คาดตลาดน้ำมันปรับสมดุล แม้อิหร่านส่งออกเพิ่มแต่นอกกลุ่มโอเปกจะถูกบีบให้ต้องลด

24 ม.ค. 2559 | 05:00 น.
ราคาน้ำมันดิบดิ่งลงสู่ระดับต่ำกว่า 28 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (18 ม.ค.) หรือต่ำสุดในรอบเกือบ 13 ปี พลันที่อิหร่านประกาศพร้อมส่งออกน้ำมันเพิ่ม 1 ล้านบาร์เรลต่อวันภายในสิ้นปีนี้หลังจากที่ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA)ได้ประกาศว่า รัฐบาลอิหร่านได้ปฏิบัติตามพันธะสัญญาที่ให้ไว้เกี่ยวกับโครงการพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ภายในประเทศโดยลดขนาดลงสู่ระดับที่เชื่อว่าไม่เป็นการพัฒนาเพื่อใช้เป็นอาวุธสงคราม และส่งผลให้มีการประกาศยกเลิกการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่ออิหร่านเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

นักวิเคราะห์เชื่อราคาน้ำมันอาจดิ่งลงได้อีกเมื่อมีปัจจัยซ้ำเติมโดยเฉพาะตัวเลขเศรษฐกิจของจีน แต่ขณะเดียวกันปัจจัยราคาที่ลดลงมากก็จะทำให้ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันนอกกลุ่มโอเปค โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ลดการส่งออกลงและสร้างภาวะปรับสมดุลในตลาด

อิหร่าน ซึ่งเป็นสมาชิกองค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน หรือ โอเปค ได้ประกาศเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า จะเพิ่มปริมาณการผลิตอีก 5 แสนบาร์เรลต่อวันในเบื้องต้น ท่าทีดังกล่าวส่งผลต่อตลาดน้ำมันที่ประสบภาวะโอเวอร์ซัพพลายอยู่แล้ว โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์หล่นลงสู่ระดับ 27.67 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา หรือต่ำสุดในรอบ 13 ปี ราคาอ้างอิง ณ เวลาปิดตลาดลดลง 29 เซ็นต์มาอยู่ที่ระดับ 28.64 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบตลาดสหรัฐฯ ลดลง 48 เซ็นต์ในวันเดียวกันนั้นมาอยู่ที่ 28.94 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ซึ่งใกล้เคียงกับระดับ 28.36 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลในปี 2546

"ข่าวจากอิหร่านไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย แต่มันเป็นปัจจัยซ้ำเติมที่ยิ่งกดดันราคาน้ำมันให้จมลงไปอีก" บาร์ท เมเลค นักวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์ ทีดี ซีเคียวริตี้ส์ ให้ความเห็นและเพิ่มเติมว่าปัจจัยอื่นๆที่กดดันราคาน้ำมันได้แก่ สภาวะปริมาณน้ำมันล้นตลาดและการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน "ราคาน้ำมันอาจร่วงรูดลงมากกว่านี้ถ้าตัวเลขเศรษฐกิจจีนไม่ว่าจะเป็นตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) หรือตัวเลขค้าปลีก ชี้ไปในทิศทางที่ว่าเศรษฐกิจจีนกำลังอ่อนตัวลง"

นักวิเคราะห์จำนวนมากมองว่า ในระยะแรกๆอิหร่านอาจส่งออกน้ำมันเพิ่มเติมสู่ตลาดได้ราว 5 แสนบาร์เรลต่อวันจากปริมาณสำรองที่มีอยู่แต่ก็น่าจะทำได้ในระยะสั้น เพราะอุปกรณ์และเทคโนโลยีการผลิตที่มีอยู่ค่อนข้างมีขีดจำกัดและจำเป็นต้องมีการลงทุนเพิ่มเติมจึงจะสามารถผลิตเพิ่มในปริมาณสูงกว่านี้ บริษัทวิจัย เอสอีบี มาร์เก็ตส์ คาดการณ์ว่า ปริมาณผลิตน้ำมันจากอิหร่านในปี 2559 นี้ น่าจะเพิ่มขึ้นในอัตรา 4 แสน ถึง 3.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่รัฐบาลอิหร่านเองประมาณการณ์ว่า น่าจะผลิตเพิ่มขึ้นได้ในอัตรา 1 ล้านบาร์เรลต่อวันภายในสิ้นปีนี้ โดยเพิ่มจากกำลังผลิตที่มีอยู่ในปัจจุบัน รัฐมนตรีช่วยกระทรวงน้ำมันของอิหร่านระบุว่า อิหร่านมีความพร้อมที่จะส่งออกในทันทีโดยมีเรือน้ำมันขนาดใหญ่อย่างน้อย 12 ลำบรรทุกน้ำมันเต็มและพร้อมจะจำหน่ายน้ำมันออกสู่ตลาด

ด้านองค์การโอเปคได้ออกมาคาดการณ์สภาวะปริมาณน้ำมันในตลาดโลกว่า เนื่องจากราคาน้ำมันได้ลดลงสู่ระดับที่ต่ำมากซึ่งส่งผลกระทบต่อบรรดาประเทศผู้ผลิตและส่งออกทั่วโลก ทำให้เชื่อว่าปริมาณน้ำมันจากประเทศผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปค นำโดยสหรัฐอเมริกา จะลดลงโดยรวมในอัตรา 6.6 แสนบาร์เรลต่อวันในปี 2559 นี้ ก่อนหน้านี้ในเดือนธันวาคม 2558 โอเปคเคยคาดการณ์ว่า ปริมาณส่งออกน้ำมันจากประเทศนอกกลุ่มจะลดลงเพียง 3.8 แสนบาร์เรลต่อวัน

สถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซีรายงานว่า นักวิเคราะห์จากหลากหลายสถาบันกำลังคาดการณ์ถึงผลกระทบของการกลับเข้าสู่ตลาดน้ำมันโลกอย่างเต็มตัวอีกครั้งของอิหร่านว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ยูเก็น ไวน์เบิร์ก หัวหน้าฝ่ายวิจัยตลาดสินค้าโภคภัณฑ์จากธนาคารคอมเมิร์ซแบงก์ เปิดประเด็นความเห็นในเชิงบวกว่า การตกต่ำของราคาน้ำมันในเวลานี้เกิดจากปริมาณผลิตและส่งออกอย่างมากเกินไปของประเทศสมาชิกกลุ่มโอเปค ไม่ได้เกิดเพราะมีความต้องการใช้น้ำมันน้อย ตรงกันข้าม ความต้องการใช้ในขณะนี้ถือว่ามีมากอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนด้วยซ้ำ ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นในตลาดน้ำมันเวลานี้จึงเป็นโอกาสดีสำหรับประเทศผู้ใช้หรือผู้นำเข้าน้ำมันรวมถึงตลาดการเงิน ไม่ใช่เรื่องแย่ แต่ก็เป็นมุมมองที่ตรงข้ามกับความเห็นของจิโอวานนี สตอโนโวและนายโดมินิก ชไนเดอร์ นักวิเคราะห์จากธนาคารยูบีเอส ที่ระบุว่า แนวโน้มที่การผลิตและส่งออกเพิ่มของอิหร่าน เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ไม่ควรจะเกิดอย่างที่สุด เพราะตลาดมีปริมาณน้ำมันล้นเกินอยู่แล้วท่ามกลางปัจจัยเศรษฐกิจที่ชวนให้วิตกกังวลมากขึ้นโดยเฉพาะปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องกับเศรษฐกิจของประเทศจีน ที่ทำให้เชื่อว่าปริมาณความต้องการใช้น้ำมันจะยิ่งชะลอตัวลงไปอีก

"เมื่อผู้เล่นในตลาดเลือกแนวทางที่จะให้ผลออกมาเลวร้าย ซึ่งหมายถึงภาวะโอเวอร์ซัพพลายจะยิ่งล้นเกินมากขึ้นไปอีก ราคาน้ำมันก็จำเป็นจะต้องปรับลดลงมาเพื่อที่ประเทศผู้ผลิตน้ำมันนอกกลุ่มโอเปค โดยเฉพาะสหรัฐฯ จะต้องคิดแล้วว่าไม่ควรผลิตเพิ่มออกมาอีก การปรับสมดุลของตลาดในลักษณะที่ว่านี้อาจจะทำให้บริษัทที่เกี่ยวเนื่องในธุรกิจน้ำมันประสบปัญหาทางการเงินมากขึ้น และแนวโน้มการลงทุนใหม่ในอุตสาหกรรมน้ำมันก็จะลดน้อยลงด้วย" นักวิเคราะห์ของยูบีเอสระบุ

ด้านอมาริตา เซน หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์ตลาดน้ำมัน บริษัท อิเนอร์จี แอสเปคท์ส ให้ความเห็นว่า อิหร่านน่าจะเพิ่มปริมาณน้ำมันเข้าสู่ตลาดอย่างค่อยเป็นค่อยไป แรกๆอาจจะดูว่าเพิ่มเยอะแต่หลังจากนั้นจะชะลอปริมาณลงเพราะมีปัจจัยเหนี่ยวรั้งด้านการผลิต "ช่วงแรกอิหร่านอาจจะเพิ่มการผลิตได้อย่างรวดเร็ว โดยอาจจะเพิ่มได้ประมาณวันละ 2.5 - 4 แสนบาร์เรลต่อวัน แต่หลังจากนั้นจะเจอกับขีดจำกัดทางด้านเทคนิคซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการลงทุนใหม่และความเชี่ยวชาญจากประเทศตะวันตกเข้าไปช่วยพัฒนา" ความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับทัศนะของโรบิน มิลส์ หัวหน้าฝ่ายที่ปรึกษาทางธุรกิจของบริษัท มานาร์ อิเนอร์จี ที่มองว่า อิหร่านต้องรีบกลับเข้าตลาดอย่างไวเพราะต้องการสร้างรายได้จากการส่งออกน้ำมัน แต่ด้วยข้อจำกัดทางเทคนิค คงไม่สามารถผลิตและส่งออกในปริมาณเทียบเท่ากับที่เคยทำได้ในช่วงก่อนถูกคว่ำบาตร อย่างน้อยก็จนกว่าจะมีการลงทุนใหม่ๆเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตซึ่งต้องใช้เวลาหลายปี

"อย่างไรก็ตาม คาดว่าภายในปี 2559 นี้ เราคงได้เห็นปริมาณน้ำมันเพิ่มเติมออกมาจากอิหร่าน 6-8 แสนบาร์เรลต่อวัน" โรบินกล่าวและคาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันไม่น่าจะตกดิ่งลงไปกว่านี้มากนัก เพราะตกลงมาค่อนข้างมากแล้ว และก่อนหน้านี้ตลาดก็ได้รับสัญญาณเตือนมาอยู่แล้วว่าอิหร่านจะกลับมาส่งออกอีกครั้ง

อีกหนึ่งทัศนะมาจากเฟอเรดัน เฟอชารากี ประธานกรรมการบริหารบริษัท เอฟจี อิเนอร์จี เขามองว่า อิหร่านทำสัญญาซื้อขายน้ำมันไว้ก่อนแล้วและปริมาณครึ่งหนึ่งก็ไม่ได้ขายให้ประเทศแถบเอเชีย "อิหร่านจะส่งออกไปยังกรีซ สเปน และอิตาลี ประมาณ 2 แสนบาร์เรลต่อวัน และอีกประมาณ 1.5 แสนบาร์เรลต่อวันจะไปยังตุรกีและแอฟริกาใต้ ที่เหลือถึงจะมาเกาหลีใต้ อินเดีย ศรีลังกาและตลาดอื่นๆ ตลาดอาจจะเปิดตัวด้วยราคาต่ำลงในต้นสัปดาห์นี้ แต่พอถึงปลายสัปดาห์ก็น่าจะหยุดตกแล้ว ประเด็นสำคัญเวลานี้คือเรื่องของปริมาณน้ำมันที่เพิ่มมากขึ้น และอิหร่านก็เป็นเพียงจิ๊กซอว์ตัวหนึ่งเท่านั้น"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,124 วันที่ 21 - 23 มกราคม พ.ศ. 2559