ด่านศุลกากรมุกดาหาร) 3.พื้นที่อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว (ด่านศุลกากรอรัญประเทศ) 4.พื้นที่อ.คลองใหญ่ จ.ตราด (ด่านศุลกากรคลองใหญ่)5.พื้นที่อ.สะเดา จ.สงขลา (ด่านศุลกากรสะเดาและด่านศุลกากรปาดังเบซาร์)โดยในส่วนด่านศุลกากรสะเดา มีพื้นที่ถึง 500 ไร่ 6.พื้นที่จ.หนองคาย (ด่านศุลกากรหนองคาย) ทั้งนี้ กรมมีแผนทำด่านต้นแบบ 3 ด่านในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ คือ ด่านศุลกากรมุกดาหาร ด่านแม่สอด และด่านสะเดา โดยขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ

ส่วนระยะที่สอง 4 พื้นที่ 6 ด่านศุลกากร 1.พื้นที่ชายแดนจังหวัดเชียงราย (ด่านศุลกากรเชียงของ ด่านศุลกากรเชียงแสน ด่านศุลกากรแม่สาย) 2.พื้นที่ชายแดนจ.กาญจนบุรี (ด่านศุลกากรสังขละบุรี : บ้านพุน้ำร้อน) 3.พื้นที่ชายแดนจ.นครพนม (ด่านศุลกากรนครพนม) และ 4.พื้นที่ชายแดนจ.นราธิวาส (ด่านศุลกากรสุไหงโก-ลก)

อธิบดีกรมศุลกากร ยังได้กล่าวถึง การจัดเก็บรายได้ของกรมศุลกากรไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2559 (ต.ค.-ธ.ค. 58) และแนวโน้มอีก 3 ไตรมาสที่เหลือ ว่า ไตรมาสแรกปีนี้ จัดเก็บรายได้ได้รวม 133,270 ล้านบาท เป็นรายได้ที่กรมศุลกากรจัดเก็บให้หน่วยงานอื่น 102,320 ล้านบาท เป็นรายได้ของกรมศุลกากร 30,949 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 550 ล้านบาทหรือประมาณ 1.8 %เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนสูงกว่า 620 ล้านบาท ส่วนแนวโน้มการจัดเก็บ 3ไตรมาสที่เหลือ(ม.ค.-ก.ย.59) ต้องดูทิศทางการนำเข้าว่าการคาดการณ์นำเข้าจะขยายตัว 5% จะทำอะไรได้บ้าง

อย่างไรก็ตาม ผลจากการดำเนินการตามเขตเศรษฐกิจพิเศษ การเจรจาเอฟทีเอไทย-ปากีสถาน ,ไทย-ตุรกี ที่จะมีผลบังคับส่งผลให้กรมศุลกากรจัดเก็บรายได้ได้ลดลง รวมถึงการปรับโครงสร้างภาษีระยะที่ 2 ที่จะลดลงอีกก็จะมีผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้

"การจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมาจากการที่ผู้นำเข้าเร่งรัดเรื่องภาษีรถยนต์ ชำระมากขึ้น และสินค้านำเข้าต่างๆ ทั้งรถยนต์ ส่วนประกอบ อุปกรณ์ประกอบ ที่เพิ่มขึ้นเกือบ 28% รองจากรถยนต์เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรมทำให้การจัดเก็บรายได้ของกรมศุลกากรเกินเป้า"อธิบดีกรมศุลกากรกล่าว

นโยบายของกรมศุลกากรในปี 2559 แม้ว่าแนวโน้มการจัดเก็บรายได้อีก 3 ไตรมาสที่เหลืออาจเก็บไม่ได้ตามเป้า แต่สิ่งที่กรมศุลกากรต้องทำคือ อุดรูรั่วไหล เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บ ปราบปรามการลักลอบหลีกเลี่ยงสินค้าต่างๆ ทำฐานข้อมูล ทำพิกัดให้แน่ชัด ทำราคาที่เป็นราคาทดสอบ เป็นราคาอ้างอิงได้ถึงต้นทุนในการนำเข้า อาทิ ต้นทุนจากประเทศต้นทาง เช่น สินค้าเกษตรบางชนิดกิโลกรัมละ 30 บาท แต่เวลาสำแดงอาจสำแดง 10 บาทหรือ 5 บาท หากทางกรมมีพิกัดที่แน่นอน มีราคาที่แน่นอนเป็นราคาทดสอบว่าต้นทุนจากประเทศต้นทางอยู่ที่เท่าไรเพื่อให้เจ้าหน้าที่หน้างานได้ตรวจสอบ ก็จะช่วยอุดช่องโหว่ดังกล่าวได้

ในเรื่องการตรวจสอบจะใช้ไอทีเข้ามาดูมากขึ้น ระบบเอกซเรย์ ระบบซีซีทีวี ซึ่งจะเพิ่มจำนวนของซีซีทีวีที่มีอยู่ 1.5 พันตัว จะซื้อเพิ่มอีก 600 ตัวไปเพื่อติดตามด่านพรมแดน ชายแดนต่างๆ ซีซีทีวีจะได้ดูเรื่องการลักลอบ การตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ จะได้ไม่มีข้อโต้แย้งเวลาเจ้าหน้าที่ตรวจสินค้า หรือนำของมาเทตรวจสอบก็จะมีซีซีทีวีจับอยู่ ทำให้การทำงานโปร่งใส และตรวจสอบกันได้ ลดเรื่องของการปล่อยสินค้าโดยมิชอบ รวมทั้งที่ท่าอากาศยานด้วย ก็จะใช้ตรงนี้เข้ามาร่วมกับทางการท่าฯและตรวจคนเข้าเมือง

อีกเรื่องคือการอำนวยความสะดวกทางการค้า ทางกรมเข้าไปดูแลเรื่องอันดับการค้าระหว่างประเทศในเรื่องการอำนวยความสะดวกทางการค้า ซึ่งธนาคารโลก(เวิลด์แบงก์)จะเข้ามาทำ Doing Business ในการตรวจสอบสินค้าตั้งแต่เข้ามาจนถึงของออก ซึ่งกรมศุลกากรได้ร่วมมือกับกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์ การท่าเรือ ฯลฯ ตั้งแต่การกรอกเอกสาร อบรมผู้ประกอบการเรื่องวิธีกรอกเพื่อให้เข้าใจและดำเนินการง่ายขึ้น

ในส่วนของแผนปฏิรูปภาษี กรมศุลกากรส่งแผนให้กระทรวงการคลังเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ปรับลดภาษีสินค้าอีก 56 ชนิดสินค้า จำนวน 1,100 รายการ คาดว่ากระทบการจัดเก็บรายได้ประมาณ 3 พันล้านบาท จากที่ก่อนหน้านี้ปรับลดภาษีสินค้าขั้นต้นไปแล้วกว่า 1,532 รายการ สูญเสียอากรนำเข้าประมาณ 6 พันล้านบาท

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,127
วันที่ 31 มกราคม - 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559