NCB หนุนสมาชิกใช้บูโรสกอร์

19 พ.ค. 2561 | 03:46 น.
เครดิตบูโรแนะสมาชิก ใช้บริการคะแนนเครดิต หรือ Credit Scoring  ประกอบอนุมัติสินเชื่อใหม่ ตั้งเป้า 4.5 แสนครั้ง/เดือน ภายใน 1-2 ปี ชูข้อมูลเชิงสถิติช่วยเฟ้นคุณภาพธุรกิจ ลูกค้า

นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ศูนย์ข้อมูลเครดิตแห่งชาติฯ (เครดิตบูโรหรือNCB)เปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า  เครดิตบูโรมีเป้าหมายที่จะให้สถาบันการเงินใช้บูโรสกอร์ในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อในระดับใกล้เคียงกับต่างประเทศ โดย 1-2 ปี จากนี้ตั้งเป้าการนำบูโรสกอร์ไปใช้เพิ่มขึ้นระดับ 45% ของการเข้าดูข้อมูล เพื่อพิจารณาอนุมัติสินเชื่อใหม่ จากไตรมาสแรกปีนี้ ที่มีปริมาณการเข้าดูข้อมูล 1 ล้านครั้ง สถาบันการเงินควรจะเข้ามาใช้บูโรสกอร์ 3.5-4.5 แสนครั้งต่อเดือน แต่จากปัจจุบันมีเพียง 2.8 แสนครั้ง

“บูโรสกอร์ไม่ใช่คำตอบทุกอย่าง จึงต้องผสมผสานกับข้อมูลอื่นๆ ด้วย โดยสถาบันการเงินเองต้องการให้มี Customer Score ด้วย ซึ่งเป็นข้อมูลเครดิตของลูกค้า ที่สถาบันการเงินต้องนำมาพิจารณาร่วมในการปล่อยสินเชื่อควบคู่ไปด้วย” e-book-1-503x62-7

ทั้งนี้เครดิตบูโรได้พัฒนาคะแนนเครดิตลูกค้าในศูนย์ข้อมูลมาตั้งแต่ปี2559 เพื่อให้บริการเจ้าของข้อมูลและสมาชิกโดยแบ่งเป็น“B-Score”เป็นการใช้กระบวน การทางสถิติคำนวณความ น่าจะเป็นจากข้อมูลพฤติกรรมของผู้ขอสินเชื่อเป็นคะแนนเครดิต เพื่อทำดัชนีชี้วัดความตั้งใจในการชำระหนี้ ซึ่งสถาบันการเงินใช้ควบคู่กับข้อมูลภายใน(A-Score) ของสถาบันการเงินเอง เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อใหม่ หรือกำหนดอัตราดอกเบี้ย หรือ เพิ่มวงเงินสินเชื่อ

นายสุรพล กล่าวว่า สหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่นเป็นผู้ใช้บริการรายแรก ถัดมาเป็นผู้ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ โดยเฉพาะบริษัทญี่ปุ่น ตามมาด้วยสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ส่วนธนาคารพาณิชย์เริ่มจากธนาคารขนาดกลางโดยใช้กับ 3 ผลิตภัณฑ์คือ สินเชื่อรถยนต์  เนื่องเพราะต้องพิจารณาภายในเวลาที่รวดเร็ว  สินเชื่อบุคคลและบัตรเครดิต ขณะที่สินเชื่อบ้านนั้นยังถูกมองว่า มีหลักประกันจึงมีความเสี่ยงตํ่า ทำให้การนำบูโรสกอร์
ไปใช้ ยังไม่มาก ช่วงเริ่มแรกมีเพียง 11-12%  ของการดูข้อมูลเพื่ออนุมัติสินเชื่อใหม่ แต่ปริมาณการใช้มีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง โดยเห็นได้จากปี 2560 มีการใช้เพิ่ม 27-28% ของการดูข้อมูลเพื่ออนุมัติสินเชื่อใหม่ ส่วนหนึ่งเพราะบูโรสกอร์ช่วยให้การพิจารณาสินเชื่อเร็วขึ้น

“หัวใจของการใช้ B-Score คือ ช่วยให้การอนุมัติเร็วขึ้น ซึ่งแบงก์หรือสถาบันการเงินต้องการลูกค้าเกรดไหนก็เลือกได้เพราะเกรดลูกค้าสามารถเสนออัตราดอกเบี้ยที่จูงใจ ซึ่งปัจจุบันมีการใช้ B-Score บางธนาคารขนาดใหญ่ หรือใช้ในบางผลิตภัณฑ์ เช่น สินเชื่อไม่มีหลักประกัน วงเงินไม่สูงมาก ประเทศเพื่อนบ้านอย่าง มาเลเซีย จะมีสกอร์ในการจัดกลุ่มลูกค้าเช่นกัน

หน้า 24  ฐานเศรษฐกิจ 3,367 วันที่ 20-23 พฤษภาคม พ.ศ. 2561