ลุ้นศาลรธน.ตีความ เซตซีโร่คดีชุมนุมการเมือง อัยการไร้อำนาจฟ้องม็อบปี 51?

11 พ.ค. 2561 | 14:01 น.
256458 ศาลอาญารับลูก "ประพันธุ์-สนธิ" ชงศาลรธน.ตีความอัยการไม่มีอำนาจฟ้องม็อบพันธมิตรชุมนุมหน้ารัฐสภา ปี 51 “ประพันธุ์”แนะจับตาบรรทัดฐานคดีชุมนุมทางการเมือง

เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ศาลอาญาได้มีคำสั่งให้ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย คำร้องในคดีที่อัยการเป็นโจทก์ฟ้อง แกนนำและผู้ร่วมชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย(พธม.) ที่ชุมนุมหน้าอาคารรัฐสภา เมื่อปี 2551 โดยนายประพันธุ์ คูณมี และนายสนธิ ลิ้มทองกุล 2 แกนนำพันธมิตร ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญผ่านศาลอาญาให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 212, 213 โดยในคำร้องระบุเหตุของการยื่นคำร้องในครั้งนี้ไว้ 5 ประการ ดังนี้

1.พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นโจทก์ฟ้องผู้ร้องเป็นจำเลยกับพวกรวม 20 คนต่อศาลอาญา ด้วยข้อหาและฐานความผิดร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาหนังสือหรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อการแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91,116,215,216,309,310 พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่6) พ.ศ.2522 มาตรา 4 ในคดีหมายเลขดำที่ อ.4924/2555 และคดีหมายเลขดำที่ อ.275/2556 โดยศาลมีคำสั่งให้รวมการพิจารณาสำนวนทุกคดีเป็นคดีเดียวกัน
307605 2.การตั้งข้อกล่าวหาของพนักงานสอบสวน และการที่โจทก์มีคำสั่งฟ้องจำเลยต่อศาลอาญาตามข้อหานั้น เป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 6 ที่บัญญัติว่า “รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎหรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้” ทั้งยังเป็นการกระทำอันเป็นการใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติมาตรา 6 และเป็นการละเมิดต่อสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองสิทธิของจำเลยไว้อีกด้วย ดังที่รัฐธรรมนูญบัญญัติเรื่องดังกล่าวนี้ไว้ในมาตรา 211 ที่ว่า

“ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีใด ถ้าศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งพร้อมด้วยเหตุผลว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยมาตรา 6 และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้นให้ศาลส่งความเห็นตามทางการเพื่อศาลรัฐธรรมนูญจะได้พิจารณาวินิจฉัย ระหว่างนั้นให้ศาลดำเนินการพิจารณาต่อไปได้ แต่ให้รอการพิพากษาคดีไว้ชั่วคราวจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรธน.

ในกรณีที่ศาลรธน.เห็นว่า คำโต้แย้งของคู่ความตามวรรค 1 ไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัยศาลรธน.จะไม่รับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาก็ได้ คำวินิจฉัยของศาลรธน.ให้ใช้ได้ในคดีทั้งปวงแต่ไม่กระทบถึงคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดแล้ว”

และมาตรา 212 ซึ่งบัญญัติว่า “บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาล รธน.เพื่อมีคำวินิจฉัยว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญไว้ นอกจากนี้ในรธน.2560 ได้คงหลักการตามบทบัญญัติห่งรธน. 2550 ไว้ทุกประการทั้งยังมีบทบัญญัติที่ขยายความไว้ครอบคลุมไปถึงการกระทำใดๆที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญอีกด้วย

ผู้ร้องจึงเป็นบุคคลที่มีสิทธิเสรีภาพและได้รับการรับรองคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญในการที่จะใช้สิทธิเสรีภาพของตนภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญปี 2550 และ 2560 ทุกประการ

4DQpjUtzLUwmJZZPDd9289s2eYe5gfMOclNWxUgtkxYp ชุมนุมตามสิทธิ รธน.

3.ระบุเหตุว่า ระหว่างวันที่ 25 พฤษภาคม-3 ธันวาคม 2551 ซึ่งเป็นช่วงเวลาระหว่างที่มีการชุมนุมทางการเมืองของประชาชน ภายใต้การนำของกลุ่มประชาชนที่เรียกว่า “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.)” นั้น ถือได้ว่าเป็นการชุมนุมทางการเมืองของประชาชนตามสิทธิเสรีภาพภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ที่บังคับใช้ในขณะนั้น ตาม รธน.มาตรา 45 ที่บัญญัติรับรองคุ้มครองสิทธิของบุคคลให้กระทำได้ การจำกัดเสรีภาพในเรื่องนี้จะกระทำมิได้

นอกจากนี้การชุมนุมดังกล่าวยังเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพของบุคคลตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 63 ที่ว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ” และวรรค 2 ที่ว่า “การจำกัดเสรีภาพตามวรรค 1 จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะในกรณีการชุมนุมสาธารณะ และเพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่ใช้ที่สาธารณะ หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม หรือในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึก” ...และภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่ให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนสามารถกระทำได้ ซึ่งการชุมนุมของประชาชนดังกล่าวศาลปกครองสูงสุดได้มีคำวินิจฉัยไว้ในคดีหมายเลขดำที่ อ.280/2556 คดีหมายเลขแดงที่ อ.1442/2560 ระหว่าง นายชิงชัย อุดมเจริญกิจ กับพวกรวม 250 คน เป็นผู้ฟ้องคดี กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 1 สำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 2 ผู้ถูกฟ้องคดี
526595 โดยศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ในบทบัญญัติมาตรา 63 ของรธน.2550 ทั้งได้วินิจฉัยว่า “การแสดงออกในการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ในฐานะประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยโดยแท้ที่มอบผ่าน ส.ส.ให้ปฏิบัติหน้าที่แทน หากไม่เห็นด้วยกับการที่นายสมชาย วงษ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี จะเข้ามาบริหารประเทศโดยสืบทอดอำนาจต่อจากรัฐบาล นายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งต้องหาว่า มีพฤติการณ์ทุจริต ร่ำรวยผิดปกติ และกระทำความผิดทางอาญาจนต้องคำพิพากษาให้จำคุก...ประชาชนทั้งหลายย่อมมีสิทธิที่จะชุมนุมแสดงออกถึงการไม่เห็นด้วยกับผู้นำฝ่ายบริหารตามวิถีทางประชาธิปไตย”

ลุ้นล้างคดีชุมนุมการเมือง
นอกจากนี้ในคำพิพากษาศาลอาญา คดีหมายเลขดำที่ อ.3973/2558 คดีหมายเลขแดงที่ อ.2020/2560 ความอาญา ระหว่างพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ที่ 1 กับพวกรวม 9 คน จำเลย ศาลอาญาพิพากษาไว้ตอนหนึ่งว่า “การปราศรัยของพันธมิตรฯทำให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมและประชาชนทราบว่า รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช อยู่ภายใต้การครอบงำและสั่งการของนายทักษิณ..กระทำของฝ่ายจำเลยต้องถือว่า เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมและประเทศชาติในระดับหนึ่ง”

ทั้งยังปรากฏว่า คำพิพากษาศาลฎีกา คดีหมายเลขดำที่ 1852/2551 คดีหมายเลขแดงที่ 1442/2555 ศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา ความอาญา ระหว่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โจทก์ นายสนธิ ลิ้มทองกุล ที่ 1 กับพวกรวม 7 คน จำเลย ศาลฎีกาพิพากษาไว้ตอนหนึ่งว่า “ข้อเท็จจริงเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วว่า.. รัฐบาลที่นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกฯ เป็นรัฐบาลหุ่นเชิดของโจทก์ มีการโยกย้ายข้าราชการในตำแหน่งสำคัญ.. ” และคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำที่ 1923/2551 คดีหมายเลขแดงที่ 4591/2551 ศาลอาญา ความอาญา ระหว่างพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โจทก์ นายสนธิ ลิ้มทองกุล ที่ 1 กับพวกรวม 7 คน จำเลย โดยศาลพิพากษา เห็นว่า กรณีมีเหตุตามคำแถลงการณ์ให้เป็นที่น่าสงสัยตามสมควรเกี่ยวกับพฤติการณ์ในขณะที่โจทก์ดำรงตำแหน่งนายกฯว่า โจทก์ได้ดำเนินการบริหารประเทศส่อไปในทางผิดปกติหรือไม่โปร่งใส”
จากข้อเท็จจริงดังกล่าว ย่อมจะเห็นได้ว่า พันธมิตรฯได้ชุมนุมทางการเมืองโดยชอบตามสิทธิ เสรีภาพและกฎหมายภายใต้รัฐธรรมนูญ
BC691ED3-2140-4303-B68A-08B5DF74AF27 4. การตั้งข้อกล่าวหา และการสอบสวนของพนักงานสอบสวนและการฟ้องคดีอาญาของพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์ แก่ผู้ร้องทั้งหมดที่เป็นจำเลยในคดีอาญา คดีหมายเลยดำที่ อ.4924/2555 และคดีหมายเลขดำที่ อ.275/2556 เป็นการบังอาจร่วมกันกระทำการละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้องตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ ทั้งเป็นการกระทำของพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการที่เป็นการขัดหรือแย้งต่อรธน.2550 มาตรา 6 และรธน. 2560 มาตรา 5 และเป็นการละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้องที่ได้รับการรับรองคุ้มครองตามรธน. มาตรา 25 ที่ผู้ร้องสามารถใช้สิทธิทางศาลและยกเป็นข้อต่อสู้คดีได้ในศาลได้

และ 5.อาศัยเหตุผลข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายดังที่ได้กราบเรียนต่อศาลดังกล่าวข้างต้น ผู้ร้องจึงขอให้ศาลส่งความเห็นของผู้ร้องทั้งหมดต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยในประเด็นข้อกฎหมายดังกล่าวต่อไป และระหว่างรอฟังผลการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว ผู้ร้องขอให้ศาลรอการพิจารณาคดีนี้ไว้ชั่วคราวจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะคำวินิจฉัยของศาลรธน.ในประเด็นนี้นั้น อาจทำให้การพิจารณาคดีเสร็จเด็ดขาดไปโดยไม่จำต้องพิจารณาและสืบพยานคดีนี้อีกต่อไป เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมและเพื่อให้การเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 และ มาตรา 213

นายประพันธุ์ เปิดเผยว่า ผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่จะเกิดขึ้นนั้น จะกลายเป็นบรรทัดฐานของการชุมนุมกลุ่มการเมืองต่าง ๆ เพราะผลคำวินิจฉัยของศาลจะผูกพันทุกองค์กรและเป็นประโยชน์กับคดีการชุมนุมทางการเมืองทุกคดี สำหรับคดีนี้จะเป็นกรณีแรกที่ประชาชนใช้สิทธิต่อสู้ทางคดีตามสิทธิในรัฐธรรมนูญ ผลแห่งคำวินิจฉัยนี้อาจพลิกประวัติศาสตร์ทางกฎหมายและทางการเมืองได้
...........................
เชกชั่นการเมือง หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ |ฉบับ 3365 ระหว่างวันที่13-16 พ.ค.2561|
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว