'กรมป่าไม้-ซีพีเอฟ' ร่วมคืนความอุดมสมบูรณ์ให้ป่า 'เขาพระยาเดินธง'

04 เม.ย. 2561 | 07:33 น.
จิตอาสานับร้อย ๆ คน ยืนเรียงต่อกันเป็นแนวยาว จากพื้นที่บนเขาที่มองเห็นไกลสุดลูกหูลูกตา ต่อแถวกันลงมาสู่พื้นที่ด้านล่าง เพื่อร่วมทำกิจกรรมสร้างฝายกึ่งถาวรและฝายชะลอน้ำ เตรียมไว้กักเก็บน้ำให้ความชุ่มชื้นแก่ผืนดิน เพิ่มอัตราการรอดของต้นไม้ที่ปลูกในพื้นที่ ‘เขาพระยาเดินธง’ อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี ในโครงการ “ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง” ของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ

หินก้อนใหญ่และก้อนเล็กคละกันถูกส่งจากมือต่อมือเป็นทอด ๆ ไปจนสุดปลายทางเพื่อวางซ้อนกันเป็นฝายชะลอน้ำ ทั้งฝายเล็กและฝายใหญ่ ตามความเหมาะสมของพื้นที่ ท่ามกลางสภาพอากาศที่เป็นใจ แม้ว่าในวันนั้นอากาศค่อนข้างร้อน แต่สภาพอากาศบนเขาพระยาเดินธง ซึ่งตอนนี้มีต้นไม้เขียวชอุ่มเพิ่มขึ้นหนาตา ช่วยบรรเทาความร้อนจากแสงแดดที่ส่องลงมาได้เป็นอย่างมาก


26-27-3346

กิจกรรมในวันนี้ ถือเป็นกิจกรรมแรกของปี 2561 ซึ่งกรมป่าไม้และซีพีเอฟนำทัพจิตอาสาเกือบ 500 คน ร่วมสร้างฝาย 12 แห่ง เป็นฝายกึ่งถาวร 2 แห่ง และฝายชะลอน้ำ 10 แห่ง เพิ่มเติมจากปี 2560 ที่สร้างฝายไปแล้ว 24 แห่ง (จากเป้าหมายสร้างฝายทั้งโครงการรวม 45 แห่ง) และในช่วง 2 ปีแรก ของการดำเนินโครงการฯ (ปี 2559-2560) ปลูกป่าในพื้นที่เขาพระยาเดินธงไปแล้ว รวม 3,171 ไร่ ภายใต้แผนระยะ 5 ปี (ปี 2559-2563) ที่จะปลูกป่าทั้งหมด 5,971 ไร่ ซึ่งจนถึงวันนี้กล้าไม้ที่ลงไว้ใน 2 ปีแรก จากต้นกล้าเล็ก ๆ กลายเป็นต้นไม้ที่สูงขึ้นและมีลำต้นใหญ่ขึ้นละลานตาเต็มพื้นที่ ทั้งต้นประดู่ มะหวด พะยูง มะกอกป่า ขี้เหล็ก มะขามป้อม สมอพิเภก ฯลฯ ช่วยพลิกสภาพป่าที่เคยแห้งแล้งและเต็มไปด้วยวัชพืชให้กลับไปเป็นป่าที่อุดมไปด้วยพันธุ์ไม้มากกว่า 50 ชนิด

นายนพดล ศิริจงดี รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ซีพีเอฟ ในฐานะประธานคณะทำงานยุทธศาสตร์ซีพีเอฟรักษ์นิเวศ กล่าวถึง การร่วมมือกันของหน่วยงานที่ร่วมโครงการฯ ว่า กรมป่าไม้ชื่นชมในความสำเร็จของโครงการฯ นี้ เพราะเป็นโครงการนำร่อง (Pilot Project) ที่ทำร่วมกับภาคเอกชนและประสบความสำเร็จอย่างสูง โดยพื้นที่ปลูกป่าทั้งหมด 5,971 ไร่ เมื่อเสร็จโครงการระยะ 5 ปี จะทำให้ที่นี่อุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งต้นน้ำที่ลงไปที่เขื่อนแม่น้ำป่าสัก เพื่อให้ชุมชนรอบข้างได้ใช้ประโยชน์และเป็นแหล่งน้ำ เพื่อการอุตสาหกรรมต่อไป


โปรโมทแทรกอีบุ๊ก

นอกจากนี้ บริษัทฯ มีเป้าหมายพัฒนาโครงการฯ ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ของชาติแบบมีส่วนร่วม และพัฒนาสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งของ จ.ลพบุรี ซึ่งในระยะต่อไป พื้นที่เขาพระยาเดินธงจะมีทั้งลานจักรยาน จุดชมวิว ที่พักเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ฯลฯ ขณะที่ล่าสุด กลุ่มอาจารย์จากคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เข้าไปสำรวจความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ หลังดำเนินโครงการฯ ทั้งมิติ ด้านเศรษฐกิจ สังคม การเก็บข้อมูลด้านชีวภาพ ความเป็นอยู่ของชุมชนรอบ ๆ 5 หมู่บ้าน ใน 3 ตำบล ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากผู้ใหญ่บ้าน รวมทั้งติดตามการเพิ่มขึ้นของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์เลื้อยคลาน และนกชนิดต่าง ๆ ที่เข้ามาอาศัยในพื้นที่ป่า

“น้องหนู” หรือ น.ส.กัญญาณัฐ กันเดช หนึ่งในจิตอาสาซีพีเอฟ จากสายธุรกิจไก่พันธุ์สระบุรี ธุรกิจครบวงจรส่งออกสระบุรี และไก่เหนือ-กลาง จ.นครราชสีมา ถ่ายทอดความรู้สึกที่ได้เข้าร่วมกิจกรรม ว่า ร่วมกิจกรรม “โครงการซีพีเอฟรักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง” ทุกกิจกรรม ตั้งแต่ปี 2560 รู้สึกสนุก และมีความสุขทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็น กิจกรรมทำฝาย กำจัดวัชพืช ใส่ปุ๋ย ทำให้รู้จักเพื่อนร่วมงานต่างสายธุรกิจ ได้เห็นรอยยิ้ม การให้ความช่วยเหลือกัน เห็นความสามัคคีของพี่ ๆ เพื่อนพนักงาน ที่ช่วยกันทำกิจกรรมลุล่วงไปด้วยดีทุกครั้ง เพราะทุกคน คือ จิตอาสาที่อยากเข้ามามีส่วนร่วมฟื้นฟูป่า ร่วมคืนความอุดมสมบูรณ์สู่ธรรมชาติ ขอบคุณบริษัทฯ ที่ทำกิจกรรมแบบนี้ ทำให้พนักงานมีโอกาส มีส่วนร่วมอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้ ซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญของประเทศชาติ


26-27-3346-30

ด้าน นายชาตรี รักษาแผน ผู้อำนวยการส่วนอำนวยการ สำนักส่งเสริมการปลูกป่า กรมป่าไม้ กล่าวว่า ซีพีเอฟเข้ามาสนับสนุนงบประมาณในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำลุ่มน้ำป่าสัก เป็นความร่วมมือในรูปแบบในการพัฒนางานด้านป่าไม้ที่ภาครัฐจะดำเนินการร่วมกับภาคเอกชน จุดประกายให้ภาคเอกชนในประเทศไทย ซึ่งมีอยู่หลายแสนบริษัท เข้ามาช่วยดูแลและอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของชาติ เพื่อให้มีทรัพยากรใช้หมุนเวียนตลอดไป

“โครงการซีพีเอฟรักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง” ภายใต้โครงการเขาพระยาเดินธง “ศูนย์การเรียนรู้เฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” นอกจากจะเป็นความร่วมมือในรูปแบบประชารัฐ โดยมีกรมป่าไม้ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) เครือข่ายภาคประชาสังคม และซีพีเอฟ ร่วมดำเนินโครงการแล้ว การก้าวเข้าสู่ปีที่ 3 ของโครงการฯ ตอกย้ำความมุ่งมั่นของ ‘ซีพีเอฟ’ ในฐานะผู้นำธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร ที่เดินหน้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ของชาติให้คงอยู่อย่างยั่งยืน


26-27-3346-31

……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,346 วันที่ 8-10 มี.ค. 2561 หน้า 27
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
นายกฯ สั่งเคลียร์ปม สร้างบ้านพักอัยการ รุกป่าดอยสุเทพ ลั่น! ต้องคืนสภาพเดิม
'6 สินค้า' รื้อเป้ารับเสี่ยง


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว