ครบเครื่องเรื่องทองกับ YLG | หนี้สหรัฐฯ พุ่งแตะ 21 ล้านล้านดอลล์ สำคัญอย่างไรกับ 'ทองคำ'

20 พ.ค. 2561 | 08:31 น.
200561-1521 apptp16-3169-a

… หนี้สาธารณะ (Public Debt) ของสหรัฐฯ เป็นปัญหาเรื้อรังที่ต่อเนื่องมายาวนาน ซึ่งหนี้ของสหรัฐฯ ที่ขยายตัวขึ้นเกิดจากการใช้จ่ายมากกว่ารายได้ จนกระทั่งทำให้สหรัฐฯ มีหนี้สาธารณะทะลุ 20 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในวันที่ 8 ก.ย. และขยับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 20.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในวันที่ 13 ก.พ. ขณะที่ล่าสุด ในช่วงกลางเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา หนี้สหรัฐฯ แตะมูลค่า 21 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นครั้งแรก นับได้ว่า ใช้เวลามากกว่า 6 เดือน เพียงแค่เล็กน้อยเท่านั้นที่หนี้ของสหรัฐฯ เติบโตขึ้นอีก 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของประเทศ

การเพิ่มขึ้นของหนี้อีก 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่ถึงปีนั้น ไม่ใช่ว่าจะไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ปรากฏการณ์นี้เคยเกิดขึ้นแล้วในปี 2009 ระหว่างสภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรง (Great Recession) และอีกครั้งในปี 2010 ซึ่งวิกฤติดังกล่าวได้เริ่มต้นตั้งแต่เดือน ธ.ค. ปี 2007 นำโดยการล่มสลายของตลาดที่อยู่อาศัยในสหรัฐฯ ส่งผลให้เกิดการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ในช่วงการบริหารของประธานาธิบดี Bush และ Obama และเป็นเหตุให้ยอดขาดดุลงบประมาณขยายตัวขึ้นอย่างมาก จากการที่รัฐบาลต้องดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ ทำให้ในปีงบการเงิน 2009-2012 หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นเกินกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ


appflag-75047

คาดการณ์กันว่า หนี้สหรัฐฯ จะปรับตัวสูงขึ้นกว่านี้อย่างแน่นอน จากการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามในข้อตกลงระงับเพดานนี้ (Suspends The Debt Limit) ในเดือน ก.พ. ซึ่งจะทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ สามารถใช้จ่ายเงินจำนวนมากได้เท่าที่ต้องการ โดยไม่มีเพดานจำกัด จนกระทั่งถึงวันที่ 1 มี.ค. 2562 นอกจากนี้ การขาดดุลงบประมาณที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการปรับลดภาษี ซึ่งทรัมป์ได้ลงนามในเดือน ธ.ค. อีกด้วย ทำให้นักวิเคราะห์ต่างออกมาคาดการณ์กันว่า ในอนาคต สหรัฐฯ จะมีหนี้เพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน โดยคณะกรรมการดูแลงบประมาณของรัฐบาลกลาง (Committee for a Responsible Federal Budget) คาดว่า หนี้สหรัฐฯ จะเกินขนาดของ GDP ภายในอีก 10 ปีข้างหน้า และจะเพิ่มขึ้นถึง 150% ของขนาด GDP ในปี 2047 จากปัจจุบันที่ระดับ 77%


ACFrOgCPjWMeCM8kxcvST9TtnIngdBnjO5Om10iDUUXBgZTHwRjheI6BjEa6W9QXKBQb7IDfz8-8Wp_gcsud-kmpzbqdb_Rd39e0hQaXAfIj0-J6LpO3oRAa1QPCuGI=

หากระดับหนี้ที่สูงเกินกว่า GDP ซึ่งหมายถึงการที่หนี้อยู่ในระดับที่มากกว่าความสามารถที่จะหารายได้ขึ้นมาใหม่เกิดขึ้นในประเทศขนาดเล็ก ก็จะส่งผลต่อระดับความน่าเชื่อถือหรือประสบกับสภาวะล้มละลาย ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นกับกรีซ แต่สำหรับสหรัฐฯ ซึ่งเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 1 ของโลก ถึงแม้ผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจไม่ได้ถึงกับทำให้สหรัฐฯ ล้มละลาย แต่เชื่อได้ว่า จะเกิดผลกระทบต่อการดำเนินนโยบายทั้งทางด้านการคลังและนโยบายการเงิน โดยอาจส่งผลให้สหรัฐฯ เผชิญอุปสรรคในการออกมาตรการใช้จ่ายจำนวนมาก ๆ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้านนโยบายการเงินก็อาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จำเป็นต้องรักษาระดับของอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับที่ต่ำ เพื่อลดภาระต่อรัฐบาลในการจ่ายคืนดอกเบี้ย ซึ่งจะเห็นได้ว่าผลกระทบจากการขยายตัวของหนี้ ล้วนแต่เป็นแรงกดดันต่อค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งส่งผลในเชิงบวกต่อราคาทองคำในระยะยาวเช่นกัน


200561-1517

……………….
คอลัมน์ : ครบเครื่องเรื่องทองกับ YLG โดย พวรรณ์ นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,354 วันที่ 5-7 เม.ย. 2561 หน้า 18

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
“สำรวจอนาคตทองคำ” ในอีก 30 ปีข้างหน้า
ทันโลก ทันเศรษฐกิจ | 'ทองคำ' ยังจับต้องได้


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว