‘ดร.ทวารฐั สตูะบตุร’กับภารกิจรื้อโครงสร้างราคาพลังงาน

24 ม.ค. 2559 | 04:00 น.
สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) ถือเป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญต่อการวางแผนด้านพลังงานของประเทศ ที่จะมากำหนดทิศทางการพัฒนาด้านพลังงานของประเทศไปทางใด รวมถึงการวางแผนด้านการจัดการพลังงานของประเทศให้มีความมั่นคงเพียงพอต่อความต้องการ และในราคาที่เหมาะสม ซึ่งภายใต้สถานการณ์ราคาพลังงานที่ตกต่ำอยู่ทั่วโลกในขณะนี้ จึงเป็นที่ท้าทายว่าสนพ.จะบริหารนโยบายด้านพลังงานออกมาอย่างไร "ฐานเศรษฐกิจ"ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสนพ.ว่า ในปีนี้จะวางทิศทางหรือการดำเนินงานของประเทศออกมาอย่างไร

เร่งแก้พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันฯ

ดร.ทวารัฐ ชี้ให้เห็นว่า ภารกิจแรกที่ สนพ. ต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ จะเป็นเรื่องของการปรับปรุงพ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่จะทำให้เกิดความชัดเจนของกองทุนน้ำมันฯมากขึ้น ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนรอการพิจารณาจากทางสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) หากแล้วเสร็จ กองทุนน้ำมันฯจะเป็นกลไกในการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และชัดเจนมากขึ้น

อย่างกรณี การนำเงินจากกองทุนน้ำมันฯ มาใช้ช่วยเหลือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมัน ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายรองรับพอ เมื่อแก้ไขพ.ร.บ.แล้ว จะช่วยให้มีระเบียบในการใช้เงินส่วนนี้ที่ชัดเจนมากขึ้น เป็นต้น

ลอยตัวราคาก๊าซเอ็นจีวี

ทั้งนี้การปรับโครงสร้างราคาพลังงานให้มีความเหมาะสม แม้ปีที่ผ่านมาจะดำเนินการไปได้แล้วในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังมีโครงสร้างราคาเชื้อเพลิงบางชนิด เช่น ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์(เอ็นจีวี) ซึ่งปัจจุบันโครงสร้างราคายังไม่สะท้อนความเป็นจริง โดยยังอยู่ที่ 13.50 บาทต่อกิโลกรัม ทางกระทรวงพลังงานกำลังมีการพิจารณา ที่จะปล่อยลอยตัวราคาเอ็นจีวีให้ขึ้นลงตามสถานการณ์ คาดว่าจะดำเนินการได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ ซึ่งจะทำให้ราคาเอ็นจีวีสะท้อนตามต้นทุนมากขึ้น

นอกจากนี้ สนพ. อยู่ระหว่างศึกษาราคาอ้างอิงน้ำมันสำเร็จรูปหน้าโรงกลั่น เนื่องจากราคาอ้างอิงที่ใช้ในปัจจุบันใช้มาตั้งแต่ปี 2547-2548 หรือตั้งแต่ประเทศไทยยังใช้น้ำมันมาตรฐานยูโร2 มา ไม่มีการปรับสูตรการคำนวณราคาอ้างอิง ซึ่งปัจจุบันเป็นยูโร4 ต้นทุนการผลิตเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น การดำเนินงานในส่วนนี้จะทำให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปสะท้อนตามต้นทุนจริงได้อีกส่วนหนึ่ง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่ปรึกษา คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 6 เดือนข้างหน้านี้

แจงราคาขายปลีกน้ำมัน

สำหรับกรณีที่ราคาน้ำมันปรับตัวลดลง ล่าสุดอยู่ที่ระดับ 30 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ทำให้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า ราคาน้ำมันปรับลดลงอยู่ในระดับพอๆกับปี 2547 แต่ราคาขายปลีกกลับไม่ลดลงเหมือนเมื่อกว่า 10 ปีก่อน ซึ่งต้องเข้าใจว่า แม้ราคาน้ำมันดิบจะลดลงอยู่ในระดับดังกล่าว แต่โครงสร้างราคาน้ำมันในประเทศเปลี่ยนแปลงไปซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วนใหญ่ คือ ราคาหน้าโรงกลั่น ภาษีและเงินกองทุนต่างๆ นอกจากนี้ ไทยปรับมาเป็นน้ำมันมาตรฐานยูโร4 จากเดิมเป็นยูโร2 ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้หากเปรียบเทียบราคาน้ำมันเบนซินและดีเซลในปี 2559 กับปี 2547 พบว่า มีโครงสร้างน้ำมันที่เปลี่ยนแปลงไป โดยในส่วนของน้ำมันเบนซิน อาทิ ราคาหน้าโรงกลั่นเมื่อปี 2547 อยู่ที่ 11.4 บาทต่อลิตร แต่ปี 2559 อยู่ที่ 13.79 บาทต่อลิตร ,ภาษีสรรพสามิตเดิมอยู่ที่ 3.68 บาทต่อลิตร แต่ปัจจุบันเก็บอยู่ที่ 5.6 บาทต่อลิตร ,กองทุนน้ำมันฯเดิมชดเชย 1.23 บาทต่อลิตร เป็นเรียกเก็บ 6.15 บาทต่อลิตร และค่าการตลาดจากเดิมอยู่ที่ 1.55 บาทต่อลิตร เป็น 2.39 บาทต่อลิตร สาเหตุที่ค่าการตลาดอยู่ในระดับสูง เนื่องจากปริมาณการขายไม่มากนัก ซึ่งโครงสร้างดังกล่าวส่งผลให้ราคาขายปลีกปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 30 บาทต่อลิตร เทียบกับปี 2547 อยู่ที่ 16.99 บาทต่อลิตร

ขณะที่น้ำมันดีเซล พบว่าโครงสร้างต่างไปจากเดิมเช่นกัน อาทิ ราคาหน้าโรงกลั่น จากปี 2547 อยู่ที่ 10.16 บาทต่อลิตร ปัจจุบันอยู่ที่ 11.8 บาทต่อลิตร , ภาษีสรรพสามิต เดิมอยู่ที่ 2.09 บาทต่อลิตร ปัจจุบัน 4.95 บาทต่อลิตรและค่าการตลาดจากเดิมอยู่ที่ 1.28 บาทต่อลิตร เป็น 1.75 บาทต่อลิตร ทำให้ราคาขายปลีกปัจจุบันอยู่ที่ 20.59 บาทต่อลิตร เทียบกับปี 2547 อยู่ที่ 14.59 บาทต่อลิตร ดังนั้นจะเห็นว่าแม้ราคาน้ำมันดิบปรับลดลง แต่โครงสร้างน้ำมันมีการปรับเปลี่ยนไปมาก จึงทำให้ราคาขายปลีกไม่สามารถกลับไปอยู่ที่ระดับเดิมได้

ดันนโยบายยานยนต์ไฟฟ้า

ขณะที่การขับเคลื่อนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า แม้จะเป็นหน้าที่ของกระทรวงคมนาคม แต่ทางกระทรวงพลังงานพยายามจะผลักดัน และจะเข้ามาดูแลด้านเทคนิคและสถานีบริการชาร์จไฟฟ้า ที่มียุทธศาสตร์ส่งเสริมให้มีการใช้ตามเส้นทางชานเมืองก่อน เนื่องจากการจราจรไม่ติดขัดเหมือนกรุงเทพมหานคร โดยสนพ.จะดำเนินโครงการสนับสนุนงานวิจัยการหาค่าพลังงานที่แท้จริง จากประมาณการณ์เบื้องต้นอยู่ที่ 4 บาทต่อกิโลเมตร เพื่อนำมาช่วยคำนวณต้นทุนค่าไฟฟ้าเพื่อขายในภาคขนส่ง โดยตั้งเป้าจะมีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าอยู่ที่ 1.2 ล้านคัน ในปี 2579 ขณะเดียวกันยังต้องการให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางผลิตยานยนต์ไฟฟ้าด้วย

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสถานีบริการชาร์จไฟฟ้ายังติดขัดด้านกฎหมาย โดยยังถูกกำหนดว่าผู้ที่สามารถจำหน่ายไฟฟ้าได้มีเพียง 3 การไฟฟ้าเท่านั้น ดังนั้นทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) จะต้องมีการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว เพื่อให้เอกชนสามารถจำหน่ายไฟฟ้าผ่านสถานีบริการได้ คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในปีนี้

รับซื้อไฟฟ้าจากเพื่อนบ้านเพิ่ม

ส่วนการจัดหาไฟฟ้านั้น ในปี 2559 จะมีไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหินหงสา สปป.ลาว เข้ามาช่วยเสริมระบบไฟฟ้าของไทยเพิ่มขึ้น เนื่องจากโรงไฟฟ้าหงสา หน่วยที่ 3 มีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าไทย 491 เมกะวัตต์ ในเดือนมีนาคมนี้ และจะกลายเป็นโรงไฟฟ้าพื้นฐานสำหรับไทยต่อไป โดยโรงไฟฟ้าหงสา มีกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งสิ้น 1.8 พันเมกะวัตต์ แบ่งการผลิตเป็น 3 หน่วยผลิต กำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าไทยหน่วยผลิตละ 491 เมกะวัตต์ ขณะนี้จ่ายไฟฟ้าเข้าไทยไปแล้ว 2 หน่วยผลิต และหากหน่วยที่ 3 จ่ายไฟฟ้าเข้าได้ตามกำหนดจะทำให้ไทยรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าหงสารวม 1.4 พันเมกะวัตต์

นอกจากนี้กระทรวงพลังงานกำลังเร่งดำเนินการตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว 21 ปี (2558-2579) หรือ พีดีพี 2015 โดยการรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน นับเป็นอีกแนวทางที่ช่วยกระจายความเสี่ยงในการผลิตไฟฟ้าของไทยได้ โดยกระทรวงพลังงานมีการรับซื้อและแลกเปลี่ยนไฟฟ้าจาก 5 ประเทศเพื่อนบ้าน ประกอบด้วย การรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาวที่รัฐบาลไทยลงนามบันทึกความเข้าใจ(เอ็มโอยู)กับรัฐบาล สปป.ลาวไว้ 7 พันเมกะวัตต์ ปัจจุบันจ่ายไฟฟ้าแล้ว 2.1 พันเมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างก่อสร้าง 3.3 พันเมกะวัตต์ คาดว่าในปี 2562 จะมีไฟฟ้าเข้าไทยรวม 5.42 พันเมกะวัตต์

อีกทั้ง การลงนามเอ็มโอยู กับประเทศเมียนมา ฉบับปี 2558ที่ยังไม่มีการระบุถึงปริมาณการรับซื้อไฟฟ้า การลงนามเอ็มโอยู กับประเทศจีน ประมาณ 3 พันเมกะวัตต์ ภายในปี 2560 และการทำเอ็มโอยูกับทางกัมพูชาไว้แล้ว โดยยังไม่ระบุเวลารับซื้อ รวมถึงการแลกเปลี่ยนไฟฟ้าจากมาเลเซีย ด้วยระบบส่งเชื่อมโยง HVDC 300 เมกะวัตต์

การใช้ไฟฟ้าปีนี้ยังโตต่อเนื่อง

ส่วนการรับมือความต้องการใช้ไฟฟ้าในหน้าร้อนที่จะมาถึงนี้ ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ประมาณการใช้ไฟฟ้าปริมาณของปีนี้ จะสูงสูด (พีก) ที่ 2.9 หมื่นเมกะวัตต์ เทียบกับปีก่อนอยู่ที่ 2.74 หมื่นเมกะวัตต์ ทางสนพ.จะต้องเตรียมจัดรณรงค์ประหยัดพลังงาน เพื่อลดพีกหน้าร้อน ผ่านแคมเปญ "รวมพลังหาร 2 เปลี่ยนใหม่ ประหยัดชัวร์" ด้วยการเปิดตัวแอพพลิเคชัน "เปลี่ยนใหม่ ประหยัดชัวร์" ที่จะมาช่วยให้คำนวณค่าไฟฟ้าแบบง่ายๆ ได้ด้วยตัวเอง เป็นการแสดงให้เห็นถึงค่าประหยัดไฟฟ้าและให้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุน

โดยจะมีการเปรียบเทียบระหว่างการใช้หลอดไฟแบบเดิม คือ หลอดไส้ หลอดฟลูออเรสเซนต์ (หลอดตะเกียบ หลอดเกลียว หลอดผอม หลอดกลม) กับหลอดไฟแอลอีดีเพื่อแสดงให้เห็นผลต่างความประหยัดที่เกิดขึ้นหากเปลี่ยนมาใช้หลอดไฟแอลอีดีแทนหลอดแบบเดิม และการคำนวณประสิทธิภาพการใช้เครื่องปรับอากาศ โดยเปรียบเทียบระหว่างเครื่องปรับอากาศแบบ Fixed Speed กับเครื่องปรับอากาศแบบ Variable Speed เพื่อแสดงให้เห็นผลต่างความประหยัดที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามพบว่าการใช้หลอดไฟแอลอีดี ฉลากเบอร์ 5 ช่วยประหยัดไฟฟ้าได้ถึง 85% (เมื่อเปรียบเทียบกับหลอดไส้ขนาดเท่ากัน) และเครื่องปรับอากาศ ฉลากเบอร์ 5 ที่ผ่านการทดสอบแบบ SEER ประหยัดไฟฟ้าได้ถึง 30% (เมื่อเปรียบเทียบกับเครื่องปรับอากาศแบบ Fixed Speed)

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,124 วันที่ 21 - 23 มกราคม พ.ศ. 2559