พบ 'ขยะอิเล็กทรอนิกส์' 100 ตู้! ตกค้างแหลมฉบัง

27 พ.ค. 2561 | 15:09 น.
270561-2206

สืบเนื่องจากที่เมื่อเร็ว ๆ นี้ พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วยกำลังทหาร เจ้าหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง นำหมายค้นเข้าตรวจโรงงานที่เกี่ยวข้องกับการรับกำจัดขยะโดยผิดกฎหมายในประเทศไทย ในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา และย่านลาดกระบัง พบว่า มีมากกว่า 5 บริษัท ที่ตั้งโรงงานลำดับที่ 105 (ประกอบกิจการคัดแยกและฝังกลบขยะอุตสาหกรรม) หรือประเภท 106 (โรงงานรีไซเคิล) เข้าข่ายผิดกฎหมาย โดยพบว่า มีการกระทำความผิดทั้งในรูปของการนำเข้า ที่นำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มาในปริมาณที่สูงเกินสิทธิ์ที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงอุตสาหกรรม และบางรายยังไม่ได้ขออนุญาตแจ้งประกอบการ แต่กลับไปประกอบกิจการก่อน ซึ่งผิดต่อพระราชบัญญัติโรงงานปี 2535

ล่าสุด แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ขณะนี้ยังมีชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ชนิดต่าง ๆ อีกราว 100 ตู้คอนเทนเนอร์ ขนาดตู้ 24 ฟุต น้ำหนักราว 2 ล้านกิโลกรัม ที่ค้างอยู่ที่ท่าเรือแหลมฉบัง กำลังรอลำเลียงเข้ามา โดยเบื้องต้น กรมศุลกากร ระบุว่า ต้นทางการนำเข้ามาจาก บริษัท ไวโรกรีน (ไทยแลนด์) จำกัด ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ ที่นำเข้ามาในรูปของตู้อุปกรณ์สำเร็จรูปและแผ่นวงจร (PCB) ชิ้นส่วนมือถือ ชิ้นส่วนเครื่องคอมพิวเตอร์ ชิ้นส่วนและเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น ๆ


02-3369

ทั้งนี้ บริษัทดังกล่าวขอตั้งกิจการโรงงานประเภท 106 ซึ่งเป็นโรงงานรีไซเคิล ประกอบกิจการคัดแยกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สายไฟฟ้า โดยได้รับสิทธินำเข้าชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 10,000 ตัน แต่กลับมีการสำแดงเท็จต่อกรมศุลกากรในการนำเข้า เนื่องจากมีชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ส่วนเกินเข้ามา เพื่อส่งไปยังโรงงาน บริษัท ดับบลิว เอ็ม ดี ไทย รีไซคลิ้ง จำกัด จำนวนกว่า 62,300 กิโลกรัม หรือมากกว่า 62 ตัน ซึ่งยังไม่นับในส่วนที่กองอยู่ในโรงงานอีกราว 5-6 หมื่นตัน อีกทั้งที่สิงคโปร์ยังมีรอลำเลียงเข้ามาอีกหลายตู้คอนเทนเนอร์

"ซึ่งตามหลักแล้ว เมื่อนำเข้าชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด จะต้องอยู่ใน บริษัท ไวโรกรีน (ไทยแลนด์) จำกัด ไม่ให้กระจายไปที่ไหนตามสิทธิ์ที่ได้รับ ซึ่งกรณีนี้น่าเป็นห่วงว่า ในกระบวนการคัดแยกขยะอาจจะไม่ถูกวิธีจะเป็นอันตรายได้ เนื่องจากอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ละชนิดจะมีวัตถุอันตรายเจือปนอยู่ เช่น โน้ตบุ๊กเก่า จะมีส่วนประกอบแบตเตอรี่ตะกั่ว ลิเทียม ส่วนแผ่น PCB จะเป็นวัตถุที่ไม่ย่อยสลาย ต้องกำจัดโดยวิธีเผา ซึ่งในส่วนนี้น่าเป็นห่วงว่า ผ่านการคัดแยก และโดยวีเผาแบบถูกวิธีหรือไม่ เพราะถ้าสร้างมลพิษทางอากาศ ชาวบ้านในพื้นที่ได้รับผลกระทบ สูดดมเอาสารก่อมะเร็งเข้าไปและทำลายระบบทางเดินหายใจ หากไม่รับตรวจสอบ หรือ ระงับปัญหาเหล่านี้ไว้ เกรงว่า ประเทศไทยจะกลายเป็นฮับขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้ ซึ่งอาจจะกระจายไปหลายพื้นที่ด้วย"


S__53149734

อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามว่า 100 กว่าตู้คอนเทนเนอร์นั้น เป็นไปตามอนุสัญญาบาเซลหรือไม่ เข้าข่ายตามอนุสัญญาดังกล่าวและไม่เป็นที่ต้องห้ามของการนำเข้าของไทย ก็ถือว่า ไม่ผิด ซึ่งทั้งหมดนี้จะต้องรอการตรวจสอบก่อน

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มผู้ประกอบการที่ยังไม่ได้ขออนุญาตแจ้งประกอบการ แต่กลับไปประกอบกิจการก่อน ประกอบด้วย บริษัท นิวส์สกาย เมทัล จำกัด โดยใช้ชื่อเดียวกันทั้งหมด แต่คนละเลขที่บ้าน จำนวน 4 เลขที่ และ 1 เลขที่โฉนด ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งอยู่ระหว่างตรวจสอบ และกระบวนการกำลังสรุปข้อกล่าวหาในโรงงานที่ตรวจสอบจากทั้งหมดจากแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการแจ้งความในเร็ว ๆ นี้


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,369 วันที่ 27-30 พ.ค. 2561 หน้า 02

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
กนอ. แจงเหตุ 'ไวโรกรีน' นิคมฯลาดกระบัง พบความผิดลักลอบนำเข้า 'ขยะอิเล็กทรอนิกส์'
กฎหมายขยะอิเล็กทรอนิกส์ กลไกใหม่บังคับผู้ผลิตซื้อคืนซากผลิตภัณฑ์


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว