นายกฯวอน เข้าใจกันใหม่ "เรื่องการปฏิรูป"

28 เม.ย. 2561 | 11:16 น.
- 28 เม.ย. 2561- พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวในรายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”ว่า “เรื่องการปฏิรูป ขอทำความเข้าใจกับผู้วิพากษ์วิจารณ์ว่าอะไรคือการปฏิรูป เข้าใจตรงกันหรือไม่ “การปฏิรูป” ก็คือ การแก้ไขสิ่งที่ไม่ดีให้ดีขึ้น สิ่งที่บกพร่องอยู่ หรือจะทำสิ่งใหม่ๆ อันจะทำให้เกิดประโยชน์ในระยะยาว ไม่ว่ากับประชาชนหรือประเทศชาติ เพื่อให้เกิดการพัฒนา มีรายได้กับประชาชน ประเทศชาติก็มีรายได้ที่เพียงพอต่อการพัฒนานะครับเพื่ออนาคตด้วย

รวมความไปถึง ในเรื่องของการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ย้อนกลับไปดูว่า ก่อนหน้านั้นเป็นอย่างไร ก็ไม่อยากให้กลับไปที่เดิมอีก นี่คือปฏิรูปเหมือนกัน การอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ การสร้างงาน – สร้างอาชีพใหม่ๆ – สร้างรายได้ การเปิดโอกาสให้ “ทุกคน” เข้ามามีส่วนร่วม การลงทุนภาครัฐ ภาคเอกชนนะครับ การลงทุนร่วม PPP การเปิดประมูลระบบการประมูลใหม่

เรามีช่องทางที่เปิดกว้างสร้างความเข้มแข็ง ตรวจสอบความทุจริตได้ แล้วเราก็ต้องการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ลดความเหลื่อมล้ำในภาคประชาชน เพื่อกระจายรายได้ให้เหมาะสมอย่างทั่วถึง ทุกพื้นที่ – ชุมชน – ท้องถิ่น – จังหวัด – กลุ่มจังหวัด – ภาค – และประเทศ เราต้องคิดแบบนี้ มันถึงจะทั่วถึง ถ้าคิดเฉพาะฝ่ายโน้นฝ่ายนี้ มันก็เหมือนเดิม ไปไม่ได้

เราจะต้องปรับปรุงระบบเศรษฐกิจ การทำธุรกิจ ให้มีการสร้างธุรกิจ “ขนาดใหญ่” เชื่อมโยงไปสู่ SME + Startup + OTOP มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั้งด้านการขนส่งทุกระบบ โลจิสติกส์ด้วย และเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่เรียกว่า เน็ตประชารัฐ

อย่างเช่น การกำหนดพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) กับอีก 10 เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ตอนนี้ก็ทยอยดำเนินการ ก็เกิดขึ้นตามลำดับไป จะต้องสอดรับกับแผนการพัฒนาของภูมิภาค และเชื่อมโยงกับนานาอารยประเทศ

ในเรื่องของการรักษาทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เราจะต้องมีแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน การจัดสรรที่ดินทำกิน ด้วยวิธีที่ถูกต้อง ไม่ใช่แจกแล้วเอาไปขายอีก ทำนองนี้ ต้องทำกินอย่างเดียว แล้วก็วันหน้าเราไม่มีป่า ไม่มีที่จะเหลืออีกแล้ว ที่จะให้กับคนรุ่นหลังๆ เพราะฉะนั้นต้องไปดูว่าอาชีพการเกษตรมันควรจะ แค่ไหนอย่างไร จะสอดคล้องกับน้ำเท่าไหร่ที่เรามีอยู่ กับดินที่มีคุณภาพตรงไหน ไม่อย่างนั้นก็สับสนอลหม่านไปหมด และทุกคนก็ไม่เพียงพอ เพราะฉะนั้นหน้าที่ของรัฐบาลก็ทำตรงนี้

เราพยายามเต็มที่ ก็ยังได้ผลไม่เท่าที่ควร ไม่ใช่เพราะเราไม่ทำ มันติดปัญหาเก่าเยอะแยะ เพราะฉะนั้นเราก็กำลังทำอยู่ การจัดหาที่ทำกินให้กับราษฎรผู้ยากไร้และเกษตรกร เพื่อจะได้ทำมาหากินโดยสุจริต ไม่ผิดกฎหมาย ยืนบนลำแข้งของตัวเอง

ในเรื่องการบริหารจัดการน้ำ ก็มีทั้งทำได้ทันที ทำระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ก็ต้องเร่งดำเนินการ ตรงไหนทำได้ก็ต้องเร่งทำให้เร็ว แก้ปัญหาทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง เรื่องกักเก็บน้ำเอาไว้ใช้อุปโภคบริโภค วันนี้เป็นปัญหาสำคัญของเราและของภูมิภาคของโลกใบนี้ด้วยนะครับเนื่องจากสภาวะลมฟ้าอากาศเปลี่ยนแปลงไป

ในเรื่องของการปรับปรุง รักษา ฟื้นฟูคุณภาพดิน ก็ต้องช่วยกันทำนะครับ การใช้ปุ๋ย สารเคมี เราก็มีนโยบาย มีการดำเนินการไปเยอะแล้ว แต่ก็ยังได้รับความร่วมมือค่อนข้างน้อย ในเรื่องของการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ หลายคนเอาสะดวก หลายคนไม่มีแรงงาน แล้วเราจะทำอย่างไรต่อไป ก็ต้องช่วยกันคิด ช่วยกันทำ เราอาจจะต้องเหนื่อยสักหน่อยในขณะนี้ อย่าหาว่าเราไปรังแกไปแกล้งประชาชน อย่างที่หลายคนเขาเอามาบิดเบือนอยู่ในขณะนี้ เราต้องการให้มีระเบียบในการทำงาน มันก็จะง่ายขึ้นในการที่จะส่งเสริม สนับสนุน ในทุกเรื่องจากรัฐบาลได้

การจัดระเบียบการปลูกพืชก็สำคัญ ต้องตรงกับความต้องการของตลาด ผมขอย้ำ คำว่า “ตลาดนำการผลิต” เหมือนกับ การค้าขายออนไลน์ก็เหมือนกัน ถ้าท่านขายมากๆ มันก็มีคนซื้อ มันก็ต้องดูปริมาณการที่จะสั่งซื้อออเดอร์เข้ามา แล้วท่านจะผลิตสินค้าประเภทนั้นประเภทนี้เท่าไหร่ ก็กรุณาไปดูด้วย เราจะได้ไม่เสียเปรียบ หรือจะได้ไม่ตกตลาดไป ไม่มีคนซื้อ เราก็ต้องไปขายทางอื่นอย่างเดียว ก็เหนื่อยนะ ก็ต้องทำทุกอย่าง

ฉะนั้นในเรื่องตลาดนำการผลิตเป็นสิ่งสำคัญ เราต้องมีการแสวงหาช่องทางส่งออกสินค้าเพิ่มเติมจากปรกติ เช่น อาลีบาบา ที่รัฐบาลนี้ดำเนินการร่วมอยู่ แล้วก็ทางแพลทฟอร์มของรัฐบาลเอง รวมทั้งการปรับพฤติกรรมการผลิต เช่น ปลูกพืชเชิงผสม ไม่ใช่พืชเชิงเดี่ยวอย่างเดียว มันมีปัญหา ราคาตกต่ำง่าย การทำเกษตรแปลงใหญ่ ทำเกษตรอินทรีย์ การแก้ปัญหาราคาสินค้าตกต่ำ การปลูกข้าวที่มีคุณภาพ หลายอย่าง หลายกิจกรรม ใน 11 + 2 วาระการปฏิรูปได้กำหนดไว้ตามรัฐธรรมนูญนะครับ 2 อัน ก็คือเรื่องตำรวจและการศึกษานะครับ ใน 11 ก็คือ ปฏิรูปทั้ง 11 ด้าน

ที่สำคัญก็คือการปฏิรูปนั้นเป็นกิจกรรมที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง และทำอยู่ตลอดเวลา และมีมากมาย ที่เราทำไปแล้ว และกำลังทำอยู่ เราต้องทำ “คู่ขนาน” กัน พร้อมกันในทุกมิติ เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ในส่วนยั่งยืนนั้น เราก็ต้องทำต่อเนื่อง ตามยุทธศาสตร์ชาติ ที่เราวางไว้ 20 ปี เพื่อให้การปฏิรูปมีความต่อเนื่อง และยั่งยืน

แต่ระหว่างนั้นเราสามารถปรับเปลี่ยนได้ อย่าไปฟังใครว่าปรับไม่ได้ ไปล็อคอนาคต ต้องการจะสืบทอดอำนาจ ไม่ใช่เลย สืบทอดสิ่งที่เราทำนี่ ทำต่อไปให้ได้หลายอย่าง ที่ผ่านมานั้น ทำแล้วก็เลิก ทำแล้วก็ไม่ทำต่อ ไม่ทราบว่าใช้หลักการอะไรมาทำ มันก็เลยเป็นอย่างนี้ แล้วพอถึงเวลาที่จะทำใหม่ มันก็ช้าเสียเวลา ถ้าเราทำไปตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ มันก็จะสอดคล้องกับสถานการณ์ในอนาคตไปด้วย ในเรื่องของการลดความเสี่ยง ที่เราจะแก้ไขได้ เปลี่ยนแปลงได้

ก็มีทั้ง“แผนปฏิบัติการ” ที่จะต้องมีความยืดหยุ่น แต่ต้องมี “แผนแม่บท” หลักว่าเราจะต้องทำอะไรบ้าง ทั้งตามความต้องการของแม่บทหลัก และของประชาชน ในแต่ละพื้นที่ ซึ่งไม่เหมือนกัน เราจะทำแผนแม่บทนี้อย่างไร แล้วก็เดินตามแผนแม่บทเหล่านี้ เพราะเป็นความต้องการของประชาชนที่แท้จริง เพื่อจะไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ทั้งประเทศชาติและประชาชน ทุกภาค ต้องเจริญ เติบโตไปพร้อมๆ กันตามสภาพที่มีอยู่ประชาชนมีความสุข

เรื่องนี้เราต้องขอความร่วมมือ จากทั้ง “ฝ่ายรัฐบาล” และ “ฝ่ายค้าน” ในอนาคตไว้ด้วย ก็อยากให้ดูอย่างต่างประเทศอื่นๆ ที่สำเร็จไปแล้ว ที่เจริญไปแล้วมากๆ อะไรที่เป็นประโยชน์กับชาติบ้านเมืองและประชาชนก็จะร่วมมือกันทั้งฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล ทำให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนบรรลุผลสำเร็จ

ไม่ใช่อะไรที่ฝ่ายรัฐบาลคิด ฝ่ายค้านก็จะต้องค้าน “ทุกเรื่อง” เพราะเกรงว่าตนจะเสียคะแนนความนิยมอะไรทำนองนี้ คือต่างฝ่ายต่างถือคะแนนนิยมเป็นหลัก บ้านเมืองก็ไปไม่ได้เพราะมันไปๆ หยุดๆ เดินๆ แล้วถอยหลังทำนองนี้นะ พอเปลี่ยนรัฐบาลก็เริ่มต้นใหม่อีก สรุปว่าไม่เสร็จทั้งเก่าทั้งใหม่ วันนี้เราก็ควรต้องวางไว้เป็นระยะๆ สุดแล้วแต่ท่านจะทำได้อย่างไร เราจะต้องไม่ปล่อยให้เกิดขึ้นอีกในการเมือง หรือรัฐบาลต่อๆ ไป ด้วย

“หากเราพิจารณาให้ถ่องแท้แล้ว จะเห็นได้สิ่งที่ผมพูดมาไม่ใช่เป็นเพียงแต่ผมอยากจะพูด เป็น “ลมปาก” ของผม แค่ผมพูดแล้วผมก็ทำด้วยนะครับ คิดแล้วก็ทำ คิด พูด ทำ อะไร “ทำได้ ทำทันที” อันไหนที่ใช้เวลา ผมก็อยากจะพูดให้ทุกคนเข้าใจว่าต้องอดทนรอผล หลายคนก็ไม่เข้าใจ กลายเป็นว่าเอ๊ะทำให้เศรษฐกิจมันแย่ลง หรือไม่มีงานทำ หรือไปรังแกคนจนทำนองนี้ บางทีมันก็พูดเพื่อหวังผลทางการเมืองนะครับ วันหน้าเขาก็ต้องการจะเข้ามาทำแบบเดิมหรือเปล่าผมไม่แน่ใจนะ หลายอย่างที่ผมทำวันนี้มันก็จะเกิดผลในรัฐบาลหน้านะครับ ก็เป็นรัฐบาลเลือกตั้งของท่านนั่นแหละ เป็นของนักการเมืองอยู่แล้ว ที่จะเข้ามาอย่างถูกต้อง รัฐบาลต่อๆ ถ้าเราเข้าใจกัน แล้วสานต่อไปนะครับก็จะดีขึ้น ดีกว่าเดิม”

ยิ่งกว่านั้น การทำทุกคนอาจจะไม่ได้สนใจตรงนี้ว่า มันยากง่ายเพียงใด “การทำยากกว่าการคิด” หลายท่านก็คิดกับพูด แต่ไม่เคยทำงาน ก็มีแต่หลักการ อีกพวกก็อาจจะไม่เก่ง ไม่ใช่นักวิชาการ แต่ทำงานเป็น และทำสำเร็จ ทำไมเราไม่เอาคน 2 กลุ่มมาทำงานกันให้ได้ คนหนึ่งคิด วางแผน พูด และอีกคน ปฏิบัติเป็น ก็นำไปสู่การปฏิบัติ ถ้าร่วมมือกันอย่างนี้มันก็ไปกันได้ ถ้าต่างฝ่ายต่างว่ากันไป ว่ากันมา โทษกันมันก็มีปัญหาหมดนะครับ ติคนมันง่าย แต่ทำมันยาก นะ ผมไม่อยากให้เป็นปัญหาของการทำงาน แต่ปัญหาของเราวันนี้ที่เราเจอมา ผมจำเป็นต้องพูดนะครับ มันอาจจะเกิดจากความเคยชิน กับความไร้ระเบียบ การไม่ต้องเคารพกฎหมาย มีการปล่อยปละ ละเลย สะสมมานานนะครับ

ก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลนี้เช่นกัน ที่ต้องแก้ไขในสิ่งดังกล่าวให้ได้ แล้วเราจะทำให้ดีที่สุดนะครับ หลายอย่างทำไปแล้วก็รักษาไม่ได้ เพราะประชาชนก็ลืมอีก ลืมง่าย แล้วก็กลับมาทำแบบเก่า ทำแบบเดิมอีก แล้วจะให้ผมทำยังไง เพราะฉะนั้นปัญหาที่ “ทับซ้อน” ก็คือ การสร้างความเข้าใจนะครับ ในบรรยากาศของความพยายามบิดเบือน “ชักใบให้เรือเสียบ้าง... มือไม่พาย เอาเท้าราน้ำบ้าง”

บางคนยอมเป็น “เด็กเลี้ยงแกะ” พูดจาไร้เหตุผล ปราศจากหลักฐาน เรื่องที่มีการกล่าวว่ามีการใช้งบประมาณ ทุจริต ใช้วงเงินเป็นหมีนล้านบาท ผมไม่ทราบเอามาจากไหนเหมือนกัน และเอามาได้อย่างไร ถ้าท่านรู้ท่านต้องบอกมาผมด้วยนะครับ หรือท่านเคยทำผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน ขอให้ทำความเข้าใจให้ถูกต้องนะครับ ก็ขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชน ต้องอาศัยเวลาและใช้ความพยายามที่มากขึ้น

อีกประการที่เราต้องเข้าใจ คือ แทบทุกการปฏิรูป เราต้องอาศัยการออกกฎหมายใหม่นะครับ ยกเลิกกฎหมายเก่าที่ไม่ทันสมัย ก็ต้องใช้เวลานะครับ ปรับปรุงให้เป็นสากล เพื่อจะอำนวยความสะดวกให้เกิดการปฏิรูป มีผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมได้ ก็ขอให้พี่น้องประชาชนนะครับ เข้ามามีส่วนร่วมในช่องทางที่เหมาะสมด้วย กฎหมายไม่มีใครชอบ มันต้องมีคนได้และคนเสีย จะทำอย่างไรให้คนได้และคนเสียเกิดความเป็นธรรมนะครับ วันหน้าจะได้ไปด้วยกัน

ผมกล่าวมาทั้งหมดนี้ มันใช่อย่างที่มีนักการเมือง – พรรคการเมือง – นักวิชาการ “บางคน” ออกมาพูดรึเปล่าผมไม่แน่ใจนะ พูดในเชิงขัดแย้ง กดดัน รัฐบาลและ คสช. พูดดักหน้า ดักหลังตลอดเวลา ตลอดระยะเวลา 4 ปีของผมนี่ ผมไม่อยากให้คนไทยทุกคน มองแต่ผลประโยชน์ที่รวดเร็วเช่นเดิม ได้มากเหมือนเดิมแต่ไม่ยั่งยืนหรอกครับ ไม่ทั่วถึง ไม่เป็นธรรม

ก็เหมือนอาจจะเป็นการกระทำที่เรียกว่า “ขุดบ่อล่อปลา” แล้วก็ให้ปลาทุกตัวว่ายมารวมกัน เสร็จแล้วก็ถูกวิดน้ำให้แห้ง เพราะมีการดูดซึม น้ำรั่วออกมาด้วยนะครับ ด้วยการทุจริตคอรัปชั่น ปลาในนั้นก็จะกลายเป็นเหยื่อ วันนี้ผมอยากจะบอกว่าประชาชนอย่ากลายเป็นปลาหรือเป็นเหยื่อ เพราะเราไปคาดหวัง ในแหล่งน้ำที่เขาวางแผนไว้นะครับ ง่ายๆ ล่อเข้าไป แทนที่จะรับประโยชนฺก็กลายเป็นเหยื่อไปซะเองนะครับ

สุดท้ายนี้ ผมอยากจะฝากให้ “คิดตาม” ว่า..เหตุใดที่รายได้ประชาชนยังไม่ดีพอ ที่จะใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างพอเพียง อันนี้ก็มีผลมาจากปัจจัยหลายประการด้วยกันนะครับ เราต้องไปดูว่าเชื่อมโยงกับ “ต้นตอ” กับปัญหาอย่างไร ความเป็นประชาธิปไตยของบ้านเรามีส่วนหรือเปล่า

เราทุกคนนั้นถ้าเราหวังให้ทุกอย่างดีขึ้นนะครับ เราต้องให้ความสำคัญกับการเลือกตั้ง และเราทุกคนก็ควรต้องยึดมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปไตย เพื่อให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ ยุติธรรม ไม่มีการซื้อสิทธิ์ ขายเสียงนะครับ หรืออาจจะไม่ต้องซื้อนะ เพราะเป็นเสียติดกับตัวบุคคลไปนานแล้วนะครับ แต่มีการ อาจจะหาเสียง ให้ประโยชน์ล่วงหน้า ว่าจะสร้างโน่น สร้างนี่ ทำตรงโน้น ตรงนี้ให้ มันทำไม่ได้หรอกครับ ในรัฐบาลต่อๆไป มันจะต้องทำในสิ่งที่อยู่ในแผน จะต้องทั่วถึงทุกพื้นที่

เรารู้อยู่แล้วว่าประชาชนต้องการอะไร เพราะข้าราชการก็มีข้อมูล การฟังเสียงประชาชนก็เป็นข้อมูลเสริมเข้ามา แล้วมาพิจารณาว่าเราจะทำอะไรกันต่อไปนะครับ ไม่จำเป็นต้องให้ประชาชนมาร้องเรียนด้วยซ้ำไป เป็นหน้าที่ของรัฐบาล ของข้าราชการ เพราะฉะนั้นเราต้องเลือกคนดีมีคุณธรรมนะครับ เลือกพรรค เลือกคนด้วยนโยบายที่ชัดเจน

ใช้เหตุผลในการเลือก ไม่ใช่เลือกใครก็ได้มาเป็นรัฐบาล ด้วยความคุ้นเคย ด้วยความไม่รู้จักคนอื่น หรือด้วยผลประโยชน์ส่วนตัว ไม่สนใจเบื้องหน้าเบื้องหลังนะครับ ทั้งนี้อาจจะเพียงเพื่อตอบสนอง “ความคาดหวัง” ว่าจะมีรายได้ที่ดีขึ้น ด้วยการกระทำแบบเดิมๆ ที่เคยทำได้เหมือนที่ผ่านมา รายได้ดีขึ้นเพราะไม่ต้องระมัดระวังอะไรนะครับ

เช่น จากการปล่อยปละละเลยของการให้มีการกระทำความผิดกฎหมาย มีการทุจริต สังคมขาดความมีระเบียบวินัย เศรษฐกิจบกพร่องนะครับ งบประมาณมีปัญหา ไร้ซึ่งระเบียบวินัยการเงินการคลังนะครับโดยไม่มีการวางรากฐานการพัฒนาประเทศ หรือมีการดำเนินการอย่างไม่มียุทธศาสตร์ ไม่มีความร่วมมือระหว่างกัน ไม่มีแผนระยะสั้น-ระยะกลาง-ระยะยาว ที่เรียกว่าทำเป็นขั้นเป็นตอน 1-2-3 นะครับ ไม่เคยพูดถึงการปฏิรูปในสิ่งที่จำเป็น ว่าจะทำอะไรก่อน อะไรหลัง

ทุกคนต้องการหมด แต่ทำไม่เป็น จะเอาโน่นเอานี่กันทุกคน แล้วทำได้ไหมล่ะครับ รัฐบาลพยามง่ายทำก่อน ยากน้อยหน่อยก็ระดับสอง ยากมากๆระดับสาม เพราะการปฏิรูปมันต้องทำ 2 ลักษณะด้วยกันนะครับ อันแรกก็คือแต่ละหน่วยงานทำเอง อาจจะเป็นเรื่องงานตามฟังก์ชั่นของตัวเองนะครับ เขาต้องปฏิรูปของตัวเองจะทำอย่างไรให้ดีขึ้น มีประสิทธิภาพขึ้น

อีกอัน อันที่สองก็คือการปฏิรูปในลักษณะที่เป็นการบูรณาการ หลายหน่วยงานจะต้องมาทำงานด้วยกัน มาทำแผนแม่บท มาทำแผนปฏิบัติการด้วยกัน ใช้งบประมาณด้วยกัน เช่นการบริหารจัดการน้ำ ทำนองนี้นะครับ หรือเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องอะไรอื่นๆ ที่หลายกระทรวงต้องมาทำร่วมกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ มันเกิดขึ้นไม่ได้หรอกครับบูรณาการอย่างที่ว่า ที่ผ่านมาทั้งหมด ทุกอย่างจะกลับมาที่เดิม”