พลังงานหมุนเวียนในเมืองใหญ่

10 มี.ค. 2561 | 13:19 น.
ในปี 2558 เมืองใหญ่ทั่วโลกที่มีนโยบายหันมาใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานชีวมวล เพื่อตอบโจทย์ความต้องการใช้กระแสไฟฟ้านั้นมีจำนวนเพียงราวๆ 40 เมืองเท่านั้น แต่ในปัจจุบัน นับเป็นข่าวดีที่จำนวนเมืองใหญ่ทั่วโลกที่ใส่ใจในเรื่องการความมั่นคงด้านพลังงานและหันมาใช้พลังงานสะอาด ได้เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 100 เมืองแล้ว แนวโน้มดังกล่าวนี้เกิดขึ้นในหลายภูมิภาคทั่วโลกทั้งอเมริกา ยุโรป และเอเชีย ผลศึกษาของบริษัท ซีดีพี ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยและที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม ชี้ว่า มีจำนวนเมืองใหญ่มากกว่า 100 แห่งทั่วโลกที่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าถึง 70 % จากพลังงานหมุนเวียนรูปแบบต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลังงานลม แสงแดด น้ำ และเชื้อเพลิงชีวมวล

MP25-3346-2B ก้าวหน้าไปอีกขั้น คือบางเมืองนั้นสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ 100 % จากพลังงานหมุนเวียน เช่นที่เมืองเบอร์ลิงตั้น มลรัฐเวอร์มอนท์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเมืองใหญ่เมืองแรกของสหรัฐฯ ที่สามารถพึ่งพาตนเองด้านพลังงานด้วยการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 100% เมืองเบอร์ลิงตั้นมีประชากรกว่า 42,000 คน รัฐฐาลท้องถิ่นมีนโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนแทนการใช้พลังงานปิโตรเลียมหรือถ่านหินมายาวนานมากกว่า 1 ทศวรรษ แหล่งพลังงานหลักๆของเมืองนี้คือ ฟาร์มกังหันลม โรงงานไฟฟ้าชีวมวล(ที่ใช้เศษไม้จากอุตสาหกรรมไม้ซุงและโรงเลื่อยไม้) และโรงงานไฟฟ้าจากกระแสน้ำ อาจจะมีบางช่วงของปีที่ทางเมืองเบอร์ลิงตั้นอาจต้องหันไปพึ่งเชื้อเพลิงปิโตรเลียมในการผลิตกระแสไฟฟ้าบ้าง นั่นคือช่วงที่มีกระแสลมไม่มากพอ ส่วนมลรัฐเวอร์มอนท์นั้นก็มีเป้าหมายจะใช้กระแสไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนอย่างน้อย 90% ภายในปี 2050 หรืออีก 32 ปีข้างหน้า

MP25-3346-1B จากการนำของเมืองเบอร์ลิงตั้น ยังมีเมืองอื่นๆอีก 58 แห่งในสหรัฐอเมริกา ที่เข้าร่วมโครงการ #WeAreStillIn ซึ่งประกอบด้วยเมืองต่างๆที่มีแนวคิดหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตกระแสไฟฟ้าอย่างสมบูรณ์ไม่ต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงปิโตรเลียมและถ่านหินอีกต่อไป

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,346 วันที่ 8 - 10 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว