ปภ.สั่งจับตา 51 จังหวัดพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ดินโคลนถล่ม

17 พ.ค. 2561 | 06:23 น.
- 17 พ.ค. 61 - นายกอบชัย บุญอรณะ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้มีหนังสือด่วนที่สุด แจ้งผู้อำนวยการจังหวัดทุกจังหวัด เตรียมความพร้อมแผนเผชิญเหตุป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย ดินถล่ม ปี 2561 เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดหมายลักษณะอากาศช่วงฤดูฝนของประเทศไทย พ.ศ. 2561 ว่าฤดูฝนของประเทศไทยปีนี้ จะเริ่มต้นประมาณปลายสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคม 2561 และจะสิ้นสุดประมาณกลางเดือนตุลาคม 2561 ดังนั้นเพื่อเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขตลอดช่วงฤดูฝนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงให้กองอำนวยทุกจังหวัดเตรียมความพร้อม

โดยเฉพาะจังหวัด 51 จังหวัดที่กรมทรัพยากรธรณีได้เก็บข้อมูลพบพื้นที่เสี่ยงดินถล่มมักอยู่ติดภูเขาและใกล้ลำห้วย มีร่องรอยดินไหลหรือดินเลื่อนบนภูเขา มีรอยแยกของพื้นดินบนภูเขา ถูกน้ำป่าไหลหลากและท่วมบ่อย ซึ่งมีถึง 51 จังหวัด 248 อำเภอ 2,082 หมู่บ้าน ประกอบด้วย จังหวัดกำแพงเพชร , เชียงราย , เชียงใหม่ , ตาก , นครสวรรค์ , น่าน , พะเยา , พิษณุโลก , เพชรบูรณ์ , แพร่ , แม่ฮ่องสอน , ลำปาง , ลำพูน , สุโขทัย , อุตรดิตถ์ , ขอนแก่น , ชัยภูมิ , นครราชสีมา , อุดรธานี , เลย , ศรีสะเกษ , หนองบัวลำภู , หนองคาย , อุบลราชธานี , อุทัยธานี , กาญจนบุรี , ประจวบคีรีขันธ์ , เพชรบุรี , ราชบุรี , ลพบุรี , สุพรรณบุรี , จันทบุรี , ชลบุรี , ตราด , ปราจีนบุรี , ระยอง , สระแก้ว , กระบี่ , ชุมพร , ตรัง , นครศรีธรรมราช , นราธิวาส , ปัตตานี , พังงา , พัทลุง , ภูเก็ต , ยะลา , ระนอง , สงขลา , สตูล และสุราษฎร์ธานี floods-thailand-january-2017-DDPM

นายกอบชัย กล่าวว่า การเตรียมความพร้อม ดังนี้ 1.ให้เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในพื้นที่ชุมชน เส้นทางคมนาคมสายหลัก ที่มักเกิดปัญหาน้ำท่วมขังเมื่อฝนตกหนัก 2.ให้เพิ่มพื้นที่รองรับน้ำ เร่งกำจัดวัชพืช ขยะ ตลอดจนสิ่งกีดขวางทางน้ำอื่นๆ ในคู คลอง แหล่งน้ำต่างๆ โดยเฉพาะที่เป็นเส้นทางระบายน้ำลงสู่แม่น้ำสายต่างๆ 3.มอบหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เป็นเจ้าของอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรง ให้ประสานหน่วยงานทางวิชาการตรวจสอบหากพบความผิดปกติให้เร่งปรับปรุงแก้ไขทันที และ4.ปรับปรุงแผนการเผชิญเหตุอุทุกภัยของจังหวัด

"นอกจากนี้ให้ประชาสัมพันธ์เชิงรุกเพื่อสร้างการรับรู้ให้กับประชาชน โดยสร้างความตระหนักในการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัยในช่วงฤดูฝน พร้อมทั้งรณรงค์ให้ประชาชนที่อาศัยริม คู คลอง แม่น้ำ มีส่วนร่วมรักษาสภาพแวดล้อมบริเวณที่อยู่อาศัยโดยการไม่ทิ้งขยะลงแหล่งน้ำ"

สำหรับการเผชิญเหตุเมื่อเกิดอุทกภัยให้จัดตั้งศูนย์บัญชาการระดับจังหวัด อำเภอ และศูนย์องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยให้เป็นศูนย์ควบคุมสั่งการ เมื่อฝนตกหนักในพื้นที่ ให้มอบหมายกำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน ตลอดจนอาสาสมัครเฝ้าระวัง และร่วมกันกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชน flooding-predicted-2018-la-nina-heads-thailand

กรณีบ้านเรือประชาชนได้รับความเสียหายให้บูรณาการจัดทีมช่างประชารัฐตำบล ทหาร ตำรวจ และหน่วยงานอื่นๆ เพื่อเร่งซ่อมแซมบ้านเรือนของประชาชน ในกรณีเส้นทางคมนามคมได้รับความเสียหาย ให้เจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกการจราจร เร่งซ่อมแซมทางที่ชำรุด พร้อมจัดยานพาหนะสำหรับบริการประชาชนในพื้นที่ และให้จัดชุดปฎิบัติการให้ความช่วยเหลือด้านการดำรงชีพ เช่น อาหาร น้ำดื่ม การรักษาพยาบาล ที่พักพิง และอุปกรณ์ยังชีพ เป็นต้น พร้อมกับรายงานมายังหน่วยงานกลางทันที เพื่อประเมินสถานการณ์ ตลอดจนใช้เสนอความคิดเห็นต่อผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติในการตัดสินใจยกระดับการเป็นการจัดการสาธารณภัยขนาดใหญ่ หรือการจัดการสาธารณภัยร้ายแรงอย่างยิ่งต่อไป