"ถวิล" ชี้ปฏิรูปตร.หากใช้ขรก.จะไม่คืบ "มนุชญ์" โอด! ฝ่าดงตีนกว่าจะได้แต่ละข้อเสนอ นักวิชาการ-อดีตสีกากี ชง ”กระจายอำนาจ”

11 มี.ค. 2561 | 14:50 น.
ผู้สื่อข่าวรายงานจากสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ (Police Watch) จัดเสวนา “ปฏิรูปโครงสร้างตำรวจไปถึงไหน แก้ปัญหาประชาชนได้จริงหรือไม่!” หลังจากทำงานมาครบ 9 เดือนแล้วและจะสิ้นสุดอำนาจหน้าที่ วันที่ 1 เม.ย.นี้ตามที่กฎหมายกำหนด

โดย 1 ในคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ คือ ดร.มนุชญ์ วัฒนโกเมร ในฐานะประธานอนุกรรมการการปฏิรูปตำรวจด้านโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ เปิดเผยว่า เริ่มต้นมีข้อจำกัด ของคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ ถูกรัฐธรรมนูญมาตรา 260 กำกับไว้ ว่าให้รัฐบาลแต่งตั้งกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ที่เคยเป็นตำรวจและไม่เคยเป็นตำรวจ จำนวนเท่ากัน ฝ่ายละ 15 คน บางอย่างไม่ถูกใจ ถึงความต้องการการเรียกร้องของภาคประชาชน นี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้น ของการเปลี่ยนแปลงงานตำรวจ เพื่อจะมีการปฏิรูปในครั้งต่อไป

“นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้นเอง นอกจากเรื่องจำนวนคณะกรรมการแล้วยังมีข้อจำกัดในเรื่องเวลาประมาณ 9 เดือน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2560 จนถึงปัจจุบัน การศึกษาใหม่ค่อนข้างน้อยมาก อาศัยงานของคณะกรรมการในอดีต ที่ศึกษาไว้แล้ว ตั้งแต่ปี 2549 - 60 ทั้งรายงานของพล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร รายงานสภาปฏิรูปของ พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป รายงานสภาขับเคลื่อนของ สปท. และรายงานคณะกรรมการพัฒนางานยุติธรรมแห่งชาติ หรือคณะ ทำงานต่างๆของสำนักงานตำรวจเเห่งชาติ ทำงานอยู่บนพื้นฐานของการศึกษาและนำมาประมวล อะไรที่ควรจะดำเนินการต่ออะไรที่ควรจะขยายผลก็ดึงส่วนนั้นมาทำ”
police นายมนุชญ์กล่าวว่า จากข้อเสนอการกระจายอำนาจตำรวจนั้น ทำได้เพียงครึ่งเดียว ส่วนจเรตำรวจต้องดูแลเรื่องการร้องเรียนตำรวจ ต้องมีความเป็นอิสระ ส่วนกองพิสูจน์หลักฐาน ต้องมีความเป็นอิสระจากอำนาจ เราได้มาตรงนี้ แต่ข้อเสนอบางส่วนไม่ได้รับการยอมรับ เพียงแต่เป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย อย่างไรก็ตามคณะกรรมการได้เสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการอิสระเรื่องการร้องเรียนตำรวจ เพราะอดีตที่ผ่านมาถ้าใครไปมีเรื่องกับตำรวจถือว่าแย่มากเลยชีวิต ไม่ประสบความสุขแน่ ทุกคนจึงหลีกเลี่ยงไม่อยากมีเรื่องกับตำรวจ คณะกรรมการชุดนี้ไม่ใช่มีขึ้นเเค่ในบ้านเรา แต่ต่างประเทศมีคณะกรรมการอิสระในการรับเรื่องราวร้องทุกข์ แต่ระบบการร้องเรียนบ้านเราใช้ระบบผู้บังคับบัญชาสอบ ถ้าไม่ใช้เรื่องฉาวโฉ่จนออกสื่อ มันก็จบไปง่ายๆ

“พร้อมกันนั้นมีเรื่องโอนถ่ายภารกิจ ไปให้หน่วยงานที่เขารับผิดชอบจริงๆไปปฏิบัติ แต่ก็มีข้อจำกัดในเรื่องเวลา อย่างก็ตามการถ่ายโอนภารกิจการบังคับใช้กฎหมายที่มีโทษอาญา บางฉบับให้ส่วนราชการที่รับผิดชอบ ไปดูแลทั้งระบบ ทั้งการสืบสวนสอบสวนการอนุมัติขอออกหมายจับ การจับกุมการทำความเห็นสั่งฟ้องส่งอัยการ ต้องให้ไปทั้ง 11 ภารกิจ คึอ 1.ภารกิจจราจรบางประเภท 2. ภารกิจเกี่ยวกับกฎหมายศุลกากรและสรรพสามิต 3. ภารกิจเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 4.ภารกิจเกี่ยวกับเรื่องคุ้มครองผู้บริโภค 5. ภารกิจเรื่องทางหลวง ขนส่งและรถยนต์ 6. ภารกิจทางน้ำ 7.ภารกิจเกี่ยวกับการกระทำความผิดอาญาบนรถไฟ 8. ภารกิจเกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์ 9.ภารกิจเกี่ยวการท่องเที่ยว 10. ภารกิจเกี่ยวกับความผิดทางเทคโนโลยี 11. ภารกิจเกี่ยวกับบุคคลเข้าเมือง”

นายมนุชญ์กล่าวว่า ทั้ง 11 ภารกิจ ต้องไปในมิติที่เกี่ยวข้องกับส่วนราชการนั้น กลุ่มที่ 1 ทำได้ภายใน 3 ปี โดยภารกิจด้านการจราจรมอบให้กรุงเทพมหานคร หรือเทศบาลนคร ส่วนภารกิจเรื่องการปราบปรามการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรมอบให้กระทรวงการคลัง หรือกรมสรรพากรและสรรพสามิต ภารกิจด้านการป้องกันเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถ่ายโอนให้กรมป่าไม้ กรมอุทยานฯ กรมทรัพยากรทางทะเล ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภารกิจด้านการปราบปรามเรื่องคุ้มครองผู้บริโภคมอบให้ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เเละกระทรวงสาธารณสุข

นายมนุชญ์กล่าวว่า กลุ่มที่ 2 ที่ต้องดำเนินการภายในระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี คือกลุ่มที่สนใจแต่ยังไม่มีความพร้อมคือ การป้องกันการกระทำความผิดว่าด้วยทางหลวง ขนส่งและรถยนต์มอบให้ กระทรวงคมนาคม ภารกิจด้านการปราบปรามทางน้ำ มอบให้กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคมรับผิดชอบ และกลุ่มที่ 3 คือกลุ่มที่ต้องการเตรียมความพร้อมต้องใช้เวลาพอสมควร คือกลุ่มที่ตอบมาว่าไม่ค่อยพร้อมเท่าไหร่เมื่อปี 2558 คือภารกิจเรื่องละเมิดลิขสิทธิ์กรมทรัพย์สินทางปัญญา เครื่องหมายการค้า การดำเนินการปราบปรามกฎหมายท่องเที่ยวมอบให้กระทรวงการท่องเที่ยวเเละกีฬา ไปดูสิ่งที่เกี่ยวกับพระราชบัญญัติการนำเที่ยว
maxresdefault ขณะที่นายถวิล ไพรสณฑ์ อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฏร เปิดเผยว่า ตั้งแต่มองรายชื่อคณะกรรมการแล้วรับไม่ได้ เพราะส่วนใหญ่แล้วเป็นข้าราชการ ทั้งอดีตและปัจจุบัน 34 คน ดูแล้วไม่ให้ความหวัง เพราะข้าราชการเป็นคนที่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง การนำข้าราชการมาปฏิรูปข้าราชการมันเป็นไปไม่ได้ ตน ได้มีโอกาสศึกษาค้นคว้าเลือกตำรวจ ของต่างประเทศ ทุกอย่างเหมือนเดิมไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ตำรวจแต่ละท่านพูดจาเก่งมีหลักการพร้อม ไม่ให้ข้อมูลทั้งหมดที่เกิดขึ้นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ข้อผิดพลาดคือตำรวจเป็นเหล่าทัพ เเต่ตำรวจไม่ใช่เหล่าทัพ เป็นความคิดที่ผิดพลาดอย่างรุนแรง สิ่วที่สำคัญคนที่เข้ามาเรียนโรงเรียนนายร้อยสามพรานมาจากโรงเรียนเตรียมทหาร ความคิดก็ติดมา

“การเป็นพนักงานสอบสวนหลายประเทศจะเอาคนที่จบปริญญาด้านนิติศาสตร์มาอบรม 2 ปีก่อนมาเป็นตำรวจ เป็นตำรวจโดยที่ไม่มีเครื่องแบบก็ได้ และความเป็นรุ่นนั้น อันตรายมากในสถาบันตำรวจ โดยเฉพาะตำรวจมีกองบัญชาการภาคตั้งแต่กองบัญชาการ นครบาล กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 ถึงภาค 9 ตำรวจไม่ควรมีภาค น่าจะมีส่วนกลางกับพื้นที่เลย บช.ภ.ทำอะไรบ้าง ทำไมต้องใช้ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพรามณกุล รอง ผบ.ตร.ลงไปดูแลคดีในหลายพื้นที่ ผู้บัญชาการภาคไปไหน เหตุเกิดสถานที่ต่างๆ พล.ต.อ.ศรีวราห์ ลงไปมีการสั่งการในที่ประชุมว่าคดีต้องไปอย่างนี้ ตำรวจตั้งแต่ร้อยตำรวจตรีถึงนายพลมีอำนาจในการสืบสวนสอบสวนจับกุมแต่พล.ต.อ.ศรีวราห์ไปนั่งแท่นเป็นประธาน นี่หรือคือความเป็นอิสระของพนักงานสอบสวน”

นายถวิลกล่าวว่า ส่วนการการโอนภารกิจของตำรวจ ที่ไม่ใช่ภารกิจหลักของตำรวจนั้น เคยมีกฎหมาย 2 ฉบับ ตั้งแต่ปี 2545 แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีรัฐบาลไหนทำ ยกตัวอย่าง คดีหาบเร่แผงลอยค้างอยู่กับตำรวจประมาณ 2-3 หมื่นคดี ทั้งๆที่กทม.มีศักยภาพในการทำงานเทียบเท่ากระทรวง ทบวง กรม เพราะตำรวจไม่อยากทำ ไม่อยากทะเลาะกับแม่ค้า ทำไมไม่มอบให้กทม.,เทศบาลเมือง,เทศบาลนคร,เมืองพัทยารับไปทำ กรรมการชุดนี้ไม่เคยเอ่ยถึง

ส่วนกองบัญชาการภาคมีหน้าที่แค่ทำงบประมาณและผ่านการแต่งตั้งตามพ.ร.บ.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค ไม่ค่อยมีอำนาจในการบริหาร เช่นการแต่งตั้ง ก็ต้องให้ ผบ.ตร. เป็นคนเซ็นก่อนส่งไปยังกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค ที่แปลกประหลาดคือ มีศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมพิเศษทั้งหมด 10 ศูนย์ เช่น ศูนย์ปราบปรามโจรกรรมรถยนต์ ศูนย์ปราบปรามน้ำมันเถื่อน ศูนย์ปราบปรามผู้มีอิทธิพล ศูนย์ปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา แต่ละศูนย์มีพล.ต.ท.เป็นผู้อำนวยการศูนย์ เเละพล.ต.ต. เป็นรองผู้อำนวยการศูนย์ ต้องเสียกำลังไปมากเท่าไหร่ ส่วนเจ้าหน้าที่ปฏิบัติคือ การยืมตัวจากสถานีตำรวจต่างๆ มาอยู่ตรงนี้ โดยเฉพาะศูนย์ปราบปรามน้ำมันเถื่อนมีเยอะมาก มีกำลังเป็นร้อยคน คนที่ถูกยืมตัวมาประมาณ 500 คน มาอยู่ตรงนี้ ตำรวจเหล่านี้ทำไมไม่อยู่พื้นที่

“เรื่องตำรวจเกณฑ์ เมื่อมีตำรวจเกณฑ์ ประเทศไทยจะเสียหายรุนแรงที่สุด บางครั้งชาวบ้านปลอมตัวเป็นตำรวจก็มี”
15578710_1827057584236506_8671799061604758216_n นายถวิลกล่าวว่า อีกหนึ่งประเด็นคือ การแยกอำนาจสอบสวน ต้องชัดเจนมากกว่านี้ งานที่ให้ผู้กำกับการเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน จริงๆแล้วสายงานนี้ต้องมีความเป็นอิสระ และอีกสิ่งหนึ่งที่ไม่เห็นคณะกรรมการชุดนี้พูด การปฏิรูปตำรวจ ประชาชนได้ประโยชน์จากตรงไหน พูดอย่างเดียวว่าตำรวจต้องเป็นอย่างโน้น ต้องเป็นอย่างนี้ ต้องเพิ่มจำนวนเท่าไหร่ และอีกอย่างโครงสร้างตำรวจ จเรตำรวจสอบตำรวจด้วยกันรับรองเสร็จ ยิ่งในสภาพอย่างนี้ มีการเอื้อประโยชน์ในการแต่งตั้งโยกย้าย โอกาสการสอบสวนไม่เป็นไปตามความเป็นจริงมีสูงมาก

“การปฏิรูปไม่ใช่การแก้ไขกฎหมาย ตราบใดตำรวจถ้าทำแบบกองทัพไม่มีการไม่มีทางแก้ไขปัญหาได้ เพราะตำรวจเป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด สิ่งเหล่านี้คือความเป็นจริงเราไม่พูดความจริงกัน เอาคนที่ไม่รู้จริงมาแก้ปัญหาซึ่งผิดหลัก กรรมการชุดนี้ไม่ได้รู้จริงทั้งหมด ตำรวจรู้จริงแต่ปิดบังข้อมูล ปิดบังความจริง กรรมการที่มาจากบุคคลภายนอกไม่มีทางที่จะรู้จริง ต้องให้องค์กรตำรวจเป็นองค์กรที่เล็กที่สุดและกระจายอำนาจ ไปตามพื้นที่ และอยู่ในการกำกับของประชาชนในพื้นที่ไม่ใช่เอาคนข้างบนมากำกับเป็นไปไม่ได้ ตำรวจต้องปรับปรุงโครงสร้างอย่างแท้จริง”

ด้าน ผศ.ร.ต.อ.วิเชียร ตันศิริคงคล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาลัยบูรพา กล่าวว่า การปฏิรูปตำรวจเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก เป็นกระแสพร้อมกับการเรียกร้องความเป็นประชาธิปไตย และการเรียกร้องสิทธิมนุษยชน ประเทศไหนที่มีการเรียกร้องประชาธิปไตยมากเรียกร้องความเป็นสิทธิมนุษยชนความเท่าเทียมมากๆ จะต้องพูดถึงเรื่องการปฏิรูปตำรวจ 2 อย่าง จะควบคู่กันมา

เมื่อตำรวจมีอำนาจมาก ประชาชนก็จะถูกละเมิดสิทธิมาก แต่ถ้าประเทศไหนมีการคุ้มครองสิทธิมาก ตำรวจก็จะมีอำนาจค่อนข้างจำกัด ตำรวจต้องมีอำนาจพอสมควรและทำงานได้เต็มที่ ประชาชนได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญเเละเท่าที่กฎหมายกำหนด อยู่ในระบบที่เรียกว่านิติรัฐ ถ้าพูดถึงการปฏิรูปตำรวจต้องมอง 2 ฝั่งพร้อมกัน การปฏิรูปตำรวจความต้องการของประชาชนต้องเป็นหลัก การปฏิรูปตำรวจเที่ยวนี้เป็นเรื่องค่อนข้างใหญ่ เพราะ การปฏิรูปตำรวจต้นเรื่องเป็นรัฐธรรมนูญ ถือเป็นเรื่องที่ใหญ่ เพราะรัฐธรรมนูญของไทยที่ใช้มาจนถึงฉบับที่ 20 เมื่อย้อนกลับไปดูไม่มีฉบับไหนเรื่องการปฏิรูปตำรวจ ในรัฐธรรมนูญ

“มีฉบับนี้เป็นฉบับแรกตรงนี้เป็นหลักการเชิงประจักษ์ว่าเรื่องนี้ เป็นเรื่องใหญ่ อะไรที่จะเขียนในรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องใหญ่ เกี่ยวข้องกับสถาบันหลักเกี่ยวข้องกับอำนาจอธิปไตย เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิประชาชน ตำรวจเกี่ยวข้องกับการคุ้มครองหรือการให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ การปฏิรูปตำรวจจึงเกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน แสดงว่าคนที่ร่างรัฐธรรมนูญมองและว่าสิทธิของประชาชนที่ได้รับคุ้มครองจากตำรวจมันยังไม่เต็มที่ อย่างวลี “คุกมีไว้ขังคนจน” หรือ”เรื่องเล็กของคนใหญ่ เป็นเรื่องใหญ่ของตำรวจ เรื่องใหญ่ของคนเล็ก รอไว้ก่อน”สะท้อนให้เห็นหลักนิติรัฐบ้านเรายังมีปัญหา ไม่ได้เกิดปัญหาจากตัวกฎหมายแต่ปัญหาเกิดจาก ผู้บังคับใช้กฎหมาย การปฏิรูปตำรวจไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมโลกและสังคมไทย”

อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาลัยบูรพา กล่าวว่า โครงสร้างของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะมีปัญหาเมื่อมีระบบอุปถัมภ์เข้ามาเกี่ยวข้อง คนเพียงคนเดียวดูแลมนุษย์ 200,000 คน มีใครที่ไหนทำกัน การแต่งตั้งทำไมต้องเป็น ผบ.ตร เป็นคนเซ็น ถึงแม้จะอ้างว่าผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาคเซ็น แต่ทำไมต้องเอามาให้ผบตร. เป็นคนดูอีกครั้งหนึ่ง โครงสร้างของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เอื้อต่อระบบอุปถัมภ์ การแต่งตั้งที่ผ่านมาทำไมไม่ใช้ระบบอาวุโส 100% ทำไมใช้ระบบอาวุโสบางสัดส่วน ที่เหลือใช้ระบบความเหมาะสม ความเหมาะสมคืออะไร เช่น นายเวร ทำไมตำรวจทำงานให้นาย ถึงได้ดีกว่าตำรวจทำงานเพื่อประชาชน
IMG_6980 อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาลัยบูรพา กล่าวว่า การโอนถ่ายภารกิจที่ไม่ใช่ส่วนงานของตำรวจเช่นเดียวกัน ตำรวจกลับชอบไขมันส่วนเกิน เช่น วินมอเตอร์ไซค์ จากการวิจัยพบว่ามีมูลค่าถึงหนึ่งแสนล้านบาทเพราะเสื้อวินตัวนึงตัวละเป็นแสนบาท เมื่อเช็กไปเช็กมาคนที่เป็นเจ้าของเสื้อวินไม่ใช่คนขี่ แล้วเป็นใคร เช่ากันเดือนละเกือบหนึ่งหมื่นบาท ทําไมสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่ตัดไขมันส่วนเกินออกไปแต่ชอบรักษาไขมันส่วนเกิน

พ.ต.อ.วิรุฒม์ ศิริสวัสดิบุตร อดีตผู้บังคับการจเรตำรวจ เปิดเผยว่า ถ้าให้การประเมินจากคณะกรรมการการปฏิรูปตำรวจ ถ้าเอาจากหัวลำโพงไปจ.เชียงใหม่ตอนนี้ก็ถึงแค่สามเสน เพราะยังไม่เห็นมีอะไรเป็นรูปธรรม ปัญหาการปฏิรูปตำรวจที่แท้จริงอยู่ที่เรื่องของผู้มีอำนาจ ใครมีอำนาจมีความรู้ความเข้าใจพอหรือไม่ มีความจริงใจแค่ไหน มีความกล้าหาญเพียงใด บางคนมีความจริงใจอยากจะทำแต่ไม่มีอำนาจ บางคนมีอำนาจ มีความรู้ความเข้าใจแค่ไหน การปฏิรูปต้องมีหลักคิดและปรัชญาที่ถูกต้อง ไม่อย่างนั้นจะเป็นการพายเรืออยู่ในอ่าง มองเห็นตั้งแต่เริ่มการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปแล้ว คณะกรรมการคนนอกบางคนก็ไม่มีเวลา เมื่อไม่เข้าประชุม 2-3 ครั้งเสียงก็เริ่มลดลง ก็เข้าทางตำรวจ เสียงตำรวจก็เข้มแข็ง ถ้าอะไรไม่อยู่ในทิศทางของตำารวจ ตำรวจก็ไม่เอา เช่น การโอนถ่ายงานตำรวจ

“การโอนถ่านงานไม่ใช่เรื่องยาก แค่ตราพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา 6 และ พ.ร.บ. ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม เป็นพระราชกฤษฎีกาไม่ต้องเข้าสภา ถ้าโอนไปแล้วอำนาจสอบสวนก็โอนไปโดยอัตโนมัติ อย่างที่เห็น ป้าใช้ขวานทุบรถที่เขตประเวศ เกิดขึ้นเพราะการบังคับใช้กฎหมายของกทม.ไม่ได้ เทศกิจมีความพร้อมอยู่แล้ว ขาดแต่อำนาจสอบสวน เวลามีอะไรก็ไปกล่าวโทษที่สถานีตำรวจ จนมีคดีค้างค้างอยู่เกือบ 30,000 คดี เพราะไม่มีความรู้ความชำนาญและไม่มีความเร่งด่วน ทำให้การบังคับใช้กฎหมายของกทม.เป็นหมัน เดินช้าเหมือนเต่า บางคดีขาดอายุความ ไม่ใช่เรื่องยาก เพียงออกกฎกระทรวงรองรับการใช้อำนาจตรงนี้ ให้มีกฎกระทรวงในการใช้อำนาจสอบสวนอำนาจสอบสวนมีอยู่ตาม พ.ร.บ.อยู่แล้ว ทุกอย่างพร้อมขาดแต่เพียงเจ้ากระทรวง (กระทรวงมหาดไทย) ลงนามออกกฎกระทรวง ทุกวันนี้คนไม่กลัวเทศกิจ คนกลัวตำรวจ แต่ไม่กลัวกฎหมาย แต่ประเทศที่เจริญพวกเขาไม่กลัวตำรวจ พวกเขากลัวกฎหมาย แต่ประเทศไทยคนรวยๆไม่กลัวทั้งกฎหมายและไม่กลัวตำรวจ”

อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาลัยบูรพา กล่าวว่า ระบบอุปถัมภ์เเละการวิ่งเต้นการโยกย้าย แท้จริงคือการทุจริตเเละประพฤติไม่ชอบ เบื้องหลังเต็มไปด้วยเสียงบนผลประโยชน์ สลับซับซ้อนขึ้นไปทุกที ถ้ามีระบบอุปถัมภ์อยู่ตำรวจจะไม่สามารถรักษากฎหมายได้เลย เพราะแท้จริงคือการทุจริต การโอนภารกิจไม่ต้องถามว่าพร้อมหรือไม่พร้อม ถ้าสิ่งไหนเป็นเรื่องดีก็จัดการให้พวกเขา ปัญหาก็คือคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจได้ข้อมูลเท็จ การปฏิรูปตำรวจ ต้องมีบุคคลที่รู้เรื่อง ตนเคยอยู่งานจเรรับเรื่องราวร้องทุกข์ เรื่องที่ร้องเรียนเข้ามา ไม่ว่าจะผ่านทางสำนักนายกฯ ไปที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติโดยตรง ร้อยละ 90 เมื่อผลสอบออกมาล้วนไม่มีมูล เมื่อใครที่มีตัวตนร้องเรียนตำรวจ ก็จะมีตำรวจเข้าไปหาถึงตัว มีการเคลียร์กันคุยกันจนกลายเป็นเรื่องเข้าใจผิดอีก ขอเสนอว่าจเรตำรวจแห่งชาติควรไปสังกัดนายกรัฐมนตรีโดยตรง

นายมนุชญ์ กล่าวเพิ่มทิ้งท้ายว่า “ตั้งแต่เข้ามาเป็นประธานฯ รู้ว่ามีปัญหาแน่ ปัญหาเยอะ เพราะการทำงานเจอแรงเสียดทานหลายเรื่อง ข้อเสนอหลายข้อไม่ได้รับการยอมรับ แต่เมื่อมีการโหวตในที่ประชุมเราก็ยอมรับ ได้มาแค่นี้บอกตรงๆว่าเลือดสาด หลายครั้ง หลายเรื่องก็มีการฉะกันในที่ประชุม ไม่ว่าจะเป็น พล.ต.อ.หรือไม่ กว่าจะออกมาถึงตรงนี้ได้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆอย่างที่มาพูดคุยกัน พูดง่ายๆ ข้อเสนอที่ออกมาได้เหมือนฝ่าดงตีนออกมา”
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว