‘มะนิลา วอเตอร์’ มองโอกาส EEC รุกธุรกิจจัดการน้ำ

18 พ.ค. 2561 | 04:39 น.
- 16 พ.ค. 61 - ทุนใหญ่สัญชาติฟิลิปปินส์ บริษัท มะนิลา วอเตอร์ จำกัด หรือ MWC ได้เข้ามาถือหุ้นสัดส่วน 18.72% ใน บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรนํ้าภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ EASTW โดยได้ลงนามสัญญา ซื้อหุ้น EASTW จากที่บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO ถือทั้งหมดมูลค่า 5,226 ล้านบาท เมื่อกลางเดือนมีนาคม 2561 ที่ผ่านมา

นายเวอร์จิลิโอ จูเนียร์ เซอร์แวนเทส ริเวร่า กรรมการ EASTW ตัวแทนจากกลุ่มบริษัท มะนิลา วอเตอร์ฯ เปิดใจให้สัมภาษณ์ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงเป้าหมายการลงทุนและนโยบายทิศทาง EASTW หลังจากนี้ มะนิลา วอเตอร์เป็นผู้นำลงทุนในเรื่องนํ้ารายใหญ่สุดของเวียดนาม และบริษัทยังมีนโยบายขยายการลงทุนไปยังประเทศอื่นๆ ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ส่วนการลงทุนใน EASTW จัดเป็นวงเงินที่มีขนาดใหญ่สุดของ มะนิลา วอเตอร์ในเอเชีย ซึ่งทางกลุ่มใช้เวลาในการตัดสินใจจนเสร็จสิ้นกระบวนการซื้อขายกับ EGCO เป็นเวลา 1 ปี

“เราศึกษามาระยะหนึ่งและมองเห็นโอกาสทางธุรกิจ ไม่อย่างนั้น มะนิลา วอเตอร์คงไม่ซื้อในราคาหุ้นที่มากกว่าคู่แข่ง
รายอื่นๆ ที่เสนอเข้ามา” MP18-3366-A

การลงทุนครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสและความท้าทายนั่นก็คือ 1.รัฐบาลไทยมีเป้าหมายชัดเจนในการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) มีการเชิญนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุน 2. มูลค่าลงทุนในพื้นที่อีอีซี นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ระบุว่า มีขนาดถึง 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ  1.55 ล้านล้านบาท และ 3. ศักยภาพ EASTW ที่จะใช้โอกาสนี้เข้าไปดำเนินการในพื้นที่อีอีซี  ซึ่ง EASTW มีระบบท่อส่งนํ้าอย่างเป็นเครือข่ายอยู่แล้ว ตั้งแต่ตอนเหนือของประเทศถึงจังหวัดระยอง ความยาวร่วม 500 กิโลเมตร  ซึ่งไม่มีคู่แข่งเลย ถือเป็นข้อได้เปรียบที่สำคัญมากๆ

“เราเชื่อมั่นการเติบโตของธุรกิจนํ้า โดยเฉพาะในพื้นที่อีอีซี และการนำเอากลยุทธ์ของมะนิลา วอเตอร์ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการบริหารจัดการนํ้าครบวงจรมาใช้  ผนวกกับกลยุทธ์การทำธุรกิจของ EASTW จะเป็นกลไกที่ดีที่จะสนับสนุนการลงทุนของมะนิลา วอเตอร์ ให้เกิดการเติบโตทางธุรกิจ”

ทั้งนี้การลงทุนของมะนิลา วอเตอร์เป็นการเล็งผลระยะยาวหรืออย่างตํ่า 7 ปี และต้องมีอัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) 12-15% ต่อปี  หรือสถานการณ์เลวร้ายอย่างมาก ก็คือเสมอตัว เพราะทุกโครงการที่ลงทุนจะมีการประเมินและกลั่นกรองเป็นอย่างดี เช่นเดียวกับ EASTW ผลตอบแทนจากการลงทุนก็จะมาจากการขยายธุรกิจของ EASTW ที่เกิดขึ้นจากอีอีซีเป็นหลักและการเติบโตของประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม แม้กลุ่มมะนิลา วอเตอร์จะเข้ามาถือหุ้นใหญ่ 18.72% แต่มุมมองการบริหารธุรกิจยังสอดคล้องกับ
คณะกรรมการ EASTW คือ เน้นบริการธุรกิจนํ้าให้กับภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจการบำบัดนํ้าเสีย และยังมีมุมมองที่เหมือนกันในเรื่องการขยายโอกาสในพื้นที่อีอีซี จากจุดแข็งที่ EASTW มีเน็ตเวิร์กอยู่แล้ว ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว

นอกจากนั้นบริษัทลูก EASTW คือ บมจ.ยูนิเวอร์แซล ยูทีลิตี้ส์ หรือ UU ก็มีศักยภาพในการให้บริการนํ้าสาธารณูปโภคในหลายๆ พื้นที่ ซึ่งสามารถใช้ศักยภาพและความชำนาญของมะนิลา วอเตอร์ไปช่วยได้

ผลประกอบการไตรมาส 1/2561 มะนิลา วอเตอร์มีอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 17% จากปีที่ผ่านมา สู่ระดับ 32.57 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1,010 ล้านบาท โดยการเติบโตที่แข็งแกร่งได้รับการสนับสนุนโดยส่วนใหญ่มาจากโครงการสัมปทานในกรุงมะนิลา ควบคู่ไปกับการขยายตัวของบริษัทย่อยที่ดำเนินงานภายใต้ มะนิลา วอเตอร์ ฟิลิปปินส์ เวนเจอร์ หรือ MWPV ขณะที่สิ้นปี 2560 กำไรสุทธิอยู่ที่ 118.53 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 3,674 ล้านบาท

เซกชั่นตลาดทุน หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับที่ 3366 วันที่ 17-19 พ.ค.2561 |