ดึง 'เกาหลีใต้' ลงทุนไทย! ใช้เป็นเกตเวย์สู่ตลาดใหญ่ "อินโดไชน่า"

20 พ.ค. 2561 | 02:45 น.
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวในงานสัมมนาครบรอบ 60 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-เกาหลีใต้ กับโอกาสของเกาหลีใต้ในการลงทุนในไทย ซึ่งมีขึ้นที่โรงแรมสยามเคมปินสกี้ เมื่อเร็ว ๆ นี้ (27 พ.ค. 2561) ว่า ไทยได้ดำเนินการปฏิรูปและปรับปรุงในหลาย ๆ ด้าน เพื่อเพิ่มความสะดวกต่อการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย โดยขณะนี้ ในอันดับประเทศที่มีความสะดวกต่อการดำเนินธุรกิจมากที่สุดระดับโลกนั้น ไทยอยู่ในอันดับที่ 26 และเป็นประเทศที่ได้รับการยกย่องว่ามีพัฒนาการดีเด่นเป็นอันดับ 1 ของโลก รัฐบาลจึงมีเป้าหมายจะปรับปรุงในทุก ๆ ด้านให้ดีขึ้นไปอีก เพื่อขยับอันดับให้มาอยู่ใน 20 อันดับแรกให้ได้ เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจและสบายใจให้กับต่างชาติที่เข้ามาลงทุนว่า ไทยนั้นมีการปรับปรุงทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานและนโยบาย-กฎระเบียบต่าง ๆ ที่จะเพิ่มความสะดวกในการทำธุรกิจ


seminar1

ปรับปรุงทุกมิติเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน
ในส่วนของการปฏิรูปการทำงานของรัฐบาลในยุคไทยแลนด์ 4.0 ถือว่า รัฐบาลไทยประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง ในเรื่องการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ในปี 2560 ไทยได้เพิ่มอันดับของขีอความสามารถในการแข่งขัน โดยสามารถกระโดดข้าม 20 อันดับภายในปีเดียว จากอันดับ 46 มาอยู่ที่อันดับ 26 ได้รับการยกย่องจากธนาคารโลกว่าเป็นประเทศที่มีพัฒนาการดีเด่นที่สุดของโลก ทั้งนี้ ไทยมีการปรับปรุงกฎใน 8 ด้านสำคัญ ครอบคลุมการเริ่มต้นธุรกิจ ซึ่งมีการปรับปรุงกฎระเบียบ จนกระทั่งระยะเวลาเตรียมการเริ่มต้นธุรกิจ สามารถลดลงจากเดิม 27.5 วัน เหลือเพียง 4.5 วันเท่านั้น และในอนาคตยังจะเร็วกว่านี้อีก นอกนั้นยังประกอบด้วย การจัดหาไฟฟ้าที่ง่ายขึ้น การขออนุญาตเรื่องที่ดินที่ง่ายขึ้น มีความสะดวกสบายในการจ่ายภาษี การได้รับสินเชื่อ การดูแลปกป้องนักลงทุนรายย่อยและการกำกับดูแลเพื่อให้มีการปฏิบัติตามสัญญา เหล่านี้เป็นสิ่งที่ไทยทำได้ดีในปีที่ผ่านมา และยังจะพัฒนาต่อไปอีกให้ดียิ่งขึ้น


มุ่งหน้าสู่ระบบดิจิตอล-ยกเครื่องกฎหมาย
นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาระบบดิจิตอลเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ไทยได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบ e-Registration, e-Filling การให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การทำให้ Landsmap ซึ่งเป็นแอพพลิเคชันตัวใหม่เกี่ยวกับที่ดิน สามารถใช้งานได้ง่ายขึ้น การทำ National Single Window ให้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ การใช้ e-Transaction และ e-Matching เพื่อการนำเข้า-ส่งออก เป็นต้น เหล่านี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลไทยกำลังพยายามดำเนินการขับเคลื่อนเพื่อให้การดำเนินงานของรัฐบาลเป็นระบบดิจิตอลให้มากขึ้น เพื่อเอื้อต่อการทำธุรกิจ

อีกเรื่องสำคัญ คือ การปฏิรูปกฎหมาย เพราะไทยตระหนักดีว่า กฎหมายเป็นภาระของนักธุรกิจ รัฐบาลจึงมีความตั้งใจว่า จะปรับปรุงและยกเลิกกฎหมายที่ไม่จำเป็น นอกจากนี้ ในส่วนของการขอวีซ่าและใบอนุญาตทำงานของต่างชาติ รัฐบาลได้ลงมือปรับปรุงเป็นเรื่องต้น ๆ ในอดีตการขอวีซ่าประเทศไทยที่เคยต้องใช้เอกสาร 25 รายการ และการขอใบอนุญาตทำงานที่ต้องขอเอกสารเพิ่มอีก 20 รายการ แล้วได้วีซ่าทำงานแค่ปีเดียว แต่ปัจจุบัน เมื่อมีโครงการใหม่ Smart Visa ทำให้ขอวีซ่าได้ครั้งละ 4 ปี และการขออนุญาตทำงานก็สะดวกสบายขึ้นกว่าเดิมมาก ขณะเดียวกัน ก็จะปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเก่าให้ทันสมัยยิ่งขึ้น และสอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น กฎหมายเกี่ยวกับเงินดิจิตอล (Cryptocurrency) ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ไทยได้มีการนำกฎหมายเก่ามาแก้ไขปรับปรุงแล้ว 268 ฉบับ และจะมีการออกกฎหมายใหม่เพิ่มเติมอีกประมาณ 288 ฉบับ เพื่อวางรากฐานสำหรับอนาคต


EEC

เกตเวย์สู่ตลาดใหญ่ 'อินโดไชน่า'
ในส่วนของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นโครงการใหญ่ ๆ ของภาครัฐ รัฐบาลพยายามผลักดันให้โครงการต่าง ๆ เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว เช่น ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) มีโครงการต่าง ๆ มากมาย ก็จะเร่งรัดให้โครงการเหล่านั้นเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องใช้เวลานานเหมือนในอดีต สมัยก่อนไทยใช้เวลาถึง 40 เดือน ต่อมามีการปฏิรูปก็ลดเวลาลงเหลือ 20-25 เดือน แต่ปัจจุบัน โครงการสำคัญ ๆ ในอีอีซี ใช้เวลาประมาณ 9-10 เดือนเท่านั้น โครงการในพื้นที่อีอีซีทุกโครงการที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ จะเป็นโครงการที่อยู่ในระบบ EEC PPP Fast Track ไม่ว่าจะเป็น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน การขยายท่าเรือแหลมฉบัง การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ฯลฯ โครงการเหล่านี้จะเกิดขึ้นภายในระยะเวลา 7-8 เดือนข้างหน้านี้แล้ว พร้อมด้วยการทุ่มงบลงทุนของภาครัฐ เพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้เกิดขึ้นรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

ไทยกำลังจะมีรถไฟใต้ดินอีกประมาณ 10 เส้นทาง มีรถไฟความเร็วสูง ซึ่งอย่างน้อยตอนนี้เริ่มดำเนินการไปแล้ว 2 เส้นทาง และกำลังมีอีก 2 เส้นทางเพิ่มเติม มีมอเตอร์เวย์ 8 สาย มีการพัฒนาท่าเรือและสนามบิน สถานีรถบรรทุก มูลค่ารวมกันไม่ต่ำกว่า 7-8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

"ในช่วง 2 ปีนี้ เราทำโครงการต่าง ๆ ออกมามากมาย หวังว่า เพื่อนนักธุรกิจชาวเกาหลีของเราจะเป็นผู้ที่ชนะสัญญาโครงการใดโครงการหนึ่ง และมาเป็นหุ้นส่วนในการพัฒนาประเทศไทยในวันข้างหน้าต่อไป" รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

นายกอบศักดิ์ ยังกล่าวถึงการจัดทำแผนเชื่อมโยงยุทธศาสตร์โครงข่ายคมนาคมชุดใหม่ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ด้านคมนาคมและโลจิสติกส์ โดยนักลงทุนจะสามารถส่งสินค้าจากฐานผลิตในไทยไปยังตลาดอื่น ๆ ในอินโดจีนทั้งหมดได้อย่างสะดวกสบาย ปัจจุบัน ไทยมีโครงข่ายคมนาคมที่เชื่อมโยง CLMVT (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย) เข้าด้วยกัน โครงข่ายดังกล่าวมีประชากร 250 ล้านคน เศรษฐกิจมีการเติบโตประมาณ 7%

"ผมมั่นใจในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ว่า อนุภูมิภาคดังกล่าวจะเติบโตดีอย่างนี้ไปอีกอย่างน้อย 15 ปีข้างหน้า ไทยจึงอยู่ในทำเลที่เป็นยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ ที่นักลงทุนต่างชาติควรเข้ามาปักหลัก เพราะไม่เพียง CLMVT เท่านั้น แต่ผู้ประกอบการยังสามารถเชื่อมโยงต่อไปยังบังคลาเทศ ซึ่งมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีเช่นกันใน 10 กว่าปีข้างหน้า ที่อัตรา 7% ประชากรอีก 160 ล้านคน แล้วก็สามารถส่งสินค้าไปที่จีน อินเดียได้ เพราะฉะนั้น ไทยจึงเป็นเกตเวย์สู่อาเซียน และอินโดไชน่าที่เชื่อมโยงไปตลาดใหญ่สองตลาดของโลก ในเดือน มิ.ย. นี้ ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมแอคเมคส์ (ACMECS : ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี - เจ้าพระยา – แม่โขง) จะมีการนำแผนนี้มาทำเป็นแผนแม่บทการเชื่อมโยงระดับภูมิภาค (Connectivity Master Plan) ที่ละเอียดยิ่งขึ้น และจะรองรับการดำเนินธุรกิจของนานาประเทศ เพื่อให้เข้ามาตั้งฐานผลิตในไทยแล้วสามารถส่งออกสินค้าไปยังทุกประเทศทั่วทั้งภูมิภาคอย่างสะดวกสบาย

ทั้งหมดนี้ คือ การปรับโฉมใหม่ พลิกโฉมของประเทศไทย ที่จะเอื้อต่อการทำธุรกิจ การลงทุน และทั้งหมดนี้จะเป็นการวางรากฐานเพื่อการทำธุรกรรมแห่งอนาคต ที่กำลังจะเกิดขึ้น และจะเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมในช่วง 5 ปีข้างหน้า ขอให้มั่นใจว่าประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางแห่งอินโดจีนให้ท่านอย่างแท้จริง"


……………….
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
เกาหลีเหนือยกเลิกประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูง! ฉุน 'เกาหลีใต้-สหรัฐฯ' ยังซ้อมรบร่วม
ทัพธุรกิจเกาหลีใต้ก็มา "บิ๊กตู่" ชวนเพิ่มการค้า-ลงทุน


e-book-1-503x62