"กฤษฎา"เตรียมจัดตั้งกองทุนประชารัฐช่วยเหลือเกษตรกรยั่งยืน

18 พฤษภาคม 2561
"กฤษฎา"เตรียมจัดตั้งกองทุนประชารัฐช่วยเหลือเกษตรกรยั่งยืน

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าได้มีการสั่งงานผ่านทางแอพพลิเคชั่นไลน์ ถึงปลัดเกษตรและผู้บริหาร ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เรื่อง ขอให้ช่วยกันพิจารณาเสนอแนวทางการบริหารจัดการภาคการเกษตรรูปแบบใหม่ ที่ยั่งยืนเป็นระบบ จึงได้ส่งสถิติข้อมูลเงินงบประมาณช่วยเหลือเกษตรกรในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเงินช่วยเหลือแก้ไขปัญหา ราคาผลผลิตทางการเกษตรทั้งประเภทพืช ปศุสัตว์และประมงตกต่ำ และส่วนใหญ่จะเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรทั้งในรูปจ่ายเงินชดเชย การประกันราคาผลผลิตหรือการรับจำนำผลผลิตหรือการใช้งบประมาณซื้อผลผลิตทางการเกษตรในราคานำตลาด เป็นต้น จะเห็นได้ว่ามาตรการต่างๆ ใช้งบประมาณการช่วยเหลือเกษตรกรดังกล่าวเป็นเงินจำนวนมาก แต่มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรก็เป็นมาตรการเดิมๆที่เคยใช้มาแล้วเหมือนกันเกือบทุกยุคทุกสมัย

"หากนำเงินงบประมาณดังกล่าว มาตั้งเป็นกองทุนช่วยเหลือเกษตรกรให้เป็นระบบ เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนมีประสิทธิภาพ โดยออกเป็นกฎหมายหรือระเบียบกำหนดให้กองทุนเป็นกลไกช่วยเหลือเกษตรกรที่ต้องการหลักประกัน หรือความคุ้มครองในการประกอบอาชีพทางการเกษตรจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขคำแนะนำ หรือข้อกำหนดของเกษตรหรือหน่วยงานรัฐ เช่น เกษตรกรที่จะได้รับความคุ้นครองจากกองทุน จะต้องปลูกพืชหรือทำการปศุสัตว์หรือทำการประมงตามแผนการผลิตที่กระทรวงหรือหน่วยงานรัฐกำหนดเป็นพื้นที่ ชนิด ประเภทหรือตามจำนวนแผนที่การผลิตหรือตามคุณสมบัติของพื้นที่(Zoning by Agri-Map)"

kiddab

หรือตามความต้องการของตลาด หรือต้องมารวมกลุ่มทำการเกษตรแปลงใหญ่ หรือต้องเป็นสมาชิกสหกรณ์การเกษตร หรือสมาชิกสถาบันเกษตรกร ที่มีฐานะเป็นนิติบุคคลหรือต้องลดการใช้สารเคมีในการทำการเกษตร เป็นต้น ซึ่งวิธีการนี้จะทำให้กษ.และหรือส่วนราชต่างๆสามารถวางแผนการผลิตได้อย่างเป็นระบบสอดคล้องกับสถานการณ์โลก หรือความต้องการของตลาด(Demamnd) สามารถแก้ไขปัญหาผลผลิตล้นตลาด(Over Supply)และควบคุมคุณภาพผลผลิตได้

รวมทั้งกระทรวงจะสามารถกำหนดแผนการผลิตได้ตามอำนาจหน้าที่ (Function)ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการกองทุนขึ้นมาทำหน้าที่วางมาตรรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตรเหมือนกับการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย มีวิธีการดูแลรักษาค่าเงินบาท หรือการรักษาราคาอ้อยและน้ำตาลตามกฎหมายอ้อยและน้ำตาล เป็นต้น หากเกษตรกรรายใดที่เป็นสมาชิกกองทุนไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อกำหนดดังกล่าวข้างต้น ก็จะไม่ได้รับการช่วยเหลือคุ้มครองจากกองทุนฯ

สำหรับการจัดตั้งกองทุนเกษตรกรรมประชารัฐนั้น ในขั้นแรกกระทรวงอาจพิจารณาเสนอกฎหมายรวมกองทุนต่างๆของกษ.ในปัจจุบันซึ่งมีจำนวน13 กองทุนให้เหลือเพียง1-2กองทุนและกำหนดระเบียบกติกาการใช้เงินกองทุนใหม่ตามแนวทางข้างต้น สำหรับเงินหมุนเวียนที่จะนำเข้าส่งเข้ากองทุนเพิ่มในแต่ละปี อาจจะขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาลให้นำเงินค่าธรรมเนียมส่งสินค้าเกษตรออกไปต่างประเทศบางส่วนหรือแบ่งจากภาษีอากรสินค้าเกษตร เป็นต้น

ดังนั้น จึงขอส่งข้อมูลงบประมาณการช่วยเกษตรกรในช่วง 4 ปี พร้อมแนวคิดของรมว.กษ.มาให้ข้าราชการ กษ.ได้พิจารณาและช่วยกันระดมสมอง(Brainstroming)เสนอแนวทางการบริหารจัดการภาคการเกษตรใหม่มายังส่วนกลาง
agri

อนึ่ง รายงานจำนวนงบประมาณที่ใช้ในการขับเคลื่อนและช่วยเหลือด้านการเกษตร ตั้งแต่ปี 2557-2560

1.ส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
1.1 งบกลางสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรเรื่องสินค้าเกษตรต่างๆและความเสียหายจากภัยพิบัติ (เฉพาะในส่วนที่ กษ.เสนอขอ ครม.) ปี 2557 เป็นเงิน 26,344.30 ล้านบาท ปี 2558 เป็นเงิน 26,910.70 ล้านบาท ปี 2559 เป็นเงิน 18,022.74 ล้านบาท ปี 2560 เป็นเงิน 32,134.53 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 103,412.27 ล้านบาท

1.2 งบประมาณรายจ่ายประจำปีของ กษ.ที่ใช้ในการพัฒนาภาคเกษตร (ไม่รวมค่าใช้จ่ายประจำขั้นต่ำ) ตั้งแต่ปี 2557 - 2560 รวมเป็นเงิน 256,427.35 ล้านบาท
- รวมงบกลางสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินฯและงบประมาณรายจ่ายประจำปี ตั้งแต่ปี 2557-2560 เป็นเงินของของกระทรวงรวมทั้งสิ้น 359,839.62 ล้านบาท

2.ส่วนของกระทรวงพาณิชย์เสนอขอ ครม.ช่วยเหลือด้านสินค้าเกษตร
ปี 2557 เป็นเงิน 612 ล้านบาท ปี 2560 เป็นเงิน 53,749.26 ล้านบาท รวมเป็นเงินจำนวน 54,361.26 ล้านบาท

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6

3.ส่วนของกระทรวงการคลัง เสนอขอ ครม.ช่วยเหลือด้านการเกษตร
ปี 2557 เป็นเงิน 4,112.80 ล้านบาท ปี 2558 เป็นเงิน 1,860.57 ล้านบาท ปี 2559 เป็นเงิน 45,589.67 ล้านบาท ปี 2560 เป็นเงิน 409.85 ล้านบาท รวมเป็นเงิน จำนวน 51,972.89 ล้านบาท รวมทุกส่วนราชการเป็นเงินทั้งสิ้น 466,173.77 ล้านบาท

4.กรอบวงเงินกู้ของ ธ.ก.ส.ที่ ครม. ให้ความเห็นชอบ ระยะเวลาตั้งแต่ปี 2557 - 2565 เป็นเงินทั้งสิ้น 402,516.04 ล้านบาท แบ่งเป็น สินค้าข้าว วงเงินกู้ 151,531.34 ล้านบาท มันสำปะหลัง วงเงินกู้ 184,972 ล้านบาท ยางพารา วงเงินกู้ 63,950 ล้านบาท ปศุสัตว์ วงเงินกู้ 2,062.70 ล้านบาท

e-book-1-503x62-7