กทท.ชี้สินค้าผ่านท่าเรือภูมิภาคลดฮวบ! เร่งผนึกภาครัฐ-เอกชนทำตลาดเต็มพิกัด

26 ม.ค. 2559 | 09:00 น.
กทท.เตรียมหารือรัฐ-เอกชนหวังรู้ถึงความชัดเจนแหล่งผลิตสินค้า ประเภทและปริมาณ ก่อนผนึกกลุ่มโลจิสติกส์วางแผนขนส่งป้อนท่าเรือ ทั้งนำเข้า-ส่งออก ด้านบิ๊กกทท.เผยกัดฟันสู้พิษเศรษฐกิจซบหลังสินค้าขนผ่านท่าเรือภูมิภาคลดฮวบ เดินหน้าเจรจา ปตท.-พาณิชย์จังหวัด-สายเรือใช้ท่าเรือเพิ่ม พร้อมรุกแก้ปัญหาตู้เปล่า เหตุต้นทุนเพิ่มเป็นดับเบิ้ล

ร.อ.สุทธินันท์ หัตถวงษ์ ผู้อำนวยการ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยว่า ปี 2558 ที่ผ่านมาถึงแม้เศรษฐกิจทั้งไทยและต่างประเทศซบเซาอย่างมาก แต่สถิติยอดตู้สินค้าผ่านท่าเรือกรุงเทพ และท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งเป็นท่าเรือหลักที่สำคัญของ กทท.นั้น มีอัตราเพิ่มขึ้น 4.5% ถือเป็นการเติบโตสวนกระแสเศรษฐกิจ โดยการให้บริการเรือ สินค้าและตู้สินค้าผ่านท่าเรือต่างๆ มีดังนี้ ท่ากรุงเทพ เพิ่มขึ้น 2.6% ท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) เพิ่มขึ้น 4.9% ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน (ทชส.) เพิ่มขึ้น 12% ท่าเรือเชียงของ (ทชข.) 100% และท่าเรือระนอง (ทรน.) ลดลง 21% โดยการเติบโตเกิดจากการบริหารจัดการศูนย์เปลี่ยนถ่ายและกักเก็บสินค้า หรือระบบไอซีดีที่ลาดกระบัง ทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด อย่างไรก็ตาม หากในอนาคตเศรษฐกิจกระจายออกสู่ภูมิภาคมากขึ้น ตามการเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษ กทท.สามารถวางแผนเข้าไปรองรับได้ทันที โดยจะมีการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้สามารถบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

“เดิมกทท.มีแผนจะหารือร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เพื่อให้บริการขนส่งสินค้า ล่าสุดได้ปรับเปลี่ยนมาเป็นการหารือกับกลุ่มผู้ผลิตสินค้า กลุ่มรถขนส่ง วางแผนการพัฒนาแต่ละกลุ่มเขตเศรษฐกิจพิเศษให้ชัดเจน และมีศักยภาพ สามารถสนองนโยบายของรัฐบาลได้จริง ซึ่งได้หารือร่วมกับนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ทั้งได้เห็นชอบให้ดำเนินการต่อไปโดยกทท.พร้อมเป็นตัวกลางร่วมบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆอาทิ ด้านการผลิตสินค้า รถบรรทุก สายการเดินเรือ ตลอดจนสภาอุตสาหกรรมในแต่ละภูมิภาคให้ได้ข้อมูลหลายด้านให้ชัดเจน สามารถนำไปวางแผนบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพจริงๆ เชื่อว่าจะดำเนินการได้ดีกว่าที่จะปล่อยให้ภาคเอกชนดำเนินการกันเอง”

ผอ.กทท.กล่าวอีกว่าสำหรับปี 2559 ท่าเรือกรุงเทพ และแหลมฉบัง ยังคงเดินหน้าต่อไป ยกเว้น 3 ท่าเรือภูมิภาค คือ ท่าเรือเชียงแสน ที่พบว่ามีสินค้าลดลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ สาเหตุคือข้อจำกัดจากประเทศจีนที่จะรับสินค้าบางประเภท และเข้มงวดมากในเรื่องการรับสินค้า ส่งผลให้ปริมาณการขนส่งหายไปเป็นจำนวนมาก จึงต้องเดินหน้าทำตลาดให้มากขึ้น เช่นเดียวกับท่าเรือเชียงของ ซึ่งถือเป็นท่าเรือที่น่าเป็นห่วง เพราะตั้งแต่มีสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 (เชียงของ-ห้วยทราย) ส่งผลให้การใช้ท่าเทียบเรือน้อยลงมาก จึงไม่แน่ใจว่าในอนาคตจะมีความจำเป็นต้องใช้ท่าเรือเชียงของอีกหรือไม่ แต่เมื่อความเจริญเข้ามามากขึ้นก็ต้องยอมรับ และต้องเดินหน้าทำตลาดเช่นกัน

สำหรับท่าเรือระนอง ถือเป็นอีกท่าเรือที่ต้องเดินหน้าทำตลาดให้มากยิ่งขึ้นเช่นเดียวกัน เพราะการใช้งานเรื่องตู้สินค้ายังไม่ประสบความสำเร็จ ปัญหาหลักคือเรื่องขนส่งตู้เปล่า เพราะมีสินค้ามาแค่ขาเดียว ส่วนอีกขาจะเป็นการขนส่งตู้เปล่า ซึ่งถือเป็นรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นแบบดับเบิ้ลของผู้ประกอบการ

“การบริหารทั้ง 3 ท่าเรือภูมิภาคถือว่ายากไม่น้อย แต่กทท.ต้องพยายามหาตลาดเสริมให้ได้ เพราะจากลงพื้นที่ดูท่าเรือเชียงแสนที่คิดว่าจะมีปริมาณตู้สินค้าเพิ่มกลับลดลงเป็นอย่างมาก ท่าเรือเชียงของก็น่าเป็นห่วง ตั้งแต่มีสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 สินค้าหายไปจำนวนมาก และยิ่งมาเจอปัญหาการจำกัดสินค้าส่งไปยังจีนยิ่งต้องแก้ปัญหาหนักขึ้นอีก ส่วนท่าเรือระนองที่ไม่ประสบผลสำเร็จมานานแล้ว ก็ต้องทำตลาดให้หนักขึ้น ล่าสุดได้พูดคุยกับทาง ปตท. ซึ่งยังมีความต้องการใช้ท่าเรือทางภาคใต้แต่ทาง ปตท.ยังไม่มีความต้องการใช้ตู้สินค้า จึงต้องเข้าไปคุยกับทางพาณิชย์จังหวัด และต้องประสานกับทางสายเรือให้มากขึ้น จึงเร่งแก้ปัญหาตู้เปล่าให้ได้โดยเร็ว เพราะเรื่องตู้เปล่าถือเป็นต้นทุนที่สูงเป็นเท่าตัวนั่นเอง”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,125 วันที่ 24 - 27 มกราคม พ.ศ. 2559