The Buffalo Amphawa อาร์ตเก๋ๆ วิถีแห่งสมุทรสงคราม

29 มี.ค. 2561 | 09:31 น.
ด้วยวิถีชีวิตของผู้คนในจังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งผูกพันกับสายนํ้าจืด นํ้าเค็ม และนํ้ากร่อย กลมกลืนเป็นหนึ่งเดียว สมกับความเป็น “เมืองสามนํ้า สามเวลา” ช่างลงตัวกับงาน คราฟอันประณีต ผสานเข้ากับอัตลักษณ์รากเหง้าท้องถิ่น รังสรรค์เสน่ห์ให้กับ “เดอะ บัฟฟาโล อัมพวา”

MP22-3351-9C ไฮไลต์ท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่แนะนำให้ไปปักหมุด เพราะมีทั้งโรงแรม ร้านกาแฟ และร้านอาหาร ให้คุณได้หย่อนใจท่ามกลางบรรยากาศสุดชิลและดีไซน์อันเป็นเอกลักษณ์ จากฝีมือทีมออกแบบคนไทยมือระดับรางวัลทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งนำทีมโดยคุณโอ๋-กรกต อารมย์ดี

MP22-3351-1C ความโดดเด่นของที่นี่ อยู่ที่ดีไซน์อันสะท้อนวิถีชีวิตของชาวสมุทรสงครามชวนค้นหาแทบทุกจุด ไม่ว่าจะเป็น “เดอะ บัฟฟาโล โฮเทล” บูติก โฮเต็ล สไตล์ Loft ขนาด 62 ห้อง เน้นความเรียบง่าย แต่แฝงไปด้วยการออกแบบที่สะท้อนภูมิปัญญาท้องถิ่น

MP22-3351-8C ไม่ว่าจะเป็นรูปในห้องพักซึ่งตกแต่งด้วย ว่าวจุฬา ปักเป้า และภาพวาดต่างๆ สื่อถึงมุมมองในด้านต่างๆ ของชาวสมุทรสงคราม การออกแบบของที่นี่ เน้นการใช้ไม้และไม้ไผ่เป็นวัสดุหลักในการตกแต่ง ดูโปร่งโล่ง พักสบาย จากบานประตูที่มีความสูงร่วม 4 เมตร ขณะที่ทางเดินหน้าห้องพัก ขนานกับบ่อนํ้า และสระว่ายนํ้าก็ปูด้วยกระเบื้องสีเหลือง เมื่อสะท้อนกับแสงยามคํ่าคืน นึกถึงคลองในอัมพวา ยามจันทร์เต็มดวง

MP22-3351-6C เฉกเช่นแสงสะท้อนของ Bamboo Wall ลวดลายสายนํ้า ยามสะท้อนแสงไฟ ทำเอาบริเวณล็อบบี้ ดูเปร่งประกายสีทอง เคียงคู่กับกำแพงเสาไม้สัก และสัญลักษณ์รูปปลาทูแม่กลอง ซึ่งจะแหวกว่ายจากล็อบบี้นำคุณสู่ห้องพัก และหากสังเกตให้ดีจะเห็นการนำ “ลูกยางนา” ที่ทำมาจากโลหะมาใช้ในการตกแต่ง ทำเรานึกถึงเด็กสมัยก่อนที่นิยมนำลูกยางนา ที่ปลูกตามคันนา มาเล่นเป็นเครื่องร่อน

MP22-3351-2C ทั้งยังสะดุดตาไปกับโอ่งลวดลายเป็นรูปควาย ออกแบบมาเป็นพิเศษโดย“เถ้าฮงไถ่”โรงผลิตเครื่องปั้นดินเผาเก่าแก่คู่เมืองราชบุรี ซึ่งแสดงถึงสัญลักษณ์ของโรงแรม นั่นก็คือ “กะลา” และ “กะทิ” ที่คุณสามารถชมโฉมเจ้าควายแคระ 2 ตัวนี้ได้ในคอกด้านหน้าโรงแรม ใกล้กับทุ่งข้าว และหุ่นไล่การูปหนุมาน

MP22-3351-5C ด้านนอกโรงแรม ยังเป็นส่วนของ “The Buffalo Cafe” ซึ่งรูปทรงของคาเฟ่นี้หากมองจากมุมบนลงมาจะเห็นเป็นรูปหลังควายที่หมอบอยู่ในนํ้า ส่วนเพดานจัดเต็มลวดลายบนกระดาษว่าว ซึ่งเป็นลายไทยที่ประยุกต์มาจากภาพจิตรกรรมฝาผนัง วัดอัมพวันเจติยาราม เข้ากันดีกับที่นั่งด้านใน ซึ่งเป็นงานไม้ไผ่ และเทคนิคการผูกไม้ไผ่ โดยใช้เงื่อน “ยายจูงหลาน” ซึ่งเป็นเงื่อนประมงท้องถิ่น

MP22-3351-4C ขณะที่ตัวอักษรชื่อร้าน เป็นงานลงรักปิดทองคำเปลว เคาน์เตอร์ในร้านสะท้อนภาพลายสายนํ้า เป็นงานช่างฝีมือ ดุนโลหะ (ทองเหลือง) บนโคลนด้วยค้อน เกิดเป็นลวดลายอ่อนช้อย เมนูห้ามพลาด เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของชาไทย กาแฟ และนม รสกลมกล่อม เสิร์ฟในแก้วกาแฟเครื่องปั้นดินเผาแฮนด์เมด

MP22-3351-3C แหล่งไดนิ่งอาหารไทยรสชาติเลอค่า คุณค้นพบได้ ณ “The Buffalo Restaurant” ร้านอาหารรูปทรงกุหลาบ ตัวอาคารทำจากเหล็กทำให้เกิดสนิมแล้วเคลือบ เป็นตัวแทนของ “นํ้าเค็ม” สื่อถึงวิถีชีวิตการทำประมงบริเวณปากอ่าวแม่นํ้าแม่กลอง หากชอบการตกแต่งงานไม้ไผ่สวยงาม ต้องนั่งในฝั่งอินดอร์ แต่ถ้าชอบริมคลองแม่กลองแนะนำให้นั่งเอาต์ดอร์ เมนูเด็ดสุดๆ “แกงคั่วปูเนื้อใบชะพลู” บอกเลยห้ามพลาด หลนปูเนื้อไข่ปลาแซลมอน เนื้อปลาทูคั่วกลิ้งพริกแกงใต้ ปลาทูผัดพริกแห้งไข่เค็ม ก็ต้องยกนิ้วให้

ใส่ใจในทุกรายละเอียดแบบนี้ ที่นี่น่าจะตอบโจทย์คนชอบงานดีไซน์ ชอบค้นหา Story Telling และบริการอันน่าประทับใจ คลิกไปดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.thebuffaloamphawa.com

เรื่อง : ธนวรรณ วินัยเสถียร
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,351 วันที่ 25 - 28 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว