ชาวไร่อ้อย 3 แสนรายป่วน! 31 พ.ค. ตบเท้าบุกศาลากลางกระทุ้งรัฐแก้ปัญหา

26 พ.ค. 2561 | 05:21 น.
31 พ.ค.ชาวไร่อ้อยทั่วประเทศยื่นหนังสือผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดส่งต่อปัญหาอ้อยถึงนายกรัฐมนตรีพิจารณาหาทางออกร่วมกัน หลังปปริมาณอ้อยพุ่ง 135 ล้านตัน ไม่สามารถนำอ้อยไปหีบได้ทันตามเวลาทำอ้อยค้างจำนวนมาก อีกทั้งมีข้อจำกัดขนส่ง

นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงาน สมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยเขต 7  เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าขณะนี้ 4 องค์กรชาวไร่อ้อย ซึ่งประกอบด้วย  สหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย สหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน และสมาพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย โดยทั้ง 4 องค์กรนี้จะมีสมาชิกที่มาในนามสมาคมชาวไร่อ้อยจากจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศรวมกันทั้งหมดราว 3 แสนราย ร่วมกันยื่นหนังสื่อถึงผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัดพร้อมกันในวันที่  31 พฤษภาคม 2561 โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้รัฐบาลรับทราบปัญหาของชาวไร่อ้อยที่เกิดขึ้นในขณะนี้และคาดว่าจะเป็นปัญหาต่อเนื่องถึงฤดูการผลิตอ้อยใหม่ในปีต่อไป(ปี2561/2562) โดยการยื่นหนังสือครั้งนี้ เพื่อผู้ว่าราชการจังหวัดจะได้ส่งต่อถึงนายกรัฐมนตรี หาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกันต่อไป
อ้อย1 copy

ทั้งนี้หนังสือดังกล่าวจะสรุปปัญหาตั้งแต่ กรณีที่ชาวไร่ได้รับผลกระทบจากการตัดอ้อย  การส่งอ้อยเข้าโรงงาน รวมถึงการบริหารจัดการอ้อยในปีนี้ (2560-2561) โดยปัญหาดังกล่าวสืบเนื่อง มาจากที่ปีนี้มีปริมาณอ้อยเพิ่มขึ้นจำนวนมาก หลังปิดหีบอ้อยครบทั้งหมด ปริมาณอ้อยโดยรวมจะอยู่ที่ 135 ล้านตันอ้อยต่อปี  ทำให้ชาวไร่ไม่สามารถเก็บเกี่ยวอ้อยได้หมด โดยไม่สามารถนำอ้อยไปหีบได้ทันตามเวลาที่เปิดหีบ (ถ้าขยายเวลาเปิดหีบนานไปโรงงานนํ้าตาลต้องแบกภาระต้นทุนที่สูงขึ้น ในขณะที่ราคานํ้าตาลถูกลง) และมั่นใจว่าปัญหานี้จะเกิดขึ้นในปีต่อไปด้วย ดูจากที่มีแนวโน้มปริมาณฝนชุก ปัญหานี้ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขก็จะกระทบต่อภาคเกษตรกรที่ปลูกอ้อย

อีกทั้งในช่วง2 ปีที่ผ่านมาราคานํ้าตาลในตลาดโลกยืนอยู่ในราคาเฉลี่ยต่อปีที่เหมาะสม ขณะที่ราคาอ้อยก็สูงถึง 1,000 บาทต่อตันอ้อย ทำให้รัฐบาลออกมาส่งเสริมให้เกษตรกรที่ปลูกข้าวนาดอนและได้ผลผลิตตํ่า หันมาปลูกอ้อยแทนเพราะได้ราคาดีกว่า  แต่ปัญหาในขณะนี้เกษตรกรแห่ปลูกอ้อยกันมาก ในขณะที่ราคานํ้าตาลในตลาดโลกก็ร่วงลงต่อเนื่อง AOI1

หัวหน้าสำนัก งาน สมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยเขต 7 กล่าวอีกว่า จากที่ปริมาณอ้อยมีจำนวนมาก ชาวไร่ก็นำอ้อยออกไปส่งโรงงานไม่ทัน  เนื่องจากมีข้อจำกัดในการขนอ้อยออกจากพื้นที่ เพราะมีการควบคุมนํ้าหนักอ้อยที่กำหนดให้รถบรรทุกอ้อยใช้ความสูงนับจากพื้นไม่เกิน 3.60 เมตรในการขนส่งอ้อย ทำให้การบรรทุกอ้อยออกจากพื้นที่แต่ละเที่ยวต้องลดปริมาณลง จึงเสนอขอผ่อนผันให้ขยายนํ้าหนักรถบรรทุกอ้อยจากความสูง 3.60 เมตรมาเป็น 3.80 เมตร  รวมถึงพบอุปสรรคในช่วงเทศกาลเช่น สงกรานต์ หยุดยาว ทำให้เวลาเก็บเกี่ยวอ้อยเข้าโรงงานสั้นลง พอหลังสงกรานต์ก็เข้าสู่หน้าฝนอีก ยิ่งยากลำบากในการเข้าไปตัดอ้อย ทำให้มีปริมาณอ้อยค้างจำนวนมาก

นายนราธิปกล่าวว่า ชาวไร่อยากให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือราคาอ้อยที่ตกตํ่าโดยการช่วยเหลือไม่ให้เกินจากวงเงินที่ตกลงไว้กับองค์การการค้าโลก (WTO) โดยรัฐบาลจะต้องไปดูว่าจะช่วยเหลือตรงนี้อย่างไรโดยไม่ผิดกติกา  หรือการหาช่องทางให้สํานักงานกองทุนอ้อยและนํ้าตาลทราย (กท.) สามารถไปกู้เงินเพื่อมาเพิ่มราคาอ้อยได้โดยไม่ต้องขัดกับWTO

นอกจากนี้ในแง่การแก้ไขพ.ร.บ.อ้อยและนํ้าตาลทรายที่ขณะนี้เรื่องไปถึงรัฐสภาแล้วนั้น ควรกำหนดว่าให้สามารถนำผลพลอยได้หรือผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นจาก อ้อยมาเพิ่มเป็นราคาอ้อย ด้วย เช่น นำอ้อยไปผลิตเอทานอล

แหล่งข่าวจากโรงงานนํ้าตาลรายหนึ่งกล่าวว่า เวลานี้ปริมาณนํ้าตาลที่มากเกินไปทำให้กระทบต้นทุนการผลิตรวม พอราคานํ้าตาลในตลาดโลกตํ่าลง ทำให้นํ้าตาลส่งออกช้าลง ผู้ประกอบการก็ไม่อยากถือนํ้าตาลไว้เพราะเป็นต้นทุน ต้องแบกต้นทุนสูงขึ้น ขณะที่ชาวไร่อ้อยก็เสียหายมากเพราะหีบอ้อยไม่เสร็จตามฤดูการ ทำให้ค่าความหวานลดลงกระทบต่อราคาขาย

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับ 3,369 วันที่ 27-30 พ.ค. 2561