สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรเดินหน้าทดลองตั๋วร่วม ใช้ทั้งโครงข่ายเดิมยันของใหม่

18 ม.ค. 2559 | 00:00 น.
สนข.เดินหน้าระบบตั๋วร่วม ยัน ก.พ.นี้พร้อมทดสอบระบบบริหารจัดการรายได้กลาง บิ๊กสนข.เผยเตรียมทดลองใช้กับระบบโครงข่ายคมนาคมเดิมทั้งบีทีเอส แอร์พอร์ตลิ้งค์และ MRT ที่เกี่ยวกับระบบเติมเงินในบัตร คาดจะเร่งใช้ผ่านทางด่วนช่องจ่ายเงินสดได้ในปีนี้ ควบคู่กับรถไฟฟ้าสายสีม่วงและทางด่วนศรีรัชที่กำหนดเปิดให้บริการปีนี้เช่นกัน

ดร.เผด็จ ประดิษฐ์เพชร ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานโครงการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้ระบบศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง (Central Clearing House หรือ CCH) ของระบบตั๋วร่วมคมนาคมดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว พร้อมนำไปทดสอบกับระบบต่างๆให้สมบูรณ์ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2559 ตามแผนต่อไป

หลังจากนี้จะเริ่มนำไปทดสอบกับระบบต่างๆที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน หรืออาจต้องมีการปรับเปลี่ยนบ้างในบางระบบ อาทิ บีทีเอส แอร์พอร์ตลิ้งค์ และ MRT เพื่อให้สามารถปรับเข้ากับระบบโครงข่ายใหญ่ได้อย่างลงตัว โดยเฉพาะระบบศูนย์บริหารจัดการรายได้กลางจะทยอยนำไปทดสอบกับระบบรถไฟฟ้า และทางด่วนว่าสามารถใช้งานได้กับระบบ CCH ได้หรือไม่ ต้องปรับปรุงอย่างไรบ้าง เพื่อให้รองรับระบบกลางได้ด้วย

“ระบบที่เปิดให้บริการในปัจจุบันยังกังวลว่าจะมีปัญหาใดเกิดขึ้นขณะนำไปทดสอบหรือไม่ แต่สามารถแก้ไขได้ อาทิ ระบบประตูทางเข้าต่างๆ ตามสถานีให้รองรับหัวอ่านได้ ส่วนระบบใหม่อย่างรถไฟฟ้าสายสีม่วง นั้นไม่มีปัญหาในการนำไปใช้งานเพราะจะติดตั้งระบบที่สนข.กำหนดขึ้นเป็นมาตรฐานกลางเข้าไปได้ทันที”

ทั้งนี้สำหรับระบบทางด่วนซึ่งเป็นระบบเดิมนั้น ยังคงเดินหน้าปรับปรุงระบบควบคู่ไปด้วยโดยเฉพาะช่องทางจ่ายเงินสด ล่าสุดการใช้งานร่วมกันของระบบอีซีพาสและเอ็มพาสก็จะสามารถใช้งานได้ในเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกสำหรับช่องอัตโนมัติ แต่สำหรับระบบตั๋วร่วมจะเน้นการนำไปใช้ในช่องการจ่ายเงินสดให้ได้รับความสะดวกมากขึ้น โดยจะติดตั้งรีดเดอร์ไว้ให้อ่านข้อมูลตามที่ต้องการต่อไป หากทำได้ดีก็จะให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) ตั้งงบประมาณดำเนินการต่อไปเพื่อให้สามารถจ่ายด้วยบัตรระบบตั๋วร่วมควบคู่ไปกับการจ่ายเงินสด ซึ่งคงต้องใช้ระยะเวลาอีกช่วงหนึ่ง

“ส่วนการจะเลิกใช้บัตรอีซีพาสและเอ็มพาสเมื่อมีระบบตั๋วร่วมแล้วนั้น ยืนยันว่ายังใช้งานได้ตลอดไป ระบบตั๋วร่วมจะเข้าไปเสริมแทนในเรื่องบัตรเติมเงินมากกว่า ไม่ได้แทนได้ทั้งระบบซึ่งระบบทางด่วนนั้นถือได้ว่าอีซีพาสและเอ็มพาสเป็นระบบที่ดีที่สุดในการใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพขณะนี้”

ทั้งนี้ภายในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2559 จะมีการเปิดตัวครั้งยิ่งใหญ่อย่างเป็นทางการสำหรับการใช้งานระบบตั๋วร่วมคมนาคมกับระบบต่างๆ ที่กำหนดไว้ในแผนงาน ทั้งระบบที่ให้บริการปัจจุบันอย่างบีทีเอส แอร์พอร์ตลิ้งค์ และMRT รวมถึงระบบที่จะเกิดขึ้นใหม่ อาทิ รถไฟฟ้าสายสีม่วง

“จะต้องมีการเข้าไปปรับระบบเดิม ให้สามารถเข้ามาใช้งานกับระบบตั๋วร่วมตามระบบมาตรฐานกลางนี้ได้ ส่วนของใหม่สามารถนำมาตรฐานกลางที่คิดขึ้นมาครั้งนี้ไปติดตั้งได้ทันที เบื้องต้นนี้อาจจะใช้งบส่วนหนึ่งเข้าไปปรับปรุงระบบเดิมให้สามารถเข้ามาสู่ระบบมาตรฐานกลางใหม่นี้ได้ จึงต้องใช้ระยะเวลาอีกช่วงหนึ่งเท่านั้น”

ทั้งนี้โครงการจัดทำระบบศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง (Central Clearing House หรือ CCH) มูลค่าโครงการ 409 ล้านบาทนั้นกลุ่ม BSV Consortium ที่จัดทำระบบตั๋วร่วมของรถไฟฟ้าบีทีเอสในปัจจุบันที่ประกอบด้วย บริษัทบางกอกแมสทรานซิท ซีสเต็ม จำกัด(มหาชน) บริษัทสมาร์ท ทราฟฟิค จำกัด และบริษัท VIX Mobility Pty จำกัด เสนอราคาต่ำสุดด้วยราคา 339 ล้านบาท จึงเป็นผู้ได้รับสิทธิ์พัฒนาระบบนี้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,123 วันที่ 17 - 20 มกราคม พ.ศ. 2559