บินไทยลุ้นรีเทิร์นมะกันปีหน้า กพท.ชง 250 ล.จ้างผู้เชี่ยวชาญต่างชาติออก AOC 41แอร์ไลน์

29 ม.ค. 2559 | 09:00 น.
เจ้าจำปี รอไทยปลดล็อค FAA ก่อนตัดสินใจรีเทิร์นจุดบินสู่อเมริกาปีหน้า ลั่นไม่รีเทิร์นแอลเอ แต่มองในจุดอื่นแทน ขณะที่กพท. เล็งชงครม.ขออนุมัติงบ 250 ล้านบาท จ้างผู้เชี่ยวชาญต่างชาติจาก CAAi ที่ปรึกษาด้านเซฟตี้ระดับโลก ในเครือ UK Civil Aviation Authority ร่วมตรวจสอบการออก AOC ใหม่ให้ 41 สายการบินพร้อมกับผู้เชี่ยวชาญของไทย ชี้ล่าสุดมี 3 แอร์ไลน์พร้อมรับการตรวจ หวังตรวจเสร็จภายในปีนี้ ลั่นหากสายไหนไม่พร้อมจะให้ไลเซ็นต์เฉพาะบินในประเทศเท่านั้น

นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่ากับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า แม้ปัญหาเรื่องความเสี่ยง ด้านรายได้จากตลาดยุโรป ของการบินไทยจะหมดไป จากการที่บริษัทฯผ่านการประเมินมาตรฐานด้านความปลอดภัยจากสำนักงานความปลอดภัยการบินพลเรือนแห่งสหภาพยุโรป(EASA) และได้รับอนุญาตให้เป็นสายการบินของประเทศนอกสหภาพยุโรปที่สามารถทำการบินเข้าน่านฟ้ากลุ่มประเทศสหภาพยุโรปต่อไปโดยไม่มีเวลาจำกัด หรือ TCO (Third Country Operator) แต่การบินไทยก็อยากผลักดันให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย(กพท.) แก้ไขข้อบกพร่องที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศหรือICAO ติงไว้ เพื่อปลดล็อคปัญหาที่ประเทศไทย ถูกสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (FAA ) ลดระดับประเทศไทยมาอยู่ในประเภทที่ 2 (Category 2) ให้กลับมาอยู่ประเภทที่ 1 เหมือนเดิม

เนื่องจากการบินไทยมีแผนจะกลับมาเปิดจุดบินเข้าสหรัฐอเมริกาได้อีกครั้งในปีหน้า หลังจากหยุดทำการบินเข้าลอสแอเจลิสไป จากปัญหาการขาดทุนในเส้นทางดังกล่าว แต่การกลับมาเปิดบินใหม่ กำลังพิจารณาเมืองที่เหมาะสม และไม่คิดจะกลับมาเปิดบินลอสแองเจลิสอีกแน่นอน เพราะไม่สามารถทำกำไรได้

ส่วนการเข้าสู่กระบวนการออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่ Re-certification หรือการออกAOC ใหม่ ตามแนวทางแก้ไขข้อบกพร่องของกพท.ที่มี 5 ขั้นตอน ขณะนี้ขั้นตอนของการบินไทยอยู่ในขึ้นตอนที่2 คือ การยื่นคำขออย่างเป็นทางการ (Formal Application Phase) ซึ่งได้เตรียมการทุกอย่างไว้พร้อม รอขั้นตอนที่เหลือ ซึ่งจะดำเนินการโดยกพท. ที่จะดำเนินงานในขั้นตอนที่ 3 คือ ขั้นตอนการตรวจสอบเอกสารหลักฐาน (Documents Evaluation Phase) เพื่อนำไปสู่ขั้นตอนที่ 4 คือการตรวจสอบการปฏิบัติการ (Demonstration and Inspection Phase) และขั้นตอนสุดท้าย จะเป็นการออกใบรับรอง (Certification Phase)

ด้านนายจุฬา สุขมานพ อธิบดีกรมท่าอากาศยาน และรักษาการณ์ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้ กพท.เตรียมนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขออนุมัติงบกลางวงเงิน 250 ล้านบาท เพื่อจ้างผู้เชี่ยวชาญชาวต่างชาติ เบื้องต้นมองไว้ที่ 10 คน มาร่วมตรวจสอบสายการบิน ในกระบวนการออก AOC ใหม่ โดยเสนอว่าจ้าง CAA International (CAAi) ซึ่งเป็นบริษัทให้คำปรึกษาด้านมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบิน ที่ได้รับการรับรอง และเป็นบริษัทในเครือของ UK Civil Aviation Authority (UK CAA) เข้ามาร่วมทำงานกับ กพท.และส่งผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์เข้ามาช่วยตรวจสอบสายการบินในกระบวนการออก AOC ใหม่ วงเงิน 3.2 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 170 ล้านบาท และค่าหลักสูตรการฝึกอบรม ประมาณ 80 ล้านบาท

ทั้งนี้คาดว่าภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ จะสามารถลงนามว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญจาก CAAI ที่จะเข้ามาทำงานร่วมกับ กพท. ได้โดยจะเน้นการตรวจสอบการออกใบอนุญาต AOC เป็นหลัก ซึ่งก่อนเริ่มงานผู้เชี่ยวชาญจาก CAAI ต้องเข้ารับการอบรมเรียนรู้กฎระเบียบการบินตามคู่มือของไทย คาดว่าจะใช้เวลาอบรมราว 3 – 4 สัปดาห์ก่อนจะเริ่มปฏิบัติงาน เพื่อเข้ามาตรวจสอบคู่มือ และจัดอบรมให้กับเจ้าหน้าที่ของ กพท. กระบวนการทั้งหมดคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนเมษายนนี้ และจะเข้าสู่การตรวจสอบสายการบินตั้งแต่เดือนพฤษภาคมนี้เป็นต้นไป ซึ่งตามกรอบเวลาตรวจสอบสายการบินปกติจะใช้เวลาราว 6 เดือนต่อสายการบิน ขณะนี้มีเพียง 3 สายการบินที่ยื่นเอกสารความจำนงรับการตรวจสอบ ได้แก่ การบินไทย บางกอกแอร์เวยส์ และนกแอร์

" ICAO กำหนดให้ตรวจสอบออกใบอนุญาต 28 สายการบินใหม่ ที่เปิดทำการบินระหว่างประเทศ แต่ กพท. จะดำเนินการตรวจสอบทั้ง 41 สายการบินที่ได้รับอนุญาต ซึ่งหากเปิดให้ยื่นเอกสารแล้ว แต่พบว่าเอกสารของสายการบินที่ส่งมายังไม่ครบ ยังไม่ชัดเจนก็ต้องตีกลับไปใหม่ และหากสายการบินใดมีเอกสารไม่พร้อมจะปรับลดให้ทำการบินภายในประเทศอย่างเดียวไปก่อน เพื่อไม่ให้ภาพรวมของการตรวจสอบต้องล่าช้า ทั้งนี้กรอบการทำงานปัจจุบันยังวางโจทย์ที่จะตรวจสอบออก AOC ให้เสร็จทั้ง 41 สายการบินภายในปีนี้"

นายจุฬา ยังกล่าวถึงโครงสร้างของกทพ.ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งจัดสรรบุคลากรเพิ่มเติมทั้งในส่วนของเปิดรับสมัครบุคคลทั่วไป และผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ รวมจำนวน 305 คน เพื่อเข้ามาเสริมกับบุคลากรที่โอนถ่ายมาจาก บพ. ราว 197 คน ส่งผลให้ กพท. จะมีบุคลากรตามโครงสร้างที่กำหนดไว้ 514 คน โดยการเปิดรับสมัครบุคลากรดังกล่าวจะเริ่มในวันที่ 1 เมษายน นี้

อีกทั้งในการประชุมคณะกรรมการ กพท. ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 25 มกราคม2559 บอร์ดได้อนุมัติโครงสร้างอัตราเงินเดือนของสำนักงาน กพท. อาทิ ตำแหน่ง ผอ.กพท. มีการอนุมัติกรอบวงเงิน 350,000 - 500,000 บาท รอง ผอ.กพท. 118,300 – 290,000 บาท ผู้จัดการฝ่าย (ผอ.กอง) 83,760 -240,000 บาท ทั้งยังกำหนดเงินประจำตำแหน่ง ดังนี้ ผอ.กพท. ในอัตรา 25 % ของเงินเดือน รอง ผอ.กพท. 35,000 บาทต่อเดือน ผู้จัดการฝ่าย 25,000 บาทต่อเดือน หัวหน้ากอง 5,000 บาทต่อเดือน เป็นต้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,126 วันที่ 28 - 30 มกราคม พ.ศ. 2559