เงินบาทแข็งค่าเปิด 31.30 บ.ต่อดอลลาร์ฯ จับตาตัวเลขเศรษฐกิจธนาคารกลางสำคัญ

12 มี.ค. 2561 | 03:23 น.
เงินบาทแข็งค่าเปิด 31.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ ตามเงินดอลลาร์ยังผันผวน เหตุตลาดรอดูตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ-การประมูลบอนด์ 10 ปี สะท้อนความต้องการ จับตาการเปลี่ยนนโยบายการเงินบีโอเจ-อีซีบีในการลดทำคิวอี มองกรอบวันนี้ 31.25-31.35 บาทต่อดอลลาร์ฯ

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ระบุค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 31.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ แข็งค่าขึ้นจาก 31.37 บาทต่อดอลลาร์ฯ ณ สิ้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ค่าเงินดอลลาร์ยังคงทรงตัวเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลอื่นๆ โดยดัชนีดอลลาร์สามารถแกว่งตัวเหนือระดับ 90 จุดต่อ ทว่าค่าเงินดอลลาร์ยังมีโอกาสผันผวนได้ในสัปดาห์นี้ เนื่องจากตลาดจะรอลุ้นตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ และยูโรโซน อาทิ อัตราเงินเฟ้อ (CPI YoY) รวมไปถึงรายงานการประชุมล่าสุดของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ)

สำหรับสัปดาห์นี้มีตัวเลขเศรษฐกิจ ที่น่าสนใจดังนี้ เริ่มจากวันอังคาร ตลาดจะจับตาตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ (CPI) โดยถ้าหากตัวเลขเงินเฟ้อพื้นฐาน (core CPI) สามารถขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนถึง 0.2% จะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับเฟดว่าเงินเฟ้อจะสามารถปรับตัวขึ้นถึงเป้าของเฟดได้ นอกจากนี้ตลาดจะจับตาการประมูลบอนด์ 10ปีสหรัฐฯ โดยถ้าหากความต้องการบอนด์ครั้งนี้น้อยกว่าครั้งก่อนหน้า (Bid coverage ratio:BCR) น้อยกว่า 2.34 จะบ่งชี้ว่าตลาดยังคงกังวลว่าบอนด์ยีลด์10ปี จะปรับตัวขึ้นได้มากกว่าระดับปัจจุบัน

แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์ ส่วนวันพุธ ตลาดจะรอดูรายงานการประชุมล่าสุดของธนาคารกลางญี่ปุ่น เพื่อหาแนวโน้มการปรับเปลี่ยนนโยบายการซื้อสินทรัพย์ หลังธนาคารกลางญี่ปุ่นเริ่มมีการระบุว่าอาจจะมีการปรับเปลี่ยนนโยบายดังกล่าวในช่วงต้นปีหน้า และในวันศุกร์ หากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน(core CPI) ของยูโรโซนสามารปรับตัวขึ้น จากเดือนก่อนหน้าได้ 0.1%-0.2% จะช่วยเพิ่มโอกาสที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะสามารถปรับเปลี่ยนโครงการซื้อสินทรัพย์หรือยุติโครงการดังกล่าวได้ในปีนี้

มองเงินบาทมีแนวโน้มที่จะทรงตัวในกรอบเดิม 31.20-31.55 บาทต่อดอลลาร์ฯ ได้สัปดาห์หน้า เนื่องจากตลาดจะรอลุ้นทั้งตัวเลขอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ และยูโรโซน นอกจากนี้ หากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีเกินคาด และผลประมูลบอนด์10ปีสหรัฐฯ สะท้อนความต้องการบอนด์ดังกล่าวที่ลดลง จะยิ่งหนุนให้บอนด์ยีลด์10ปี สหรัฐฯปรับตัวขึ้นใกล้ 3% ได้ และอาจจะทำให้ตลาดกลับมาปิดรับความเสี่ยงอีกครั้งหนึ่ง

อย่างไรก็ดี ทั้งฝั่งผู้นำเข้าและผู้ส่งออกเองยังคงรอคอยให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มที่ชัดเจนมากขึ้น เช่น แข็งค่าหลุดระดับ 31.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ หรือ อ่อนค่าทะลุระดับ 31.50-31.60 บาทต่อดอลลาร์ฯ สำหรับวันนี้มองเงินบาทมีแนวโน้มที่จะแกว่งตัวในช่วงกรอบ 31.25-31.35 บาทต่อดอลลาร์ฯ โปรโมทแทรกอีบุ๊ก