กรมโรงงานฯจับมือพพ.ดึงรง.ทั่วไทยลดใช้พลังงาน

27 มี.ค. 2561 | 07:41 น.
กรมโรงงานฯจับมือกรมพัฒนาพลังงานทดแทนฯ ดึงโรงงานทั่วไทยลดใช้พลังงาน  คาด 5 ปี ลดค่าใช้จ่าย 1 พันล้าน พร้อมเผยภาคอุตสาหกรรมลดใช้พลังงานปี 60 กว่า 5%

อธิบดี กรอ. และ พพ -27 มี.ค.61-กรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) ร่วมกับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์ (พพ.) เปิดยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนและเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานในภาคอุตสาหกรรม  พร้อมเดินหน้า 7 โครงการ  อาทิ โครงการพัฒนาประสิทธิภาพหม้อไอน้ำสำหรับโรงงานเอสเอ็มอี โครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบไอน้ำสำหรับโรงงานชีวมวล  ฯลฯ โดยมีเป้าหมายในการลดการใช้พลังงานที่ไม่จำเป็นในภาคอุตสาหกรรม และสร้างมาตรฐานการใช้พลังงานและเพิ่มประสิทธิภาพให้เกิดขึ้น  โดยตั้งเป้าปี 2561 – 2565  จะสามารถลดการใช้พลังงานไม่น้อยกว่า 100 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ (Ktoe)  และลดค่าใช้จ่ายไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี จากสถิติปี 2560 การใช้พลังงานในภาคอุตสาหกรรม  มีปริมาณการใช้โดยภาพรวมที่ 20,726 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ ลดลงร้อยละ 5.0 จากที่ในปี 2558 และในปี 2559 มีปริมาณการใช้ที่ 21,083 และ 21,807 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ

[caption id="attachment_272116" align="aligncenter" width="503"] นายมงคล พฤกษ์วัฒนา นายมงคล พฤกษ์วัฒนา[/caption]

นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้ร่วมกับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ดำเนินโครงการการความร่วมมือในการขับเคลื่อนและเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานในภาคอุตสาหกรรม  ด้วยงบประมาณการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กว่า 97 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่าในภาคอุตสาหกรรมตลอดจนมุ่งในการสร้างหลักเกณฑ์มาตรฐานการใช้พลังงานเพื่อลดการใช้พลังงานที่ไม่จำเป็น   โดยความร่วมมือครั้งนี้จะประกอบไปด้วยความร่วมมือใน 5 ด้าน ได้แก่  ด้านกฎหมาย ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน ด้านระบบฐานข้อมูล ด้านการวิจัย พัฒนาองค์ความรู้และสร้างสรรค์นวัตกรรม และด้านพัฒนาบุคลากร

นายมงคล กล่าวต่อว่า ในโครงการดังกล่าว ประกอบไปด้วยโครงการกิจกรรมย่อย ได้แก่  1. โครงการศึกษาแนวทางการบูรณาการระหว่างกรมโรงงานอุตสาหกรรมและกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน โดยใช้กลไกการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว 2. โครงการนำร่องการขยายผลการเพิ่มประสิทธิภาพหม้อน้ำโดยวิศวกรด้านหม้อน้ำหรือวิศวกรพลังงาน 3. โครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบไอน้ำสำหรับโรงงานชีวมวล  4. โครงการยกระดับประสิทธิภาพพลังงานหม้อต้มที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำความร้อนในภาคอุตสาหกรรม 5. โครงการพัฒนาประสิทธิภาพหม้อไอน้ำสำหรับโรงงานขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) 6. โครงการวิศวกรรมเชิงลึกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานความร้อนในโรงงานอุตสาหกรรม 7. โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานของโรงงานอุตสาหกรรม ทั้งนี้ การดำเนินโครงการจะมุ่งเน้นโรงงานที่มีการใช้ไฟฟ้าสูง อาทิ โรงงานอุตสาหกรรมเหล็ก โรงงานอุตสาหกรรมอาหาร โรงงานอุตสาหกรรมกระดาษ โรงงานอุตสาหกรรมพลาสติก โรงงานอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งคาดว่าจะมีโรงงานเข้าร่วมประมาณ 200 โรงงาน

[caption id="attachment_272117" align="aligncenter" width="503"] นายประพนธ์ วงศ์ท่าเรือ  นายประพนธ์ วงศ์ท่าเรือ[/caption]

ด้านนายประพนธ์ วงศ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า โครงการดังกล่าวยังได้รับความร่วมมือจาก 7 หน่วยงานร่วมดำเนินการ จากทั้งภาคการศึกษา และภาคเอกชน  อันได้แก่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยมหิดล บริษัท ซิดเอ็น จำกัด  บริษัท เอ็นเนอร์วิชั่น จำกัด และบริษัท เบสท์เอ็น จำกัด เพื่อเพิ่มศักยภาพการดำเนินโครงการให้มีประสิทธิภาพสูงสุด  โดยตั้งเป้าในปี 2561-2565  จะสามารถลดการใช้พลังงานในกลุ่มอุตสาหกรรมให้ได้ไม่น้อยกว่า 100 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ (Ktoe) และสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้ไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท  อันจะส่งผลให้ปริมาณการใช้พลังงานของโรงงานลดลง  สามารถลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ รวมทั้งลดผลกระทบของสิ่งแวดล้อม

ภาคอุตสาหกรรมการผลิต เป็นสาขาหนึ่งที่มีการใช้พลังงานในปริมาณที่สูง โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อนของทุกปี ระหว่างเดือนมีนาคม ถึง เมษายน มักจะมีการใช้พลังงานมากเป็นลำดับต้นๆ โดยจากข้อมูลสถิติในปี 2560 ที่ผ่านมา พบว่าการใช้พลังงานในช่วงเวลาดังกล่าวอยู่ที่ 4,578 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ  แต่อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมของปีที่ผ่านมานั้น ภาคดังกล่าวกลับมีการใช้พลังงานลดลงร้อยละ 5.0 โดยมีการใช้พลังงานโดยภาพรวมที่ 20,726 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ จากที่ในปี 2558 และในปี 2559 มีปริมาณการใช้ที่ 21,083 และ 21,807 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ  ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว