5 พรรคใหญ่สมาชิกวูบ! ประชาธิปัตย์เหลือ 9.7 หมื่น - เพื่อไทย 9 พันคน

04 มิ.ย. 2561 | 08:18 น.
 

กกต.เผย 46 พรรคจาก 69 พรรคแจ้งยอดยืนยันสมาชิกหลังครบกำหนด ปชป.สมาชิกหดเหลือแค่ 9.7 หมื่น จากยอดเดิม 2.8 ล้านคน ขณะที่ “เพื่อไทย” เหลือ 9,705 จากเดิม 1.34 แสนคน ภูมิใจไทยแค่ 934 จาก 1.53 แสนคน

จำนวนสมาชิกพรรค การเมืองเก่า โดยเฉพาะพรรคใหญ่ๆ หดหายไปจำนวนมาก อย่างน่าใจหาย หลังเปิดโอกาสให้สมาชิกพรรคแจ้งยืนยันการเป็นสมาชิกในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา และใช้เวลา 1 เดือนในการรวบรวมแจ้งยอดต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ถือเป็นวันสุดท้ายของการแจ้งยืนยันสมาชิกพรรคการ เมืองต่อสำนักงาน กกต. โดยพบว่าในจำนวน 69 พรรคการเมืองที่ยังดำเนินกิจการอยู่ มี 46 พรรคที่แจ้งยืนยันสมาชิกแล้ว ไม่ยืนยัน 23 พรรค ซึ่งใน 46 พรรคที่ยืนยันนั้น มี 5 พรรคที่เหลือแต่หัวหน้าพรรคเพียงคนเดียว และมีหนังสือแจ้งว่า “ไม่มีสมาชิกยืนยัน”
236523565
“ปชป.-พท.” สมาชิกหดอื้อ

สำหรับพรรคที่มีการยืนยันสมาชิกสูงสุดคือ พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) จำนวน 97,755 คน จากยอดเดิม 2,895,747 คน รองลงมาคือพรรคเพื่อไทย(พท.) 9,705 คน จากยอดเดิม 134,748 คน พรรคชาติพัฒนา 5,583 คน จากยอดเดิม 19,563 คน พรรคชาติไทยพัฒนา 2,886 คน จากยอดเดิม 26,022 คน พรรคภูมิใจไทย 934 คน จากยอดเดิม 153,071 คน และพรรคความหวังใหม่ 2,168 คน จากยอดเดิม 13,295 คน เป็นต้น

ส่วน 5 พรรคที่เหลือแต่หัวหน้าพรรคคนเดียวและมี หนังสือแจ้งมาว่า “ไม่มีสมาชิกยืนยัน” ประกอบด้วย พรรคเสรีนิยม พรรคชาติประชาธิปไตยก้าวหน้า พรรคประชาสันติพรรคพลังประชาธิปไตย และพรรคมาตุภูมิ ของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตหัวหน้าคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ซึ่งการที่ 5 พรรคไม่เหลือสมาชิก และอีก 23 พรรคที่ไม่รายงานการแจ้งยอดสมาชิกพรรคตามกำหนดเวลา ก็อาจมีผลให้ทั้ง 28 พรรคต้องสิ้นสภาพการเป็นพรรคการเมืองตามที่กฎหมายกำหนด

ทั้งนี้ 46 พรรคการเมืองที่รายงานยอดสมาชิกมาพรรค ประกอบด้วย พรรคประชาธิปไตยใหม่ พรรคเสรีรวมไทย พรรคชาติพัฒนา พรรคคนธรรมดาแห่งประเทศไทย พรรคพลังประเทศไทย พรรคทวงคืนผืนป่าประเทศไทย พรรคเสรีนิยม พรรคประชาธิปไตยเพื่อประชาชน พรรคชาติประชาธิปไตยก้าวหน้า พรรคเพื่อสหกรณ์ไทย พรรคมาตุภูมิ พรรคพลังท้องถิ่นไทย พรรคภูมิใจไทย พรรคพลังไทยรักชาติ พรรคยางพาราไทย พรรคธรรมาภิบาลสังคม พรรคร่วมพัฒนาชาติไทย พรรคเพื่อไทย พรรคกสิกรไทย พรรคคนไทย

พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคประชาธิปัตย์ พรรคประชาสันติ พรรคเครือข่ายชาวนาแห่งประเทศไทย พรรคภราดรภาพ พรรคไทยรวมพลัง พรรคเพื่อสันติ พรรคไทยรักธรรม พรรคพลังประชาธิปไตย พรรคสังคมประชาธิปไตยไทย พรรคความหวังใหม่ พรรคเพื่อแผ่นดิน พรรคประชากรไทย พรรคมหาประชาชน พรรคประชาราช พรรคไทยมหารัฐพัฒนา พรรคกิจสังคม พรรคอนาคตไทย พรรครักษ์ธรรม พรรคเพื่อธรรม พรรคเพื่อชีวิตใหม่ พรรคมหาชน พรรคเพื่อชาติ พรรคประชาสามัคคี พรรคประชาธรรม และพรรคพลังสหกรณ์
GP-3371_๑๘๐๖๐๔_0009 รับแจ้งตั้ง 63 พรรคใหม่

ขณะที่การยื่นคำขอจดจองจัดตั้งพรรคการเมืองนั้น ขณะนี้มียอดรวม 106 พรรค มีการออกหนังสือรับแจ้งการเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมือง หรือแบบพ.ก.7/2 แล้ว 63 พรรค อยู่ระหว่างเสนอออกแบบ 7/2 จำนวน 8 พรรค อยู่ระหว่างการแจ้งให้แก้ไข 12 พรรค อยู่ระหว่างการตรวจสอบ 21 พรรค และขอยกเลิกคำขอ 2 พรรค ส่วนพรรคที่ยื่นคำขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองแล้วและอยู่ระหว่างการตรวจสอบเอกสารหลักฐานของนายทะเบียนพรรคการเมือง มีทั้งหมด 7 พรรคคือ พรรคทางเลือกใหม่ พรรคมติประชา พรรคประชาภิวัฒน์ พรรครวมใจไทย พรรคพลังพลเมืองไทย พรรคประชาธรรมไทย และพรรคพลังชาติไทย

แหล่งข่าวระบุว่า จำนวนสมาชิกที่พรรคการเมืองแจ้งต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองนั้น แม้ภาพรวมจะมองได้ว่าพรรคสามารถปฏิบัติตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ได้ ไม่ติดขัดมากนักตามที่มีการร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ แต่ตามจำนวนสมาชิกที่แต่ละพรรคแจ้งโดยเฉพาะพรรคใหญ่ที่มีสมาชิกหลักหมื่น ไม่อาจบ่งชี้ได้ว่า เป็นจำนวน หรือเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วน ที่จะร่วมกันจัดตั้งเป็นตัวแทนประจำจังหวัดในเขตเลือกตั้งละ 101 คน ในแต่ละจังหวัดหรือจัดตั้งเป็นสาขาพรรค ที่ต้องมีสมาชิก 500 คนขึ้นไป ซึ่งตัวแทนประจำจังหวัดและหัวหน้าสาขาจะเป็นผู้ไปร่วมเป็นคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครของพรรค เพื่อไปดำเนินการจัดไพรมารีโหวตในแต่ละเขตเลือกตั้งในจังหวัดของทั้ง 77 จังหวัดไว้ก่อน ตามที่กฎหมายพรรคการ เมืองอนุญาตไว้

นอกจากนี้แม้จำนวนสมาชิกที่พรรครายงานมาจะมีมากพอควร แต่พรรคก็ไม่อาจจะจัดประชุมใหญ่เพื่อแก้ไขข้อบังคับพรรค เพื่อจัดทำคำประกาศอุดมการณ์ทางการเมืองและนโยบายของพรรคหรือหาสมาชิกพรรคเพิ่มเติม ในกรณีที่ยังมีไม่ครบ 5,000 คน ตามพ.ร.บ.พรรค การเมืองใหม่ และไปตั้งตัวแทนพรรคการเมือง ประจำจังหวัดหรือสาขาในเขตเลือกตั้ง กรณีสำรวจแล้วยังพบว่า สมาชิกที่มีการแจ้งยอดนั้นไม่มีคุณสมบัติ ที่จะทำหน้าที่ดังกล่าวในแต่ละเขตเลือกตั้งในจังหวัดนั้นๆ ได้ เพราะยังไม่ทราบว่าสมาชิกที่แจ้งเข้ามาจะมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตเลือกตั้งไหน จังหวัดไหนบ้าง เนื่องจากยังไม่มีการกำหนดเขตเลือกตั้งออกมา อีกทั้งคำสั่งคสช. ที่ 57/2557 ที่ห้ามพรรคจัดประชุมเคลื่อนไหวทางการเมืองและคำสั่ง คสช.ที่ 3/2558 ที่ห้ามชุมนุมทาง การเมืองตั้งแต่ 5 คนยังคงอยู่

ดังนั้นการที่ 46 พรรค จาก 69 พรรคการเมือง ซึ่งเท่าเทียมกับจำนวนพรรคที่ส่งผู้สมัครในปี 2554 ได้แจ้งยืนยันจำนวนสมาชิก ย่อมเท่ากับว่าทั้งหมดพร้อมที่จะปฏิบัติตามกฎหมาย ที่ คสช.ออก เพื่อจะลงเลือกตั้งตามหน้าที่ของพรรค การเมือง ซึ่งก็จะเป็นแรงบีบไปยังคสช. ถึงคราวที่ให้ คสช.เป็นฝ่ายเร่งผ่อนคลายหรือปลดล็อกพรรคการเมือง แม้ปลดให้เฉพาะเรื่องที่จำเป็นจริงๆ ก็ตามเพื่อให้เตรียมการในเรื่องต่างๆ ได้ให้ทันต่อการเปิดรับสมัครเลือกตั้ง ที่ คสช.ได้ประกาศว่าในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 แน่นอน มิฉะนั้น พรรคจะไม่มีเวลาเตรียมการต่างๆ เพียงพอ

เซกชั่นการเมือง |หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ  |ฉบับ 3371 ระหว่างวันที่ 3-6 มิ.ย.2561
e-book-1-503x62