อิชิตันเล็งผุดโรงงานในอินโดฯ ชี้ตลาดไทยปีนี้แข่งเดือดอีกรอบ

22 ม.ค. 2559 | 06:00 น.
อิชิตัน เปิดเกมรุกตลาดอาเซียน จ่อผุดโรงงานผลิตเครื่องดื่มร่วมกับพาร์ตเนอร์ในอินโดนีเซียในปีนี้ รองรับการเติบโต ขณะที่ตลาดในประเทศ ชาเขียวพร้อมดื่มแข่งเดือดอีกรอบ หลังผู้ประกอบการแบรนด์หลักโหมกลยุทธ์รุกตลาดเต็มที่ มั่นใจสิ้นปีฟันรายได้ 7.5 พันล้านบาท

นายตัน ภาสกรนที กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายชาพร้อมดื่มอิชิตัน,เครื่องดื่มไบเล่ และเย็น เย็น เปิดเผยว่า หลังจากที่ได้นำสินค้าชาพร้อมดื่มของบริษัทเข้าไปทำตลาดในในประเทศอินโดนีเซียช่วงปีที่ผ่านมา ในรูปแบบของการร่วมทุนกับนักธุรกิจท้องถิ่น และประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ ล่าสุดได้เตรียมลงทุนก่อสร้างโรงงานการผลิตร่วมกับพาร์ตเนอร์ คือ บริษัท พีที อิชิตัน อินโดนีเซีย จำกัด โดยได้มีการซื้อที่ดินในเขตนิคมอุตสาหกรรม Sukabumi ประเทศอินโดนีเซีย บนพื้นที่ 30-40ไร่ ตั้งแต่ช่วงต้นปี เพื่อเตรียมความพร้อมในการขยายตลาดต่างประเทศของบริษัท ซึ่งคาดว่าอาจจะใช้งบประมาณในการลงทุนไม่เกิน 1.5 พันล้านบาท และจะสามารถเริ่มต้นก่อสร้างได้ในช่วงสิ้นปีนี้ เบื้องต้นอยู่ระหว่างการทดสอบคุณภาพและปริมาณน้ำรวมไปถึงสถานที่ที่จะมีการทำบ่อบำบัด ตามมาตรฐานอุตสาหกรรมของอินโดนีเซีย

ขณะที่ในส่วนของการแข่งขันตลาดชาพร้อมดื่มในประเทศไทยปีนี้ มองว่าจะเป็นอีกปีที่มีการแข่งขันรุนแรง โดยเฉพาะผู้แข่งขันหลักจะมีการใช้กลยุทธ์ต่างๆเพื่อออกมากระตุ้นตลาดเต็มที่ ถือว่าเป็นอีก 1 ปีที่มีความท้าทายของตลาดชาพร้อมดื่ม และจากการแข่งขันที่สูงขึ้นจะส่งให้ภาพรวมตลาดเติบโตที่ 10% จากปี 2558 ที่มีมูลค่ากว่า 1.55 หมื่นล้านบาท ซึ่งตลาดหดตัวลง 2.5% เนื่องจากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาตลาดชาพร้อมดื่มทรงตัวไม่มีอัตราการเติบโต แต่ในเชิงปริมาณยังมีการเติบโต 0.7% หรือมีปริมาณ 470.7 ล้านลิตร ทั้งนี้เป็นผลมาจากผู้ประกอบการในตลาดมีการปรับขนาดบรรจุภัณฑ์ให้ต่ำกว่า 380 มล. เพื่อให้สามารถรองรับการแข่งขัน อีกทั้งสร้างความหลากหลาย นอกจากนี้ยังมีการปรับลดราคาลงเหลือขวดละ 10 บาท ในขณะที่ตลาดชาพร้อมดื่มแบบไม่มีน้ำตาล (Sugar Free) ซึ่งมีแนวโน้มการเติบโตตามเทรนด์รักสุขภาพ คาดว่าในปีนี้จะเติบโตเป็นเท่าตัวจากปี 2558 ที่มูลค่า 275 ล้านบาท และจะเพิ่มเป็น 1 พันล้านบาทภายใน 5 ปีนับจากนี้

ทั้งนี้ในส่วนของแผนงานของบริษัทในปีนี้ จะให้ความสำคัญกับการทำตลาดเพื่อที่จะขับเคลื่อนให้ตลาดชาพร้อมดื่มเติบโต ภายใต้งบประมาณทางการตลาดราว 12% ของยอดจำหน่ายทั้งหมดหรือราว 900 ล้านบาท โดยราว 55-60% ของงบประมาณทางการตลาดจะถูกใช้ในช่วงครึ่งปีแรก เพื่อรุกตลาดชาพร้อมดื่มทุกเซ็กเมนต์ ซึ่งในช่วง 2 ไตรมาสแรกของปีนี้ มีแผนจะเปิดตัวแคมเปญใหญ่ "อิชิตัน ยัง...ได้อีก" ภายใต้ 4 แนวคิดหลัก คือ 1.ยัง... Stun ได้อีก จะเน้นแคมเปญ ที่เป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ ในเดือนมีนาคมนี้ จะออกแคมเปญ"รหัสรวยเปรี้ยง ภาค6" 2. ยัง...Fit ได้อีก โดยในเดือนกุมภาพันธ์นี้ จะรุกตลาดชาพร้อมดื่มชูการ์ฟรี โดยจะออกสินค้าใหม่ 2 รสชาติ คือ ชาอู่หลง ชูการ์ฟรี และชาเขียว ชูการ์ฟรี ขนาด 420 มล. ราคา 16 บาท และทำการตลาดออนไลน์แบบเต็มรูปแบบ ส่วนแบรนด์ไบเล่ จะออกน้ำผลไม้ไบเล่ พรีเมียม 100% แบบกล่อง ในช่วงไตรมาส 2

3. ยัง...Fin ได้อีก โดยมีแผนจะปรับชาพร้อมดื่มยูเอชที ด้วยการเพิ่มปริมาณเป็น 300 มล. จากเดิม 250 มล. แต่จำหน่ายราคา 10 บาทเท่าเดิม และ4.ยัง...Strong ได้อีก ด้วยการเพิ่มการสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่ง ผ่านช่องทาง Service Truck เป็นรถบรรทุกจำหน่ายเครื่องดื่มของอิชิตันพร้อมมีบริการให้ยืมรถจักรยาน เบื้องต้นจะมี Service Truck 1 คัน ตระเวนไปตามแหล่งชุมชน หรืองานกิจกรรมในกรุงเทพฯ เพื่อสร้างความประทับใจให้กับกลุ่มคนเมืองที่รักสุขภาพ

สำหรับแบรนด์เย็น เย็น ในปีนี้จะเน้นการสร้างแบรนด์อย่างจริงจังมากขึ้น ผ่านพรีเซนเตอร์ 4 คน 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ โดยจะใช้ดารานักร้อง นักแสดงและเน็ตไอดอลที่มีชื่อเสียง เช่น เวียร์ -ศุกลวัฒน์ และเอกชัย ศรีวิชัย เป็นต้น เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคได้ครอบคลุมมากขึ้น และจะมีรายการทีวี ที่ผลิตร่วมกับจีเอ็มเอ็ม ชื่อรายการ "เสือติดปีก"ถ่ายทอดผ่านช่อง ONE 31 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2559

"แม้ปัจจัยด้านต้นทุนราคาน้ำมันจะลดราคาลง แต่มองว่าตลาดชาพร้อมดื่มในเซ็กเมนต์ต่างๆจะไม่มีการลดราคาลงมาเพื่อแข่งขันแน่นอน รวมไปถึงในส่วนของบริษัทด้วย แต่จะหันไปให้ความสำคัญในการแข่งขันเรื่องของการพัฒนารสชาติ และไลน์สินค้าใหม่ๆ รวมถึงการปรับกลยุทธ์เรื่องไซซิ่งที่หลากหลาย พร้อมเพิ่มปริมาณในแบบยูเอชที 50% เพื่อรองรับการแข่งขันแทน"

สำหรับผลประกอบการรวมในปีนี้ บริษัทตั้งเป้ามีรายได้รวม 7.5 พันล้านบาท หรือเติบโตเพิ่มขึ้นประมาณ 17 % จากปี 2558 ที่มีรายได้รวม 6.4 พันล้านบาท แบ่งเป็นสัดส่วน ชาเขียว 55 % เย็น เย็น 40% และอื่นๆ 5% ส่วนรายได้จากการส่งออกยังมีสัดส่วนไม่มาก มียอดจำหน่ายที่ 150 ล้านบาท ซึ่งในปี 2559 ยอดการส่งออกยังคงสัดส่วนที่ 3% โดยส่งออกไปที่อินโดนีเซียและประเทศในอาเซียน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,124 วันที่ 21 - 23 มกราคม พ.ศ. 2559