ถกเอกชนลดกำไรช่วยใช้ยาง ทล.-ทช.มีแผนใช้งานทั่วประเทศ/รับเหมาเกี่ยงต้องปรับสเปก

22 ม.ค. 2559 | 12:00 น.
คมนาคมถก 7 บริษัทเอกชนผู้ผลิตยางแอสฟัลต์และยางน้ำ Para Slurry seal สนองนโยบายรัฐรับซื้อยางพารา วอนปรับลดกำไรลง ด้านทล.-ทช.จ้องปรับสเปกและราคากลางให้สอดคล้องเหตุราคายางมะตอยชนิดพิเศษราคาแพงกว่ายางปกติ ลุ้น ครม.เคาะวิธีซื้อยาง ฟากรับเหมาอ้าแขนรับเตรียมนำไปใช้ทุกเส้นทาง

นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผย ภายหลังการประชุมหารือร่วมกับบริษัทเอกชนเรื่องการสั่งซื้อยางพารา เพื่อใช้ในการผสมกับยางมะตอย โดยเบื้องต้นได้ร้องขอให้ผู้ประกอบการผลิตยางมะตอยที่ได้รับซื้อยางพาราในราคาที่รัฐบาลกำหนด กิโลกรัมละ 45 บาท(ราคาของยางแผ่นไม่รมควัน) จากราคาการผลิตยางมะตอยกิโลกรัมละไม่ถึง 10 บาท ขณะที่ในอนาคตจะมีแผนการใช้ยางพาราเพิ่มเติมจากสัดส่วนของการใช้น้ำยางข้นมาผสมยางมะตอยอยู่ที่ 5% ซึ่งเอกชนจะร่วมวิจัยการใช้ยางพาราเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วน 7-10% เพื่อให้เกิดการซื้อน้ำยางพาราเพิ่มขึ้น

“เบื้องต้นได้ร้องขอเอกชนทั้ง 7 รายให้ปรับลดผลกำไรลงบ้าง เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจในประเทศร่วมกัน โดยในปี 2559 กระทรวงมีแผนรับซื้อน้ำยางพาราดิบจำนวน 20,687 ตัน นำไปใช้ในโครงการปรับปรุงและซ่อมแซมถนนทั่วประเทศ พื้นที่ประมาณ 37.1 ล้านตารางเมตร แบ่งเป็นกรมทางหลวง(ทล.) จำนวน 10,313 ตัน และกรมทางหลวงชนบท(ทช.) จำนวน 10,374 ตัน มูลค่ารวมประมาณ 1 หมื่นล้านบาท นอกจากนั้นเตรียมแผนใช้งานกับการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.)ช่วงแผ่นรองรอยต่อทางข้ามระดับถนนทั่วประเทศอีกด้วย ซึ่งอยู่ระหว่างการสำรวจข้อมูลของ ร.ฟ.ท.”

การร่วมหารือครั้งนี้มีบริษัทเอกชนที่ได้เข้าร่วมหารือกับกระทรวงคมนาคม ส่วนของผู้ผลิตยาง NRMA ที่ผลิตจำหน่ายแล้ว ได้แก่ บริษัท ทิปโก้ แอสฟัลท์ จำกัด(มหาชน) บริษัทไทยมิทูเมน จำกัด บริษัท เรย์โคล แอสฟัลท์ จำกัด โดยทั้ง 3 บริษัทผลิตได้ 600 ตัน/วัน ส่วนบริษัท โซล่าแอสฟัลท์ จำกัด ผลิตได้ 700 ตัน/วัน ส่วนที่กำลังดำเนินการผลิต ได้แก่ บริษัท เอเชี่ยนแอสฟัลท์ จำกัด จะผลิตได้ในไตรมาส 2 ของปี 2559 นี้จำนวน 200 ตัน/วัน และบริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด กำลังดำเนินการทดลอง

ส่วนการผลิตยางน้ำ Para Slurry seal ที่ผลิตจำหน่ายแล้ว ได้แก่ บริษัท ทิปโก้ แอสฟัลท์ จำกัด(มหาชน) สาขาพิษณุโลก และนครราชสีมา บริษัท ไทยบิทูเทน จำกัด จังหวัดสุราษฎร์ธานี บริษัท เรย์โคล แอสฟัลท์ จำกัด จังหวัดระยอง กลุ่มแรกนี้ผลิตได้ 800 ตัน/วัน บริษัท โซล่าแอสฟัลท์ จำกัด จังหวัดราชบุรี ผลิตได้จำนวน 200 ตัน/วัน บริษัท ซีโก้ แอสฟัลท์ ผลิตได้ 50 ตัน/วัน บริษัท เอเชี่ยนแอสฟัลท์ จำกัด ผลิตได้ 160 ตัน/วัน และบริษัท เชลล์ แห่งประเทศไทย จำกัด อัตราการผลิต 100 ตัน/วัน

“ผู้ประกอบการยินดีตอบสนองนโยบายรัฐบาลซื้อยางตามขั้นตอน และกระบวนการของรัฐบาล ซึ่งจะต้องรอดูมติครม. ว่าจะมีวิธีการจัดซื้อยางอย่างไร”

ด้านนายวรงค์ วงศ์วรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แพร่ธำรงวิทย์ จำกัด กล่าวว่า ผู้รับเหมาพร้อมปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล แต่ปัจจุบันพบว่าราคาการซื้อขายของยางมะตอยและน้ำยาง Para Slurry seal มีราคาแพง ดังนั้นหากปรับลดราคาลงได้จะสามารถลดต้นทุนโครงการลงได้อีกมาก

“เบื้องต้นหน่วยงานอย่างทล.-ทช.ต้องกลับไปพิจารณาเรื่องสเปกของวัสดุที่จะนำไปใช้ และเรื่องราคากลางต้องสอดคล้องกับราคายางตามนโยบายของรัฐบาล ทั้งนี้ด้านคุณภาพนั้นยางบางประเภทสามารถทดแทนกันได้อย่างดี โดยเฉพาะประเภทยาง BSS1h ที่มี 2 ประเภทคือ Para Slurry seal ที่ใช้เพื่อการฉาบผิวถนน และประเภท พาราแอสฟัลต์ คือใช้ในการผสมแอสฟัลติกนั่นเอง”

ยางเหล่านี้มีมานานแต่มีราคาแพงกว่ายางปกติทั่วไปเท่านั้น ส่วนใหญ่จะใช้เป็นส่วนผสม 5% ของน้ำหนัก หรือยางแอสฟัลติก 1 ตันจะใช้ผสมประมาณ 50 กิโลกรัมหรือ 5% ซึ่งโรงงานผู้ผลิตยางสามารถปรับส่วนผสมเหล่านี้ให้มากหรือน้อยได้ตามสเปกที่ระบุไว้ได้

“สามารถนำการใช้ยางไปเพิ่มได้ในทุกเส้นทาง ซึ่งผู้รับเหมาจะอยู่ปลายทางของการนำไปใช้งาน ให้สอดคล้องกับงบประมาณและสเปกตามที่ระบุไว้ หากทล.-ทช.ระบุในสเปกว่าให้ใช้ยางปกติราคาจะถูกกว่ายางชนิดพิเศษ แต่หากระบุสเปกที่สูงขึ้นรัฐก็จะได้ระยะถนนที่ลดลงไปบ้าง ต้นทุนเพิ่มขึ้นแต่จะได้ถนนที่มีคุณภาพมากขึ้น เพราะยางจะมีความยืดหยุ่นมากกว่าปกติ คุณภาพและการยืดตัวดีกว่า ขับขี่จะเงียบกว่าการวิ่งบนถนนคอนกรีตหลายเท่า ไม่ลื่นแม้เจออุณหภูมิร้อนในเมืองไทย

ข้อเสียมีประการเดียวคือราคาแพงเท่านั้น ดังนั้นนโยบายของรัฐบาลในครั้งนี้เชื่อว่าโครงการของรัฐจะสามารถช่วยชาวสวนยางได้แน่”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,124 วันที่ 21 - 23 มกราคม พ.ศ. 2559