เบรก 19 โรงนมฟลูออไรด์ อ.ส.ค.ผลิตสต๊อกมากสุด-เด็กกทม.ฟันผุ 2.8 แสนคน

29 พ.ค. 2561 | 09:04 น.
ผงะ! เปิดข้อมูลกรมอนามัยชี้เด็กเมืองกรุง 50 เขตฟันผุมากที่สุด 2.85 แสนคน อย.กังขาหวั่นเด็กมีปัญหาฟันตกกระสั่งให้สำรวจพื้นที่ใหม่ ยันไม่ต่อใบอนุญาตโรงนมฟลูออไรด์ ทีมเฉพาะกิจลงตรวจ 19 โรง พบ อ.ส.ค.ซุ่มผลิตสต๊อกไว้สูงสุด 8 แสนกล่องแซงวังนํ้าเย็น ค่าเสียหาย 45 ล้าน

“ฐานเศรษฐกิจ” ยังคงติดตามนมฟลูออไรด์ ในโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนที่รัฐบาลอุดหนุนงบประมาณปีละ 1.4 หมื่นล้านบาท ยังมีปัญหาในภาคเรียนที่ 1/2561 ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไม่ต่อใบอนุญาตให้ 19 โรงงานผลิต (ใบอนุญาตหมดอายุลงวันที่ 31 มี.ค.61) เพราะมีโรงนมผิดข้อละเมิดไปจำหน่ายในพื้นที่เด็กเล็ก ประกอบทางกรมอนามัยยังไม่มีข้อมูลทางวิชาการที่ดีพอมาสนับสนุน และไม่มีแนวทางการควบคุมการจำหน่ายที่รอบคอบจึงให้ไปสำรวจพื้นที่ใหม่ว่า ยังมีเด็กขาดสารฟลูออไรด์เท่าใดกันแน่ TP-8-3368-A

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม หรือมิลค์บอร์ด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ที่ประชุม (วันที่ 5 พ.ค.61) นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานมิลค์บอร์ด เป็นประธานในที่ประชุม ได้นำหนังสือกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ลงเลขที่ สธ 0904.03/3756  ลงวันที่ 23 เมษายน 2561 เรื่อง ขอความอนุเคราะห์ให้มีการทบทวนหลักเกณฑ์ฟลูออไรด์ ภาคเรียนที่ 1/2561 ถึงความจำเป็นของนมฟลูออไรด์ ในพื้นที่ที่มีปัญหาโรคฟันผุ ซึ่งมีปริมาณฟลูออไรด์ในนํ้าบริโภคตํ่า และไม่มีการเสริมฟลูออไรด์ในระดับชุมชนรูปแบบอื่นๆ ใน 12 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ สระแก้ว กระบี่ ตรัง ชลบุรี ขอนแก่น ยะลา สุราษฎร์ธานี นราธิวาส ปัตตานี พัทลุง และชุมพร ที่ดำเนินโครงการเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด พบเด็กฟันผุขาดสารฟลูออไรด์ ทั้งหมด
5.8  แสนคน ต้องให้นมผสมฟลูออไรด์วันละ 5.8 แสนถุง-กล่อง/วัน โดยเด็กกรุงเทพฯ ขาดสารฟลูออไรด์ 50 เขตสูงสุด จำนวน 2.85 แสนคน รองลงมาเป็นขอนแก่น 1.45 แสนคน
C7nBKpbVAAA-UOJ จากข้อมูลดังกล่าว ผู้แทนจาก อย. ออกโรงโต้ไม่เชื่อข้อมูลจากกรมอนามัย จึงเสนอให้ไปสำรวจใหม่ เนื่องจากทุกวันนี้สารฟลูออไรด์ มีหลายช่องทางที่เด็กได้รับแล้วทำให้ฟันแข็งแรง อาทิ นํ้าดื่ม และยาสีฟัน เป็นต้น ดังนั้นหากเด็กรับฟลูออไรด์ไปมากจะมีผลทำให้ฟันเหลือง ตกกระได้ จึงไม่ต่อใบอนุญาตให้กับ 19 โรงงานที่ผลิตนมฟลูออไรด์ ส่วนโรงงานที่ผลิตนมฟลูออไรด์ไว้ก่อนใบทะเบียนอนุญาตหมดอายุวันที่ 31 มีนาคม 2561 นั้นมิลค์บอร์ดมีมติให้เยียวยาส่งเท่าที่ผลิตไว้เท่านั้น ส่วนที่เหลือจะให้ส่งนมโรงเรียนตามปกติไปแทน หรือต้องสลับไปตามเกณฑ์ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เคยท้วงติงไว้ ในกรณีการผูกขาดตลาด จะต้องเกลี่ยพื้นที่จัดสรรใหม่

“ผู้ที่ได้รับการจัดสรรพื้นที่จำหน่ายฟลูออไรด์ในโครงการนมโรงเรียน เทอมที่ 1/2561 กรณีหาก อย.ต่อใบอนุญาตให้ พบว่าองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ได้สิทธิ์จำหน่ายสูงสุด 1.45 แสนถุง-กล่องต่อวัน รองลงมาคือสหกรณ์โคนมวังนํ้าเย็น จำกัด 1.02 แสนถุง-กล่องต่อวัน ”

แหล่งข่าวกรมปศุสัตว์  เผยว่า ผลจากการตรวจสอบของคณะอนุกรรมการทำงานเฉพาะกิจ ประกอบด้วย กรมปศุสัตว์ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) อย. กรมส่งเสริมสหกรณ์ และชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบ 19 โรงนมเอกชน กรณีมีผู้ร้องเรียนได้รับความเสียหายจากการชะลอผลิตนมฟลูออไรด์ในภาคเรียนที่ 1/2561 นั้น  มีรายงานว่า มีนมฟลูออไรด์ผลิตไว้รอส่งช่วงเปิดเทอม 1.9 ล้านกล่อง คิดเป็นค่าเสียหายรวมกว่า 45 ล้านบาท โดย อ.ส.ค. ผลิตนมฟลูออไรด์ไว้สูงสุด 8.5 แสนกล่อง รองลงมาสหกรณ์โคนมวังนํ้าเย็นจำกัด กว่า 5 แสนกล่อง และสหกรณ์โคนมพัทลุง จำกัด 3.7 แสนกล่อง

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,368 วันที่ 24-26 พ.ค. 2561
e-book-1-503x62