Italexit ไม่น่ากังวล แม้พรรค M5S ผู้ต่อต้าน EU ชนะการเลือกตั้งอิตาลี

06 มี.ค. 2561 | 07:01 น.
Italexit ไม่น่ากังวล แม้พรรค M5S ผู้ต่อต้าน EU ชนะการเลือกตั้งอิตาลี

Election in Italy. Male hand putting voting paper in a ballot box with italian flag on a background

Event

ผลการนับคะแนนในคืนวันเลือกตั้งที่ 4 มี.ค. (ตามเวลาอิตาลี) เผยว่าพรรค Five Star Movement (M5S) ซึ่งมีแนวคิดต่อต้านสหภาพยุโรป (EU) มีคะแนนเสียงเป็นอันดับ 1 อยู่ที่ 32% ขณะที่พรรค Democratic Party (PD) ของอดีตนายกรัฐมนตรี Matteo Renzi ผู้มีแนวคิดสนับสนุน EU ได้รับคะแนนเสียงเป็นอันดับที่ 2 ที่ 19% ทั้งนี้ เนื่องจากไม่มีพรรคการเมืองใดครองเสียงได้เกิน 40% ส่งผลให้ยังต้องมีการเจรจาเพื่อรวมกลุ่มจัดตั้งรัฐบาลร่วมในระยะต่อไป

นับตั้งแต่ช่วงหลังวิกฤตในปี 2008 จนถึงช่วงต้นปี 2017 กระแสต่อต้าน EU ในอิตาลีและความนิยมของพรรค M5S ได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัญหาในภาคธนาคารที่มีระดับหนี้เสียต่อสินเชื่อรวมสูงถึง 16% ในปี 2016 โดยอิตาลีเคยประสบปัญหาจากกฎเกณฑ์ของ EU ในประเด็นที่รัฐบาลอิตาลีต้องการนำเงินจากภาษีของประชาชนไปช่วยเหลือภาคธนาคารที่กำลังประสบปัญหา (bail out) แต่เนื่องจากกฎเกณฑ์ของ EU กำหนดให้ผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้ของธนาคารที่ประสบปัญหาต้องรับผลสูญเสียอย่างน้อย 8% ของหนี้สินของธนาคาร ก่อนที่ภาครัฐจะใช้เงินเข้าช่วยเหลือได้ (bail in) ซึ่งจะทำให้ประชาชนจำนวนหนึ่งสูญเสียเงินเป็นจำนวนมาก โดยมีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ออกมาแสดงความไม่พอใจและต้องการให้อิตาลีออกจาก EU อย่างไรก็ดี ปัญหาดังกล่าวได้คลี่คลายลงภายหลังจากที่รัฐบาลอิตาลีสามารถหาช่องทางช่วยเหลือธนาคารเหล่านั้น และช่วยระงับไม่ให้เกิดวิกฤตจากปัญหาหนี้ดังกล่าวเอาไว้ได้

Analysis

อีไอซีมองว่าการแยกตัวออกจาก EU ของอิตาลี (Italexit) ไม่เป็นความเสี่ยงที่น่ากังวลในปี 2018 แม้พรรค M5S สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ อีไอซีมองว่าการแยกตัวออกจาก EU ของอิตาลี (Italexit) ไม่เป็นความเสี่ยงที่น่ากังวลในปี 2018 แม้พรรค M5S สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ เศรษฐกิจอิตาลีที่เติบโตสอดคล้องกับประเทศอื่นๆในยูโรโซนนับตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมา สนับสนุนให้ระดับหนี้เสียต่อสินเชื่อรวมของอิตาลีลดลงจาก 16.4% ในปี 2016 สู่ระดับ 14.2% ในไตรมาส 3 ปี 2017 ทั้งนี้ เศรษฐกิจที่เติบโตดี ประกอบกับความกังวลในปัญหาหนี้เสียที่เริ่มบรรเทาลง ช่วยให้ชาวอิตาลีมีความพึงพอใจในการอยู่ร่วมกับ EU มากขึ้น สะท้อนผ่านความนิยมในเงินสกุลยูโรของชาวอิตาลีเพิ่มขึ้นโดยอยู่ที่ 45% ในปี 2017 จาก 41% ในปี 20161 และส่งผลให้การแยกตัวออกจาก EU ไม่เป็นประเด็นสำคัญที่พรรคการเมืองฝ่ายต่อต้าน EU ของอิตาลีใช้ในการหาเสียงสำหรับการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 4 มีนาคมที่ผ่านมา โดยเฉพาะ Di Maio ผู้นำคนใหม่ของพรรค M5S ที่ได้แสดงวิสัยทัศน์ว่าต้องการอยู่ใน EU ต่อไป แต่อาจมีการจัดตั้งประชามติเพื่อแก้ไขความสัมพันธ์บางประการที่ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจอิตาลี ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจอิตาลีที่เพิ่มสูงขึ้นสะท้อนผ่านส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนพันธบัตรอิตาลีและพันธบัตรเยอรมนี[2]ที่ลดลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ EU อนุมัติเงินช่วยเหลือ Monte dei Pashi ซึ่งเป็นธนาคารที่ประสบปัญหาหนี้เสียร้ายแรงที่สุดในอิตาลี (รูปที่ 1)

อย่างไรก็ดี การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ ECB ที่เร็วเกินคาด อาจทำให้ปัญหาหนี้เสียและแนวคิดต่อต้าน EU ปะทุขึ้นอีกครั้ง แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและความเสี่ยงทางการเมืองในยูโรโซนที่ลดลงสนับสนุนให้ ECB สามารถเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้เร็วขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ ECB ที่เร็วเกินคาด จะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมในอิตาลีเพิ่มขึ้นเร็วและกระทบต่อปัญหาหนี้เสียที่มีอยู่เดิมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ปัญหาหนี้เสียดังกล่าวอาจจุดประกายแนวคิดต่อต้าน EU ในอิตาลีให้กลับมาได้อีกครั้ง และอาจนำไปสู่ Italexit ในระยะต่อไป ทั้งนี้ อีไอซีคาดว่า ECB อาจสิ้นสุดมาตรการเข้าซื้อพันธบัตรได้ภายในปี 2018 และเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2019

Implication

เศรษฐกิจยูโรโซนมีแนวโน้มเติบโตได้ต่อเนื่องในปี 2018 จากความเสี่ยงทางการเมืองในอิตาลีที่ลดลง ความกังวลต่อ Italexit ที่ผ่อนคลายลงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มุมมองการเติบโตทางเศรษฐกิจยูโรโซนเพิ่มสูงขึ้น โดยอีไอซีมองว่าเศรษฐกิจยูโรโซนในปี 2018 จะเติบโตได้ราว 2.3% ต่อเนื่องจากปี 2017 ที่เติบโตราว 2.5% และจะสนับสนุนให้ความต้องการสินค้าส่งออกจากไทยไปยูโรโซนเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยไทยมีสัดส่วนในการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศดังกล่าวถึง 9% ของส่งออกทั้งหมด นำโดย เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ (รูปที่ 2)

เงินยูโรมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่องในปี 2018 จากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ  เศรษฐกิจยูโรโซนที่มีแนวโน้มเติบโตแข็งแกร่ง ด้วยความเสี่ยงทางการเมืองที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ประกอบกับทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของ ECB ที่อาจยุติมาตรการผ่อนคลายทางการเงินได้เร็วขึ้น สนับสนุนให้เงินยูโรยังมีแนวโน้มแข็งค่าได้ต่อที่ 1.28 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อยูโรในช่วงสิ้นปี 2018 จากปัจจุบันอยู่ที่ราว 1.24 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อยูโร อย่างไรก็ดี ค่าเงินบาทต่อยูโรมีแนวโน้มอ่อนค่าลงเล็กน้อย โดยอาจอยู่ที่ราว 39 บาทต่อยูโรในช่วงสิ้นปี 2018 จากปัจจุบันอยู่ที่ราว 38.7 บาทต่อยูโร เนื่องจากเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐฯมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นได้ช้ากว่าการแข็งค่าของเงินยูโรเทียบดอลลาร์สหรัฐฯ

[1] ผลสำรวจโดย Eurobarometer

[2] ส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนพันธบัตรอิตาลีและพันธบัตรเยอรมนีที่ลดลงสะท้อนว่านักลงทุนเชื่อมั่นในเศรษฐกิจอิตาลีมากขึ้นเมื่อเทียบกับเยอรมนีซึ่งเป็นประเทศที่มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งที่สุดใน EU

รูปที่1: ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจอิตาลีที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ EU อนุมัติเงินช่วยเหลือ Monte dei Pashi ซึ่งเป็นธนาคารที่ประสบปัญหาหนี้เสียร้ายแรงที่สุดในอิตาลี eic03-1 ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ Bloomberg

รูปที่2: เศรษฐกิจยูโรโซนมีแนวโน้มเติบโตได้ต่อเนื่องในปี 2018 จะสนับสนุนให้ความต้องการสินค้าส่งออกจากไทยไปยูโรโซนเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง eic03-2

ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์

โดย:พิมพ์นิภา บัวแสง

Economic Intelligence Center (EIC)

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว