"กมธ.เศรษฐกิจ" เปิดผลศึกษามาตรการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าฯ ชี้ กระทบ 816 บ.

17 พ.ค. 2561 | 15:16 น.
สนช. เตรียมพิจารณารายงาน 2 ฉบับ "กมธ.การเมือง" ส่งผลศึกษาร่างก.ม.ติดตามทรัพย์สินของรัฐคืนฯ ด้าน "กมธ.เศรษฐกิจ" เปิดผลศึกษามาตรการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าฯ ชี้ กระทบ 816 บ. ผลิตชิ้นส่วน แนะ ผู้ประกอบการ เร่งพัฒนา 3 ด้านรับมือ “คน-ลงทุนวิจัย-ต่อยอดผลิตภัณฑ์”

- 17 พ.ค. 61 - ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันพรุ่งนี้ (18 พฤษภาคม) จะรับทราบรายงานการพิจารณาศึกษาเรื่อง คือ 1.รายการการพิจารณาศึกษาร่างพระราชบัญญัติมาตรการติดตามทรัพย์สินของรัฐคืนจากการเอาไปโดยมิชอบ พ.ศ....ที่คณะกรรมาธิการการเมือง สนช. พิจารณาเสร็จแล้ว โดยสาระสำคัญเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน โดยกำหนดเพิ่มหน้าที่และอำนาจให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการติดตามทรัพย์สินของรัฐคืน นอกเหนือจากการตรวจเงินแผ่นดิน

และ 2.รายงานการพิจารณาศึกษาเรื่อง ผลกระทบต่อการจัดเก็บภาษี กรณีมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การเศรษฐกิจ การเงินและการคลังพิจารณาเสร็จแล้ว โดยผลการศึกษาผลกระทบของนโยบายการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไทยมีทั้งผลกระทบเชิงบวก อาทิ ไทยเป็นประเทศแรกในภูมิภาคที่มีแนวทางส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าทำให้มีโอกาสสูงที่จะช่วงชิงความได้เปรียบจากการเข้าสู่ตลาดรายแรกจากประเทศคู่แข่ง หากประสบความสำเร็จในการสร้างฐานการผลิตจะยกระดับความสำคัญของไทยในฐานะห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์โลก ทั้งยังสะท้อนให้เห็นทิศทางการพัฒนาประเทศที่ต้องการเพิ่มน้ำหนักให้กับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้นควบคู่ไปกับการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม เป็นต้น

ส่วนผลกระทบเชิงลบจะส่งผลต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศโดยเฉพาะเอสเอ็มอี ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำกว่า 816 บริษัท การจ้างงานกว่า 326,400 คน เนื่องจากยานยนต์ไฟฟ้า (BEV) ใช้ชิ้นส่วนเพียง 1,500 ชิ้น ต่างจากยานยนต์และชิ้นส่วนในปัจจุบัน (ICE) ที่มีการใช้ชิ้นส่วนมากกว่า 30,000 ชิ้น โดยชิ้นส่วนที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ ชิ้นส่วนประเภทเครื่องยนต์ หม้อน้ำ ท่อไอเสีย ถังน้ำมัน ระบบส่งกำลัง ฯลฯ รวมถึงผู้ผลิตชิ้นส่วนอะไหล่ทดแทน (REM) และศูนย์บริการหลังการขาย และอาจส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมที่มีมูลค่าการส่งออกชิ้นส่วนกว่า 6 แสนล้านบาท (ปี 2559) ภาครัฐจึงควรศึกษามาตรการให้รอบด้านและครอบคลุมในทุกมิติเนื่องจากยานยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในมีส่วนสำคัญสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ ทั้งในมิติการส่งออก การจ้างงาน การลงทุน และการผลิตสำหรับตลาดภายในประเทศ

สำหรับผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก อาทิ ระบบเครื่องยนต์ ระบบส่งกำลัง (เกียร์) และระบบระบายความเย็นจึงควรปรับตัวใน 3 ด้าน คือ 1.Human Resource : ที่ต้องร่วมมือและพัฒนาร่วมกับบริษัทผู้ผลิตยานยนต์ 2.Investment : วิจัยและพัฒนาชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า และ 3.Product Planning : รักษาจุดแข็งด้านการผลิตและต่อยอดรองรับอนาคต ทั้งยังส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของแผ่นดิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์ที่มีจำนวนลดลงอย่างเห็นได้ชัดและมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการจัดเก็บภาษีในรูปประเภทอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ผลกระทบต่อการจัดเก็บภาษีอากรที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างราคาน้ำมัน ได้แก่ ภาษีน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน รวมถึงกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ตลอดจนภาษีอากรขาข้าวของกรมศุลกากร