'วีรพงศ์' ส่งไม้ต่อ "ผู้ว่า กนอ.คนใหม่" ดันไทยแลนด์ 4.0 เร่งพัฒนาอีอีซี

15 เม.ย. 2561 | 19:24 น.
150461-0215

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ถือว่าเป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ในการเตรียมพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมรองรับการลงทุน โดยเฉพาะนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่เป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของรัฐบาลชุดนี้ กนอ. ได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อน ผ่านการดำเนินงานของ นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการ กนอ. ที่จะครบวาระในตำแหน่งในวันที่ 31 มี.ค. “ฐานเศรษฐกิจ” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษถึงผลงานที่ผ่านมา และการบ้านใหม่ที่จะฝากผู้ว่าการคนใหม่ที่จะสานนโยบายต่อไป


กนอ. ติด 1 ใน 3 อาเซียน
โดย นายวีรพงศ์ ชี้ให้เห็นว่า กนอ. มีหน้าที่จัดหาพื้นที่รองรับการลงทุนและกำกับดูแลนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ จึงเป็นหน่วยงานหนึ่งที่สำคัญและมีบทบาทต่อการผลักดันนโยบายของรัฐบาล ซึ่งจากการดำเนินงานในช่วง 6 ปี ที่อยู่ในตำแหน่ง ถือว่า พอใจกับผลงานที่สามารถทำให้นิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศมีความพร้อมและน่าลงทุน ติดใน 1 ใน 3 ของภูมิภาคอาเซียน


TP11-3332-2A

“ในช่วง 2 ปีสุดท้าย มีความพยายามที่จะยกระดับของนิคมฯ เข้าไปสู่การเป็นองค์กรชั้นนำของอาเซียนในการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ซึ่งคงจะต้องไปวัดผลกันอีกทีว่าเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งวันนี้ การทำนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศต้องมีปฏิสัมพันธ์ชุมชนโดยรอบ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เรื่องบริหารจัดการ เราเปิดเผยและโปร่งใสให้ชุมชนรับรู้ แล้วมาตรวจสอบล่วงหน้าได้ ตรงนี้ก็ถือว่า เป็นสิ่งที่ตั้งใจทำ นอกเหนือจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์หลักของการอุตสาหกรรม นิคมพัฒนามีอยู่ 2 อย่าง ก็คือ ตัวอุตสาหกรรมและการบริการ”


นิคมยุคใหม่ เน้นเจาะกลุ่ม
สำหรับการพัฒนานิคมฯ วันนี้ ได้มีการเปลี่ยนเข้าสู่ยุคใหม่ ที่เน้นอุตสาหกรรมในรูปแบบ ‘คลัสเตอร์’ มากขึ้น ที่ผ่านมา กนอ. ได้พัฒนานิคมฯ เมืองยางพารา หรือ รับเบอร์ซิตี ถือว่าเป็นคลัสเตอร์นำร่องของประเทศ จ.สงขลา, นิคมฯ Smart Park จ.ระยอง รองรับการพัฒนาอีอีซี รวมทั้งการเชื่อมโยงระหว่างเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ นิคมฯ สระแก้ว, นิคมฯ แม่สอด จ.ตาก และ จ.สงขลา ที่ อ.สะเดา เป็นต้น แม้ว่าการพัฒนาจะมีความล่าช้าบ้างในการได้มาของที่ดิน แต่ก็ถือว่า เป็นการปูรากฐานได้ครบถ้วน ที่จะทำให้นิคมอุตสาหกรรมเข้าสู่ยุคใหม่ รองรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล เป็นรูปธรรม ที่สำคัญ ทำให้ กนอ. ได้รับการยอมรับว่า เป็นกลไกในการจัดระเบียบด้านเศรษฐกิจ ให้โรงงานมารวมกันเป็นกลุ่มก้อน ให้มีการบริหารจัดการเปิดเผยโปร่งใสตามมาตรฐานที่กำหนด ก็ถือว่า เป็นความภูมิใจที่ทำให้กลไกของนิคมอุตสาหกรรมยอมรับ และรัฐบาลก็ใช้ประโยชน์จากนิคมอุตสาหกรรมในช่วงที่ผ่านมา


โปรโมทแทรกอีบุ๊ก

ส่งไม้สานต่อพัฒนาอีอีซี
ส่วนงานที่ ผู้ว่า กนอ.คนใหม่ จะมาสานงานต่อนั้น จะเป็นเรื่องการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 ถือว่าเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของรัฐบาล แม้ว่าจะไม่เสร็จในช่วงนี้ แต่ก็ถือว่า ได้เตรียมการไว้แล้ว อาทิ การเตรียมการเรื่องผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม การสร้างความเข้าใจรับรู้ เพราะเป็นโครงการเร่งด่วนที่ต้องเร่งดำเนินงาน

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า การดำเนินงานในอีอีซียังไม่บรรลุอย่างที่ตั้งใจไว้นัก เพราะมีกลไกต่าง ๆ มาก ในการพัฒนาการ เจอปัญหาอุปสรรคที่จะต้องใช้เวลา เช่น เรื่องของการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย การกำหนดเรื่องสิทธิประโยชน์ ที่จะมีความล่าช้าบ้าง แต่ก็ถือว่า เดินมาถูกทางแล้ว กระแสการตอบรับการลงทุนค่อนข้างดี


aaaP1-SCOOP-3197

ดันนโยบาย เน้นรูปธรรม
อีกทั้ง การผลักดันให้มีกลไกในการพัฒนาฐานผลิตรองรับอุตสาหกรรม 4.0 เป็นฐานนโยบาย 4.0 โดยเฉพาะพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจในภาคตะวันออก หรือ อีอีซี การนิคมฯ มีหลายบทบาทมาก เพราะได้รับความไว้วางใจมาก นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ผู้ว่าการ กนอ.คนใหม่ ต้องเข้ามาสานนโยบายต่อในการออกมาให้เป็นรูปธรรม ทำให้นิคมได้รับการยอมรับของพี่น้องประชาชน ว่า นิคมไปอยู่ที่ไหน เขามีความสุขร่วมกัน และเติบโตร่วมกันได้ และได้ประโยชน์ นี่จะต้องปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม 4 ปีนับจากนี้ไป

“สิ้นเดือน มี.ค. เรียกว่า ครบเทอม ที่ผ่านมา เราก็ทำงานเป็นทีมมาโดยตลอด และก็รู้สึกภาคภูมิใจที่ทำให้นิคมเข้มแข็ง มีการสื่อสารกันตลอด ก็เหมือนฝูงนก ที่มีคนมาทดแทนผู้นำฝูงกันได้ เพราะทุกคนเห็นเป้าหมายเดียวกันได้ กนอ. มีการเจริญเติบโตขยายมาจนถึงทุกวันนี้ ส่วนใหญ่ลูกค้าเดิมก็ขยายต่อเนื่อง และที่สำคัญ ภาครัฐให้ความสำคัญในช่วงเกิดเหตุภัยพิบัติ มาช่วยเหลืออย่างทันท่วงที ทำให้เอกชนรู้สึกว่า อบอุ่นที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรม นี่ถือว่า เป็นจุดขายเลยทีเดียว”

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ

ท้าทายพัฒนาพื้นที่รัฐ
อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายโจทย์ที่รัฐบาลอยากให้ กนอ. ทำการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมเพิ่มเติม ที่เป็นพื้นที่ของรัฐ เพราะว่า วันนี้ต้องยอมรับว่า เอกชนตื่นตัวทำนิคมกันมาก รัฐก็น่าที่จะใช้ประโยชน์จากที่ดินของรัฐ เอามาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายของอีอีซี เป็นอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ไม่ใช่อุตสาหกรรมหนัก ตรงนี้ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่จะต้องเตรียมการในการพัฒนาพื้นที่ของรัฐ แต่การได้มาของพื้นที่จะเป็นความท้าทายในการแก้ไขปัญหา อาทิ การเคลียร์ปัญหาที่ดิน การพัฒนาให้เป็นที่ยอมรับ ทำให้ทุกคนได้ประโยชน์ร่วมกัน และเป็นธรรม


……………….
สัมภาษณ์พิเศษ : วีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการ กนอ.
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,352 วันที่ 29-31 มี.ค. 2561 หน้า 12

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
กนอ.เตรียมทำสัญญาจีทูจี "NEC"ดึงอัจฉริยะปั้นนิคมสมาร์ทปาร์ค
กนอ.ส่งสัญญาณอีอีซีแรงบวกด้านการลงทุน


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว