ปล่อยผีที่ดินรกร้าง! เว้นภาษี 3 ปี 1.2 ล้านไร่ เอื้อบิ๊กทุนพัฒนา-ขาย

08 เม.ย. 2561 | 13:08 น.
080461-1928

ที่ดินรกร้าง 1.2 ล้านไร่ทั่วไทย เฮลั่น กมธ. มีมติเอกฉันท์ ยกเว้นภาษี 3 ปี ปล่อยผีพัฒนา-ขาย จากเดิมเสียทันที เพดานไม่เกิน 3% ชี้กระตุ้นทำประโยชน์ดันท้องถิ่นมีรายได้เพิ่ม 25-30% หอการค้าฯ หวั่นซัพพลายล้น

แม้อัตราการเสียภาษีจะมีความชัดเจน แต่ในกรรมาธิการวิสามัญร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. .... ยังถกเถียงกันว่า กิจการบางประเภทต้องทบทวนใหม่ เพื่อลดผลกระทบตามข้อเรียกร้องเอกชน โดยเฉพาะที่ดินรกร้างว่างเปล่า หากถือครองในนามบุคคลธรรมดาจะได้รับยกเว้น 3 ปี หลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว กลุ่มที่รับมรดกและเกษตรกรที่ยังไม่มีแผนนำที่ดินออกพัฒนาจะต้องเสียภาษี บวกเพิ่มทุก 3 ปี 0.3% เพดานสูงสุดไม่เกิน 3%


1389669639

พล.ท.ชาญชัย ภู่ทอง โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. .... เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”
ว่า เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2561 กมธ.วิสามัญ มีมติยกเว้นการเรียกเก็บภาษีที่ดินสำหรับที่ดินรกร้าง ซึ่งถือครองในนามบุคคลธรรมดาเป็นระยะเวลานาน 3 ปี หลังจากกฎหมายมีผลบังคับใช้ ทั้งนี้ เพื่อลดผลกระทบให้กับชาวบ้านทั่วไปที่ยังไม่มีแผนนำที่ดินไปใช้ประโยชน์ เช่นเดียวกับ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ส่วนที่ดินรกร้างในรูปนิติบุคคล ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จัดเก็บตามอัตราปกติตั้งแต่ปีแรก คาดว่าภายใน 3 ปี ท้องถิ่นจะมีรายได้เพิ่ม 25-30% จากการนำที่ดินรกร้างมาพัฒนา อาทิ เกษตร ที่อยู่อาศัย ฯลฯ จากที่ดินรกร้าง 1.2 ล้านไร่ทั่วประเทศ

ที่ประชุมยังมอบให้คณะกรรมการ 4 ฝ่าย ประกอบด้วย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กรมธนารักษ์ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และกระทรวงเกษตรฯ สรุปข้อเรียกร้องของเอกชน ที่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากมีกฎหมายแต่ละกิจการควบคุมอยู่แล้ว อีกทั้งยังเสียภาษีทั้งเงินได้บุคคลธรรมดา หรือ นิติบุคคล ให้กับกระทรวงการคลังทุกปี หากเก็บภาษีที่ดินเพิ่มอีกจะเกิดการซ้ำซ้อน

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ

อาทิ สนามกอล์ฟ เนื่องจากมีกฎหมายกีฬาควบคุมให้ถือว่าเป็นเรื่องของกีฬา ได้รับยกเว้น แต่ภายในสนามกอล์ฟอาจมีคลับเฮาส์ บ้านพักอาศัย ซึ่งท้องถิ่นจะพิจารณาจัดเก็บภาษีแยกตามกฎหมายที่กำกับดูแล

แต่ กมธ. บางท่าน เห็นว่า ควรยกเว้นให้กับสนามกอล์ฟที่จดทะเบียนภายใต้การกำกับดูแลของการกีฬาแห่งประเทศไทยเท่านั้น ส่วนสนามเอกชนที่เรียกเก็บค่าสมาชิกควรเสียภาษีที่ดินในหมวดพาณิชย์

อย่างไรก็ดี ภาษีที่ดินจะเรียกเก็บเฉพาะที่ดินตามราคาประเมินของกรมธนารักษ์ ที่ปรับขึ้นเฉลี่ย 5-20% ทุก 4 ปี ส่วนตัวบ้านหากเป็นบ้านเก่าแก่อายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป จะได้รับยกเว้น เพราะถือว่าเป็นสิ่งปลูกสร้างที่เสื่อมสภาพ


29-3354

สำหรับบ้านหลังแรก มี กมธ. ท่านหนึ่ง เสนอให้กลับไปยึดที่ราคา 50 ล้านบาทขึ้นไป เนื่องจากกระทรวงการคลังผ่านการเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนมาแล้ว รวมถึงการสำรวจปริมาณบ้านระดับราคาดังกล่าว ว่า มีกี่หลัง แต่ล่าสุด ยังไม่เป็นมติเอกฉันท์

ด้าน นายอธิป พีชานนท์ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร และในฐานะกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เป็นผลดีสำหรับบุคคลธรรมดา ซึ่งมีที่ดินแต่ไม่พัฒนา จะมีเวลาขายหรือทำประโยชน์ เข้าใจว่า การผ่อนผันครั้งนี้ ช่วยลดแรงกดดันจากรัฐบาล ซึ่งอาจหวังผลทางการเมืองในอนาคต แต่ระยะยาวเกรงว่า เจ้าของที่ดินจะนำที่ดินออกขาย หรือ การนำที่ดินออกมาทำการเกษตรเพิ่มซัพพลายในตลาดโดยไม่จำเป็น


แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์

นายอธิป กล่าวต่อว่า กรณีสนามกอล์ฟถือเป็นกีฬา ได้รับการยกเว้น เกรงจะกระทบต่อการท่องเที่ยว แต่คลับเฮาส์ในสนามกอล์ฟต้องจ่ายอัตราพาณิชย์ ส่วนสวนสัตว์เอกชน หากมีพื้นที่ขายของก็อยู่ในข่ายพาณิชย์ กงสัตว์ ตัวสัตว์ ก็จะถูกกันออกไป ขึ้นกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,354 วันที่ 5-7 เม.ย. 2561 หน้า 29
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดิน ต่อเวลา 2 เดือน! อ้างหลายประเด็นยังไม่ได้ข้อสรุป
ร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ฉุดรั้งหรือพัฒนาประเทศ (ตอนจบ)
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว