ยึดมั่นบนหลักฐานและข้อเท็จจริง ภารกิจรมว.กระทรวงพลังงาน

17 มี.ค. 2561 | 00:39 น.
เมื่อ 23 พฤศจิกายน 2560 กระทรวงพลังงาน ได้ "ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์" มาเป็นแม่ทัพคนใหม่ ในฐานะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยก่อนหน้านี้ เขาได้รับแต่งตั้งเป็น ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยและผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ

“วินาทีที่รับหน้าที่นี้ เป้าหมายภารกิจหลัก มีอยู่ 3 เรื่อง คือ 1.สัมปทานแหล่งเอราวัณและแหล่งบงกช ที่จะหมดอายุในปี 2565-2566 2. ต้องสร้างความชัดเจน เรื่องระบบพลังงานไฟฟ้าภาคใต้ จะเดินหน้าไปอย่างไร และ 3.การวางรากฐาน ระบบพื้นฐานพลังงานของประเทศที่ให้ความมั่นใจได้ว่าราคาค่าไฟฟ้า และพลังงานจะไม่แพงขึ้น”

[caption id="attachment_267803" align="aligncenter" width="421"] ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์[/caption]

"ศิริ" กล่าวถึงภารกิจหลักและเร่งด่วน ที่ล้วนเป็นที่มาของประเด็นใหญ่ของประเทศทั้งสิ้น โดยเขายังบอกอีกว่า ภารกิจที่มีความสำคัญและเร่งด่วน ที่รับอาสาที่จะมาทำ มีการตั้งเป้าว่า จะทำให้สำเร็จ อย่างน้อย 2 ภารกิจแรก ภายใน 1 ปี และภารกิจที่ 3 วางรากฐานให้มั่นคง เพื่อให้ประเทศเดินไปข้างหน้าต่อได้

เมื่อมีภารกิจที่สำคัญและเร่งด่วนเช่นนั้น รัฐมนตรีผู้ทำหน้าที่ ก็ต้องมีหลักคิด หลักปฏิบัติที่ชัดเจน ซึ่ง "ศิริ" บอกว่า หลักการบริหาร ไม่ว่าจะอยู่ที่กระทรวงพลังงาน หรือหน่วยงานอื่นๆ ซึ่งเป็นหน่วยงานราชการ ข้าราชการคือส่วนที่สำคัญที่สุด ถ้าไม่มีข้าราชการ คุณภาพของผลงานของกระทรวงจะดีไปไม่ได้ ทุกอย่างอยู่ที่การทำงาของข้าราชการที่เรามีอยู่ นี่คือหัวใจ

"หลักคิดคือ วันแรกที่เข้ามา เราต้องสร้างความลงตัว สอดคล้องกัน ทั้งแนวคิด เป้าหมาย นโยบายที่สอดคล้องกันและเป็นประโยชน์ต่อประเทศ นโยบายที่เราคิดว่าควรจะเป็นสำหรับประเทศ กับความต้องการ แนวความคิด ของคนในกระทรวง ต้องประสานกันให้ลงตัวให้ได้ ช่วง 2 อาทิตย์แรก ก็คือ การทำตรงนั้น"

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานท่านนี้ บอกว่า ถือเป็นความโชคดีของท่าน ที่รู้จักและเคยทำงานกับผู้บริหารภายในกระทรวงหลายๆ คนมาก่อน จึงทำให้ระยะเวลาในการสร้างความเชื่อมโยง ไม่ต้องใช้เวลามากนัก แต่ความเชื่อมโยงนั้นๆ ต้องมีการพูดคุยสร้างความเชื่อมโยงกันอย่างต่อเนื่อง ยิ่งภารกิจที่มีมากมายและเร่งด่วน มีหัวข้อและเนื้อหาที่ต้องดำเนินการมากมาย ก็ยิ่งต้องพูดคุยกันมากขึ้น

ยกตัวอย่าง เรื่องสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ให้ใบอนุญาตโรงไฟฟ้า ใครจะผลิตไฟฟ้าในประเทศไทย ต้องได้รับใบอนุญาตจากหน่วยงานนี้ก่อน เพราะฉะนั้น สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน คือหน่วยงานที่มีข้อมูลเกี่ยวกับผลิตไฟฟ้ามากที่สุด ใครจะผลิต ผลิตอย่างไร เท่าไร...ดังนั้น หากดำเนินการตามนโยบายของท่านนายกรัฐมนตรี ประยุทธ จันทร์โอชา สิ่งที่ต้องทำ คือ การสร้าง Big Data ข้อมูลที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ ข้อมูลการผลิตไฟฟ้า แสงแดดมาในระยะเวลาเท่าไร ใช้ผลิตไฟฟ้าจากแสงแดดเยอะเท่าไร ผลิตมากน้อยยังไง แสงแดดเวลาไหน มันจะเชื่อมโยงกันอย่างไร

"ข้อมูลเหล่านี้ มีครบหรือยัง?...ยังไม่ครบ ถ้าเราจะทำข้อมูลนี้ มันเป็นแนวความคิด เราก็ต้องใช้ความร่วมมือ ความเข้าใจกับทุกๆ คน และหลายๆ หน่วยงาน เพื่อให้ทุกอย่างเดินไปข้างหน้าได้ตามแนวความคิดนี้"

ส่วนแนวคิดนโยบายใหม่ๆ ที่ต้องใช้ความกล้าหาญ เช่น มุมมองว่า ทำไมจึงจะสามารถทำให้ราคาค่าไฟฟ้าไม่แพงขึ้นได้ ก็ต้องมาดูที่ข้อมูลและหลักฐาน จากความเชื่อเดิมที่ว่า การสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก แล้วใช้ชีวิมวลที่หายาก ค่าไฟจะยิ่งแพง รัฐบาลต้องไปอุดหนุน (subsidize) แต่เมื่อใช้หลักการบริหารจัดการ ทำการประมูล การผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็ก (SPP) โดยใช้เชื้อเพลิงชีวมวลอะไรก็ได้ ที่คิดว่าเหมาะสมกับพื้นที่ของคุณ ให้ผู้ประมูลเสนอมาแข่งขันกัน ปรากฎว่า ได้ค่าไฟที่ 2.44 บาท ถูกกว่าไฟฟ้าที่ซื้อขายกันในปัจจุบันเสียอีก

แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์ "ตรงนั้นคือตัวจุดประกาย ว่า นโยบายหรือการบริหารจัดการไม่ให้ค่าไฟฟ้าแพง สามารถทำได้ อันนี้แหละ คือ หน้าที่ของผม ตั้งแต่ต้นว่า ...ต้องให้กำลังใจ ให้ความเชื่อมั่นว่า การเดินบนพื้นฐานของหลักฐานและข้อเท็จจริง นี่คือหน้าที่ การเอาแต่ไปผลักดันนโยบาย ไปประกาศเฉยๆ กลางอากาศ ไม่มีประโยชน์"

วิธีการที่จะสร้างให้เกิดความเชื่อมั่นและกำลังใจ คือการเดินหน้าทำงาน ค้นหาข้อเท็จจริง ค้นหาข้อมูล และเดินไปพร้อมๆ กัน หลักการทำงานของรัฐมนตรีพลังงานท่านนี้ ไม่ได้ใช้การนำ ไม่ใช่การชี้นิ้ว แต่เป็นการเดินไปพร้อมๆ กัน สร้างความเข้าใจ ซึ่งในวิธีการนั้น ก็ต้องรบกวนเวลาของผู้บริหารกระทรวงค่อนข้างมาก เพื่อหารือ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นจนตกผลึก เห็นพ้องร่วมกัน (consensus) ในแนวทางเดียวกัน

จากการลุยงานหนักมาเกือบ 4 เดือน ในตำแหน่งนี้ "ศิริ" บอกเลยว่า มีปัญหามาตลอด แต่นั่นคือเรื่องธรรมดาของการทำงาน เพียงแต่อยู่ที่มุมมองว่า สิ่งที่เจอนั้นคือ ปัญหา มันก็คือปัญหา แต่ถ้ามองเป็นเรื่องของความคิดที่แตกต่าง ที่ต้องอยู่ร่วมกัน นั่นคือ ความคิดที่แตกต่างไม่ใช่เป็นปัญหา หากสามารถสร้างหรือรวบรวมความแตกต่าง แล้วสร้างสรรค์ เป็นสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาได้ นั่นคือปฏิมากรรมทางความคิดที่สวยงาม ทำให้ความคิดที่แตกต่างตกผลึก แล้วเดินต่อไปในแนวทางเดียวกัน สร้างสรรค์ให้เกิดชิ้นงานที่ดี

เรื่อง : พัฐกานต์ เชียงน้อย / ภาพ : สิทธิศักดิ์ วงศ์ปรากฏ
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,348 วันที่ 15 - 17 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว