เปิดใจ 'กอบศักดิ์ ภูตระกูล' ดันระเบียงเศรษฐกิจเชื่อม 'ท่าเรือแหลมฉบัง'

08 มิ.ย. 2561 | 05:24 น.
080661-1154 07-3347-29

เปิดสัมมนารับฟังความเห็นจากภาคเอกชน (Market Sounding) ครั้งที่ 2 ผ่านไปเรียบร้อยแล้ว สำหรับ โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 ในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) เพื่อแสดงความมั่นใจให้นักลงทุนที่เข้ารับฟังเกือบ 80 ราย

 

[caption id="attachment_288055" align="aligncenter" width="469"] กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กอบศักดิ์ ภูตระกูล
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี[/caption]

ดีเดย์ประกวดราคาท่าเรือ ส.ค. นี้
การเปิดรับฟังความเห็นนักลงทุน ครั้งที่ 2 นี้ 'กอบศักดิ์ ภูตระกูล' รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการติดตามโครงการพัฒนาในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นประธานพิธี พร้อมกับกล่าวปาฐกถาพิเศษถึงความพร้อมและความคืบหน้าโครงการ ก่อนที่จะแถลงต่อสื่อมวลชนว่า อยู่ระหว่างการเร่งขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในรัฐบาลนี้ โดยท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 กำหนดเปิดขายเอกสารประกวดราคาราวเดือน ส.ค. 2561 รูปแบบการประมูลนานาชาติ หรือ อินเตอร์เนชั่นแนลบิดดิ้ง คาดว่าจะได้ตัวผู้รับจ้างเดือน ธ.ค. 2561 ก่อนที่จะเริ่มงานก่อสร้างในเดือน ก.พ. 2562 โดยมีมูลค่าการลงทุนระหว่าง 9.5 หมื่น - 1 แสนล้านบาท


12-3372

โดยการพัฒนาอีอีซีนี้ถือเป็นจุดศูนย์กลางดึงดูดนักลงทุนสนองความต้องการที่หลายประเทศมุ่งลงทุนในแถบเอเชียมากขึ้น จึงเร่งผลักดัน 8 โครงการ โดยโครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน เปิดรับฟังความเห็นเอกสารประกวดราคาไปแล้วก่อนที่จะมีโครงการที่ 2 และ 3 ต่อเนื่องกันไป ซึ่งรัฐบาลมีความตั้งใจเปิดประมูลให้แล้วเสร็จในรัฐบาลนี้

ประกอบกับช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมควบคู่ไปกับการพัฒนาพื้นที่อีอีซี โดยเร่งเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนได้เข้ามาช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาไปสู่ความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะเพิ่มความสามารถในการขนส่งตู้สินค้าจาก 11.1 ล้านทีอียูต่อปี เป็น 18.1 ล้านทีอียูต่อปี เพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งรถยนต์จาก 2 ล้านคันต่อปี เป็น 3 ล้านคันต่อปี เพิ่มสัดส่วนการขนส่งตู้สินค้าผ่านท่าเรือโดยรถไฟทั้งหมดของท่าเรือจาก 7% เป็น 30% ลดต้นทุนค่าขนส่งรวมของประเทศจาก 14% ของจีดีพี เหลือ 12% ของจีดีพี และประหยัดเงินค่าขนส่งได้ถึง 2.5 แสนล้านบาท


07-3347-28

เร่งดันระเบียง ศก. เชื่อมโยง
รัฐบาลยังให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจต่าง ๆ เพื่อให้การเชื่อมโยงโครงข่ายทั้งหมดกับท่าเรือแหลมฉบังเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ที่จะเชื่อมกับท่าเรือน้ำลึกทวายในเมียนมาและสามารถเชื่อมออกไปสู่กัมพูชา เช่นเดียวกับระเบียงเศรษฐกิจแนว E-W ทั้งด้านบนและด้านล่างของไทย นอกเหนือจากจะเชื่อมกับเมียนมาไปสู่บังกลาเทศและอินเดียให้เป็นระเบียงเศรษฐกิจเดียวกันได้

ทั้งนี้ ญี่ปุ่นแสดงความสนใจอย่างชัดเจน ที่จะให้ไทยเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงจากท่าเรือน้ำลึกทวายในเมียนมา หรือ ท่าเรือติลาวา และเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด ซึ่งสามารถขนส่งไปยังท่าเรือแหลมฉบังได้ทั้งสิ้น โดยรัฐบาลมีแผนลงทุนรถไฟทางคู่แล้วกว่า 4 แสนล้านบาท นอกเหนือจากมอเตอร์เวย์และงานโครงสร้างพื้นฐานด้านอื่น ๆ


07-3347-30

หนุนความร่วมมือ 3 ประเทศ
โดยฝ่ายญี่ปุ่นร้องขอให้รัฐบาลไทยเร่งเข้าไปช่วยขับเคลื่อนท่าเรือทวายในเมียนมา เมื่อแล้วเสร็จจะส่งผลให้มีการใช้ท่าเรือแหลมฉบังอีกรูปแบบหนึ่ง ส่วนหนึ่ง คือ ประเทศไทย ส่วนหนึ่ง คือ อินโดจีน และการขนส่งสินค้าทะลุจากมหาสมุทรแปซิฟิกไปมหาสมุทรอินเดีย ได้ให้ท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือทวายเชื่อมโยงกัน โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ย้ำเสมอว่า อีอีซีเป็นพื้นที่นำร่อง หากสำเร็จจะพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจอื่น ๆ ต่อเนื่องไป เนื่องจากจะต้องมีการพัฒนากฎหมายออกมาขับเคลื่อนให้สามารถบริหารจัดการพื้นที่ต้นแบบของไทยได้อย่างแท้จริง บริหารจัดการดูแลนักลงทุนได้ เช่น ท่าเรือเซี่ยงไฮ้ของจีน และอีกหลายแห่งของโลก

สำหรับญี่ปุ่นคิดว่า การขับเคลื่อนท่าเรือน้ำลึกทวายให้เกิดขึ้นเป็นการพัฒนาแนวระเบียงเศรษฐกิจ E-W CORRIDOR ระหว่างแปซิฟิกกับอินเดียให้ได้ จะช่วยญี่ปุ่นส่งออกสินค้าไปยุโรปได้รวดเร็วขึ้น ซึ่งฝ่ายญี่ปุ่นจะขอหารือว่า จะร่วมมือกับไทย-เมียนมา พัฒนาท่าเรือทวายได้อย่างไร แต่สิ่งที่ได้ คือ มูลค่าแหลมฉบังจะเพิ่มขึ้น ปัจจุบัน รัฐบาลใหม่ของเมียนมาอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อจะมองหาโครงการสำคัญในเมียนมาออกมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไป ซึ่งท่าเรือน้ำลึกทวายจัดอยู่ในแผนของเมียนมาที่จะส่งผลต่อต่อประเทศไทยอีกด้วย


Leaflet_140759_002

ปัจจุบัน รัฐบาลไทยลงทุนก่อสร้างถนนจากแม่สอดไปเมืองเมียวดี เมาะละแหม่ง กอกาเร็ก ย่างกุ้ง รองรับไว้แล้วในระเบียงเศรษฐกิจด้านบนเพื่อเชื่อมต่อทางถนนนำร่องไปก่อน ซึ่งรัฐบาลต่อไปจะเป็นผู้ตัดสินใจขับเคลื่อนโครงการเหล่านี้ต่อไป แต่ระยะทางไกลที่จะต้องผ่าน สปป.ลาว-เวียดนาม จึงเห็นว่า ผ่านเฉพาะในประเทศไทยออกแหลมฉบังจะง่ายและรวดเร็วกว่า ซึ่งแหลมฉบังออกสู่ทวายจะมีระยะทางสั้นกว่าญี่ปุ่น เล็งเห็นความสำคัญ จึงพยายามนำการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวนี้ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว


……………….
สัมภาษณ์พิเศษ : กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,372 วันที่ 7-9 มิ.ย. 2561 หน้า 12

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ท่าเรือแหลมฉบังฟังความเห็นเอกชนรอบ 2 รุกเดินหน้าหาผู้ลงทุนเฟส3
กทท.เปิดฟังความเห็นท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3เอกชน230รายร่วมวง


e-book-1-503x62-7