“สมเกียรติ” ยันรัฐบาล “ไม่ควรยืดจ่ายค่างวดสองค่ายมือถือ”

04 เมษายน 2561
- 4 เม.ย. 61 - นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยกับสื่อมวลชนถึงกรณีสองผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือที่ประมูลคลืนความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ ขอให้ใช้ ม.44 ยืดการชำระค่างวดสัมปทานงวดที่ 4 ออกไป โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เเละหัวหน้าคสช.ระบุในท่ีประชุมครม.ครั้งล่าสุดว่า ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการแก้ไขปัญหาทีวีดิจิทัลและค่ายโทรศัพท์มือถือ แต่ให้คำนึงสองเรื่องคือ 1.การแก้ปัญหาเชิงธุรกิจของเขาต้องเป็นอย่างไร จากตรรกะที่แท้จริง 2.ต้องไม่มีผลกระทบทำให้รัฐเสียรายได้จากประโยชน์ที่ควรจะเป็น หาจุดลงตัวให้ได้

นายสมเกียรติ กล่าวว่า จากการที่นายกรัฐมนตรีมีบัญชาออกมาดังกล่าวนั้น ถือเป็นเรื่องน่าดีใจที่มีความเข้าใจในประเด็นเรื่องประโยชน์สาธารณะได้อย่างถูกต้อง แต่ที่ยังน่าห่วง คือกสทช.ยังไม่เข้าใจประเด็นเรื่องประโยชน์สาธารณะได้อย่างถูกต้อง และยังนำเสนอข้อมูลที่ไม่สมเหตุสมผลในการอุ้มบริษัทมือถือทั้งสองรายให้ผ่อนชำระค่าประมูลงวดที่ 4

นายสมเกียรติ ระบุว่า ส่วนไม่สอดคล้องกับนโยบายของนายกรัฐมนตรีอย่างไรนั้น มีทั้งหมด 4 ประการ คือ ประการแรก เอกชนที่เกี่ยวข้องทั้งสองรายในธุรกิจโทรคมนาคมคือเอไอเอสและทรู มีผลประกอบการที่ดี โดยพบว่า ปีที่ผ่านมา เอไอเอสมีกำไรประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ส่วนทรูมีกำไรไม่สูงเท่าเพียง 2.3 พันล้านบาท แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์

“สิ่งที่น่าสนใจ คือ ในช่วงสามปีที่ผ่านมา ตั้งแต่กลางปี 2558 ขณะนั้นทรูมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 8.8% แต่กลางปี 2560 มีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 26% เพราะฉะนั้นกรณีของทรู แม้กำไรจะไม่เยอะ แต่กลับมาทำกำไรเป็นครั้งแรก ที่สำคัญ มีการเติบโตทางรายได้อย่างรวดเร็ว” นายสมเกียรติ ระบุ

“ผู้ประกอบการทั้งสองรายจึงไม่ได้มีเหตุผลประกอบธุรกิจไม่ได้ ไม่เหมือนทีวีดิจิทัล และหากดูข่าวการวิเคราะห์หลักทรัพย์ต่างๆ รายงานกันมาว่า หากรัฐบาลไม่ใช้มาตรา 44 อุ้มบริษัทมือถือ บริษัทหลักทรัพย์ทั้งหลายชี้ว่า ฐานะการเงินของผู้ประกอบการมือถือทั้งสองรายยังแข็งแกร่ง ไม่มีผลอะไร เพราะฉะนั้นจึงไม่มีเหตุผลที่รัฐบาลจะต้องไปอุ้มตามข้อเสนอของ กสทช.”

นายสมเกียรติ ระบุว่า ประการที่สอง กรณีนายกรัฐมนตรีระบุถึงการให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุน โดยนักลงทุนกลัวความไม่แน่นอน โดยเฉพาะความไม่แน่นอนของกฎระเบียบของรัฐและนโยบาย เพราะฉะนั้นสิ่งที่นักลงทุนชื่นชอบ คือ การกำหนดเงื่อนไขต่างๆ แล้ว ต้องทำตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ไม่ใช่กำหนดไว้ แล้วมาเปลี่ยนภายหลัง ซึ่งนั้นจะส่งผลให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบของผู้ประกอบการแต่ละราย

นายสมเกียรติ ระบุว่า การที่ กสทช. เสนอให้ผ่อนจ่ายงวดที่สี่ออกไป ซึ่งเป็นการเปลี่ยนเงื่อนไขการประมูลที่มีอยู่และทุกฝ่ายยอมรับ จะเป็นการทำลายความเชื่อมั่นของนักลงทุนและความเชื่อมั่นต่อประเทศไทยโดยรวม และประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศสารขันธ์ ที่มีนโยบายอย่างหนึ่ง เมื่อทำไปแล้ว จะมาเปลี่ยนเพื่อเอื้อประโยชน์ให้บางราย ซึ่งทำได้โดยไม่มีข้อจำกัด และยังสร้างกระทบต่อความเชื่อมั่นของ กสทช. ในฐานะผู้กำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมด้วย แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ

นายสมเกียรติระบุว่า ประการที่สาม กรณีนายกรัฐมนตรีระบุเอกชนต้องยอมรับความเสี่ยงปกติในการประกอบธุรกิจ ถือเป็นประเด็นที่สำคัญ หมายความว่า การประกอบธุรกิจใดๆ ตั้งแต่ธุรกิจขนาดเล็ก ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ร้านก๊วยเตี๋ยวเล็กๆ ไปจนถึงธุรกิจขนาดใหญ่ อย่างทำโทรศัพท์มือถือ มีความเสี่ยงในตัวเองอยู่แล้ว และการทำธุรกิจใดๆ ไม่มีหลักประกันว่า จะเจ๊งไม่ได้ เพราะว่ามีธุรกิจเกิดทุกวันและตายทุกวัน ถือเป็นสภาพปกติ เพราะฉะนั้นเมื่อธุรกิจมีปัญหา ไม่ใช่ว่ารัฐบาลจะไปอุ้มทุกราย

“ยิ่งกรณีโทรศัพท์มือถือทั้งสองรายไม่ได้มีปัญหาดังกล่าวข้างต้นด้วย แต่ทั้งสองรายสมัครใจเข้ามาประมูล เคาะราคา โดยมืออาชีพ และรู้เงื่อนไขการผ่อนจ่ายใบอนุญาตมีสี่งวด เมื่อประมูลเสร็จยังเห็นผู้ประกอบการทั้งสองรายมาออกข่าวเฉลิมฉลองกัน ดังนั้นสิ่งที่ กสทช.พยายามนำเสนอรัฐบาล จึงไม่ได้เข้าตามหลักการแนวนโยบายที่รัฐบาลให้ไว้ทั้งสิ้น”

นายสมเกียรติ ระบุว่า ประการที่สี่ นายกรัฐมตรีระบุต้องไม่ทำให้ผลประโยชน์ของรัฐและประชาชนเสียหายนั้น สิ่งที่ กสทช.ยื่นข้อเสนอให้อุ้มผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือทั้งสองรายเป็นการยกประโยชน์ของรัฐและประชาชนไปให้ผู้ประกอบการทั้งสองราย ถ้าตีมูลค่าเทียบกับดอกเบี้ยที่ผ่อนชำระช้าตามเงื่อนไขสัญญา 15% คิดอยู่ที่ 1.5% ส่วนต่างราว 3 หมื่นล้านบาท แต่หากคิดว่าทั้งสองรายผ่อนจ่ายอยู่ดี ไม่ต้องจ่ายล่าช้า สามารถระดมทุนจ่ายได้ ทั้งกู้เงิน ตราสารหนี้ เพิ่มทุนตัวเอง มีต้นทุนเฉลี่ยประมาณ 9% ซึ่งทรูจะสูงกว่าเอไอเอสเล็กน้อย ถ้าใช้ต้นทุนตัวนี้ต้องจ่าย 9% โดยออกเงินเอง กลายเป็นรัฐมาอุ้มอยู่ที่ 1.5% ส่วนต่างนี้อยู่ที่ 1.5 หมื่นล้านบาท ถือเป็นการเอาประโยชน์ของประชาชนยกให้เอกชน โปรโมทแทรกอีบุ๊ก

“กสทช.ระบุว่า หากคิดดอกเบี้ย 1.5% รัฐจะได้ดอกเบี้ย เป็นคำกล่าวไม่จริง เพราะการที่รัฐให้เอกชนกู้ลักษณะนี้ รัฐก็มีต้นทุน ซึ่ง 1.5% คืออัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท. ไม่ใช่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้เชิงพาณิชย์ใด ๆ เพราะฉะนั้นการเหมา 1.5% เป็นการเหมาไม่มีที่มาที่ไป แล้วยังเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าต้นทุนของรัฐบาล เวลาที่รัฐบาลต้องกู้เงินเพื่อทำโครงการอะไรต่างๆ รัฐบาลยังเสียเกินตัวเลขดังกล่าว”

นายสมเกียรติระบุว่า ส่วนกรณีที่ กสทช.อ้างว่า เอกชนผ่อนจ่ายแล้วจะทำให้มีผู้มาประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์มากขึ้น รัฐจะได้เงินมากมายนั้น สิ่งที่กล่าวอ้างเป็นการมโน คิดไปเอง นึกไปเอง ว่าทำอย่างนั้นจะได้อย่างนี้ ทำอย่างนี้เป็นอย่างนู้น โดยไม่มีหลักฐานทางวิชาการสนับสนุนเลย หากจะมีคือการเจรจากับบางรายมา ซึ่งไม่สมควร เพราะการจะประมูลมากน้อยต่างๆ นั้นต้องกำหนดเงื่อนไขให้ดี เป็นธรรม และเปิดกว้างกับทุกฝ่าย

อย่างไรก็ตาม สำหรับคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์นั้น โดยธรรมชาติของการประมูลที่จะเกิดขึ้น เชื่อว่าจะไม่มีการแข่งขันมากนักเหมือนรอบที่ผ่านมา เพราะผู้ประกอบการไทยมีเพียง 3 ราย และ 2 รายใหญ่ประมูลได้คลื่นความถี่ไปมากพอสมควรแล้ว เพราะฉะนั้นเป็นธรรมชาติของอุปสงค์อุปทานที่จะไม่เข้าร่วมประมูลอีก ทั้งนี้ วิธีการที่จะทำให้เกิดการแข่งขันและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด คือ การเปิดเสรีตลาดให้รายใหม่ๆ เข้ามาแข่งขันหรืออย่างน้อยต้องลดราคาการประมูลขั้นต้นให้สอดคล้องกับความจริง ไม่ใช่นำราคาสุดท้ายของการประมูลรอบที่แล้วมาเป็นราคาตั้งต้น ซึ่งเป็นการกีดกันการแข่งขัน

“โดยสรุป คือ รัฐบาลและกสทช.ไม่มีเหตุผลใดๆ ที่จะเข้าไปอุ้มบริษัทโทรศัพท์มือถือทั้งสองรายโดยให้ทยอยผ่อนจ่าย เพราะไม่เกิดประโยชน์ต่อประเทศไทย แต่เป็นการโอนประโยชน์จากรัฐและประชาชนไปสู่ผู้ประกอบการ อีกทั้งยังเป็นการทำลายความเชื่อมั่นในการลงทุน” ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว

ประธานทีดีอาร์ไอกล่าวถึงกสทช. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล ต้องมีแนวทางปฏิบัติ 5 เรื่อง ดังนี้
1.การกำกับดูแลต้องยึดประโยชน์ผู้บริโภคเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่ประโยชน์ผู้ประกอบการ
2.การกำหนดนโยบายกำกับดูแลต้องใช้ข้อมูลทางวิชาการ ไม่ใช่การคาดเดาหรือมโน
3.กติกาที่กำหนดขึ้นมาต้องเหมาะสมและเป็นธรรม ไม่ใช่กติกาที่ถูกล๊อบบี้จากผู้ประกอบการบางราย จนเกิดการแข่งขันไม่เป็นธรรมขึ้น
4.เมื่อมีกติกาแล้วจะต้องรักษาความน่าเชื่อถือในการทำกติกานั้น ไม่ใช่ประมูลเสร็จแล้ว กลับเปลี่ยนเงื่อนไขภายหลัง
5.ต้องรับผิดชอบและพร้อมให้ตรวจสอบ

นายสมเกียรติ ระบุว่า กรณีที่ กสทช.คาดเดาว่า ทำอย่างโน่นหรืออย่างนี้แล้วจะมีผู้ประมูลมากขึ้น และรัฐจะมีรายได้มากขึ้นนั้น สมมติไม่เกิดขึ้นจริงนั้น กสทช.จะรับผิดชอบอย่างไร เพราะไม่ได้ดำเนินการกำกับดูแลนำผลประโยชน์ของผู้บริโภคเป็นตัวตั้ง หากการประชุมครม. ครั้งต่อไป มีมติจะอุ้มเอกชนอยู่ไปนั้น ที่ผ่านมาเราได้แสดงความเห็นไปหมดทุกอย่างแล้ว เพราะฉะนั้นเป็นหน้าที่ของผู้มีอำนาจตัดสินใจ และเมื่อตัดสินใจแล้วต้องรับผิดชอบเองว่าตัดสินใจบนพื้นฐานของอะไร ถ้าตัดสินใจบนพื้นฐานของความมีเหตุผล สามารถอธิบายได้ ถ้ามีใครไม่เข้าใจ ทีดีอาร์ไอจะช่วยอธิบาย แต่หากตัดสินใจในมุมที่ได้ยินมาอีกทางหนึ่ง เราคงสงวนสิทธิ์ในการวิพากษ์วิจารณ์ต่อไป เพราะหน้าที่ของเราคือการนำเสนอแนะนโยบายที่ดีต่อประเทศและประชาชน