วธ.ชู“บุรีรัมย์”ต้นแบบส่งเสริมแต่งกายผ้าไทยสวมผ้า“ตีนแดง”เอกลักษณ์ท้องถิ่น

07 พ.ค. 2561 | 10:03 น.
วธ.ชู“บุรีรัมย์”ต้นแบบส่งเสริมใช้ผ้าไทย-แต่งกายชุดผ้าไทยสวมใส่ผ้า “ตีนแดง”ผ้าเอกลักษณ์ท้องถิ่นทุกวันอังคารแรกของเดือนอนุรักษ์วัฒนธรรม-ภูมิปัญญาท้องถิ่น สร้างความภูมิใจในอัตลักษณ์-รายได้สู่ชุมชน

นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) ประธานมอบเกียรติบัตรเพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติหน่วยงานในการรณรงค์การแต่งกายด้วยผ้าไทย/ผ้าพื้นเมืองภายใต้โครงการส่งเสริมอัตลักษณ์ผ้าไทยบุรีรัมย์ พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการ “เสน่ห์ผ้าไทยบุรีรัมย์ 4 ชาติพันธุ์” มีผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ผู้แทนจังหวัดบุรีรัมย์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชนและสถาบันการศึกษา เข้าร่วม

buri2

นายวีระ กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) มีนโยบายในการใช้มิติทางด้านศิลปวัฒนธรรมสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อสร้างรายได้จากต้นทุนและทรัพยากรทางวัฒนธรรมสู่ประชาชน ท้องถิ่นและประเทศ และขับเคลื่อนนโยบายประเทศไทย 4.0 โดยเริ่มจากสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมที่มีศักยภาพ 5 ด้าน ได้แก่ มวยไทย อาหารไทย ผ้าไทยและการออกแบบแฟชั่น ภาพยนตร์และวีดีทัศน์ เทศกาลและประเพณี โดยเฉพาะด้านผ้าไทยและการออกแบบแฟชั่น วธ.มีนโยบายส่งเสริมอัตลักษณ์ไทยและความเป็นไทยโดยส่งเสริมการใช้ผ้าไทย รณรงค์การแต่งกายด้วยผ้าไทยและสนับสนุนอุตสาหกรรมผ้าไทย ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนให้หน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน และประชาชน แต่งกายผ้าไทย หรือผ้าพื้นเมืองในชีวิตประจำวัน ซึ่งที่ผ่านมาได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากทุกภาคส่วนของสังคมและในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

buri3

ซึ่งจังหวัดบุรีรัมย์ประสบความสำเร็จและเป็นแบบอย่างที่ดี ในดำเนินการส่งเสริมการใช้ผ้าไทยและรณรงค์การแต่งกายด้วยผ้าไทย โดยสํานักงานวัฒนธรรมจังหวัด(สวจ.) บุรีรัมย์ บูรณาการความร่วมมือกับทางจังหวัดบุรีรัมย์ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานรัฐ เอกชนและสถาบันการศึกษาขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมอัตลักษณ์ผ้าไทยจังหวัดบุรีรัมย์ และจัดกิจกรรมรณรงค์การแต่งกายด้วยผ้าไทยในวันปฏิบัติราชการ “ทุกวันอังคาร” โดยวันอังคารแรกของเดือนให้สวมใส่ผ้าตีนแดง ซึ่งเป็นผ้าเอกลักษณ์ของจังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อสืบสานและอนุรักษ์วัฒนธรรมและภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่น และปลุกจิตสํานึกให้ชาวบุรีรัมย์มีความภาคภูมิใจในผ้าเอกลักษณ์ของจังหวัดบุรีรัมย์ รวมทั้งสนับสนุนให้มีการใช้ผ้าไทย/ผ้าเอกลักษณ์ของจังหวัดบุรีรัมย์อย่างแพร่หลาย ซึ่งเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนและผู้ประกอบการในจังหวัดบุรีรัมย์

buri1

ทั้งนี้ ภายในงานดังกล่าวนอกจากมีการมอบเกียรติบัตรให้แก่ผู้แทนหน่วยงาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชนและสถาบันการศึกษา อาทิ โรงเรียนฮั้วเคี้ยว โรงเรียนอนุบาลประโคนชัย โรงเรียนมารีย์อนุสรณ์ โรงเรียนบุรีรัมย์พิทยาคม เป็นต้น ยังมีการจัดแสดงนิทรรศการ“เสน่ห์ผ้าไทยบุรีรัมย์ 4 ชาติพันธุ์” อีกด้วย

e-book-1-503x62